กรุงเทพฯ--11 พ.ค.--สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ขับเคลื่อนโครงสร้างพื้นฐาน “ศูนย์การถ่ายทอดเทคโนโลยีการเพิ่มผลผลิตภาพและมูลค่าพืชไร่ชุมชน(สับปะรด) จังหวัดประจวบคีรีขันธ์” ระบุมีขนาดกำลังการคัดบรรจุสับปะรดผลสดได้ 3 ตันต่อชั่วโมง มุ่งบ่มเพาะผู้ประกอบการ เกษตรกร วิสาหกิจชุมชน ด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ชี้เป็นศูนย์ฯที่จะช่วยเสริมความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจของไทยด้านการขยายตลาดส่งออกสับปะรดผลสดและผลไม้อื่นๆ ของไทย หลังวิกฤตโควิด-19
ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ วว. กล่าวว่า ศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการคัดบรรจุสับปะรดในพื้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็น 1 ใน 7 แห่งของโครงสร้างพื้นฐาน ที่ วว. ได้รับมอบหมายให้เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการขับเคลื่อน เพื่อตอบโจทย์และแก้ไขปัญหาให้กับผู้ประกอบการ เกษตรกร และวิสาหกิจชุมชน โดยศูนย์ฯ แห่งนี้ตั้งอยู่ในพื้นที่ 5 ไร่ ซึ่งการนิคมสร้างตนเองจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ได้จัดสรรพื้นที่และมอบให้ วว. ดำเนินการ มีรูปแบบการบริหารจัดการมุ่งใช้ประโยชน์ในการเป็นศูนย์เรียนรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่ผู้ประกอบการ เกษตรกรและวิสาหกิจชุมชน ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์สับปะรดแห่งชาติ โดย วว. บูรณาการดำเนินงานศูนย์ฯแห่งนี้ร่วมกับหน่วยงานราชการและกลุ่มเกษตรกรที่มีความเข้มแข็งในพื้นที่
ศูนย์ฯ นี้มีศักยภาพในการผลิตสับปะรดผลสดส่งจำหน่ายต่างประเทศ ขนาดกำลังการผลิต 3 ตันต่อชั่วโมง เป็นโรงคัดบรรจุผลสดทันสมัยแห่งแรกของประเทศไทย ที่มีเครื่องจักรและกระบวนการผลิตมาตรฐานครบวงจร ที่สามารถใช้งานได้จริงในพื้นที่และเป็นศูนย์เรียนรู้ศึกษาดูงานของผู้ผลิตผู้ประกอบการสับปะรดจากพื้นที่อื่นๆทั่วประเทศ นอกจากนั้นยังสามารถประยุกต์ต่อยอดการใช้ประโยชน์กับการผลิตผลไม้อื่นๆในพื้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์และใกล้เคียงได้ ปัจจุบันศูนย์ฯ มีขอบเขตการบ่มเพาะเทคโนโลยีการคัดบรรจุและแปรรูปสับปะรดและผลไม้อื่นๆ ได้แก่ 1. การแบ่งเกรดและคัดบรรจุสับปะรดผลสด 2.การเคลือบผิวผลไม้ 3. การผลิตผลไม้ตัดแต่ง ได้แก่ มะม่วง ขนุน สับปะรด 4. การบริหารจัดการห้องเย็น 5. การผลิตสับปะรดกวน แยมสับปะรด น้ำสับปะรดผสมว่านหางจระเข้ มะม่วงกวน และ 6. การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อสับปะรด
“...จากภาวะวิกฤตโควิด-19 ศูนย์การถ่ายทอดเทคโนโลยีการเพิ่มผลผลิตภาพและมูลค่าพืชไร่ชุมชน(สับปะรด) จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ของ วว. ได้มีบทบาทในการช่วยแก้ปัญหาการว่างงาน โดยการเปิดรับสมัครบุคลาการจำนวนหนึ่งเพื่อเข้ามาเป็นกำลังเสริมในระยะเวลา 6 เดือน นอกจากนั้นภายหลังวิกฤตในครั้งนี้ วว. มุ่งเป้าให้ศูนย์ฯแห่งนี้มีส่วนขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้านการขยายตลาดส่งออกของสับปะรดและผลไม้อื่นๆ ด้วยศักยภาพของศูนย์ฯที่ได้มาตรฐาน GMP จะทำให้ผลผลิตที่ผ่านกระบวนการของศูนย์ฯเป็นที่ยอมรับของตลาดทั้งภายในและต่างประเทศ...” ผู้ว่าการ วว. กล่าว
ดร.รจนา ตั้งกุลบริบูรณ์ ผู้อำนวยการศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์ วว. ในฐานะผู้บริหารศูนย์ การถ่ายทอดเทคโนโลยีการเพิ่มผลผลิตภาพและมูลค่าพืชไร่ชุมชน(สับปะรด) จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ศูนย์ฯ จะเปิดให้บริการเต็มรูปแบบในปี 2563 หลังได้รับการรับรองมาตรฐาน GMP เพื่อส่งเสริมให้มีการผลิตและจำหน่ายสับปะรดผลสดที่มีคุณภาพตามมาตรฐานส่งออก นอกจากนี้ยังมีการจัดฝึกอบรมเพื่อถ่ายทอดความรู้ให้แก่เกษตรตั้งแต่การเพิ่มปริมาณสับปะรดคุณภาพด้วยเทคโนโลยีเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ การแปรรูปผลผลิตทางเกษตรอย่างต่อเนื่องเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร ผู้ประกอบการจากสถานการณ์วิกฤตโควิด-19
นอกจากนี้ภารกิจของศูนย์ฯ ยังมีบทบาทในห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมสับปะรดคือ เป็นที่ปรึกษาให้แก่เกษตรกรในระดับต้นน้ำ การสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ประกอบการขั้นปลายน้ำเกี่ยวกับมาตรฐานของผลผลิตที่จะรับซื้อจากเกษตรกร การเป็นเสมือนตัวกลางในการสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อยกระดับการวิจัยพัฒนาและโครงสร้างพื้นฐานทางการเกษตรและเทคโนโลยีการเกษตรในพื้นที่เพาะปลูกสับปะรด โดยผลที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในระยะยาว คือ การทำให้เกษตรกรผู้ปลูกสับปะรดมีความสามารถในการพัฒนาคุณภาพผลผลิต มีอำนาจต่อรองกับพ่อค้าคนกลางและมีรายได้เพิ่มขึ้น รวมทั้งผลผลิตสดมีการส่งออกไปยังต่างประเทศได้ต่อเนื่อง ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการ เกษตรกร และวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่และพื้นที่ใกล้เคียงมีความเข้มแข็งยิ่งขึ้น