กรุงเทพฯ--11 พ.ค.--กรุงเทพมหานคร
นายณรงค์ เรืองศรี ผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ กทม. กล่าวกรณีกรมอุตุนิยมวิทยา ออกประกาศเตือนหลายจังหวัด รวมถึงกรุงเทพฯ ระวังพายุฤดูร้อนในช่วงวันที่ 10 - 13 พ.ค. 63 ว่า กทม. โดยศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วม สำนักการระบายน้ำ ได้จัดเจ้าหน้าที่ติดตามสภาพอากาศจากเรดาร์ตรวจอากาศ ตลอด 24 ชั่วโมง รวมถึงเตรียมความพร้อมระบบระบายน้ำของ กทม. เพื่อรองรับสถานการณ์ฝนจากพายุฤดูร้อน โดยลดระดับน้ำในคลอง บ่อสูบ และแก้มลิงให้อยู่ในระดับต่ำ สำรวจและติดตั้งเครื่องสูบน้ำชั่วคราวตามพื้นที่จุดเสี่ยงและจุดเฝ้าระวังน้ำท่วม เร่งสูบน้ำในท่อและคลองด้วยเครื่องสูบน้ำแบบเคลื่อนที่ จัดหน่วย BEST ลงพื้นที่ตรวจสอบระบบระบายน้ำ จัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม รื้อถอนสิ่งกีดขวางทางระบายน้ำ และประสานการไฟฟ้านครหลวงกรณีฉุกเฉินหรือไฟฟ้าดับ อีกทั้งประสานหน่วยงานภายนอกที่มีโครงการก่อสร้างในพื้นที่กรุงเทพฯ และยังมีสิ่งกีดขวางทางน้ำ ขอให้คืนพื้นที่ เพื่อใช้เป็นทางระบายน้ำ ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนที่จะเกิดขึ้นกับประชาชน นอกจากนี้ ศูนย์ปฏิบัติการฯ ยังแจ้งให้ประชาชนได้ทราบถึงสถานการณ์ฝนตกหรือจุดที่มีปัญหาน้ำท่วม ผ่านช่องทางต่าง ๆ ได้แก่ Website http:// dds.bangkok.go.th Facebook : http://www.facebook.com/bkk.best Twitter : http://twitter.com/bkk_best/bkk best ศูนย์ป้องกันน้ำท่วม กทม. Line ID : @bkk_best และแอปพลิเคชัน กทม. Connect
นายไทวุฒิ ขันแก้ว ผู้อำนวยการสำนักการโยธา กทม. กล่าวว่า สำนักการโยธา ได้แจ้งเจ้าของป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ให้ตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงและความปลอดภัยในการใช้ป้ายเป็นประจำ หากป้ายถูกกฎหมาย แต่มีสภาพเก่าชำรุด อันอาจก่อให้เกิดภยันตราย ต้องมีคำสั่งให้เจ้าของป้ายดำเนินการแก้ไขหรือให้รื้อถอน รวมทั้งดำเนินคดีกับป้ายที่ฝ่าฝืนกฎหมายอย่างเคร่งครัด ขณะเดียวกัน ป้ายที่ได้ดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จเกินหนึ่งปี เจ้าของป้ายต้องจัดให้มีผู้ตรวจสอบตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 นอกจากนั้น ยังได้ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนผู้อยู่อาศัยในบริเวณใกล้เคียงกับป้ายทราบถึงอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากป้ายล้มในช่วงที่มีพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง ตลอดจนจัดเตรียมเครื่องมือกลไว้ เพื่อป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยที่เกิดจากป้ายอีกด้วย
นายชาตรี วัฒนเขจร ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม กทม. กล่าวว่า ในส่วนของสำนักสิ่งแวดล้อม และสำนักงานเขต 50 เขต ได้สำรวจ ตรวจสอบ และดูแลบำรุงรักษาต้นไม้ใหญ่ให้อยู่ในสภาพแข็งแรง มีทรงพุ่มที่สมดุล ตัดแต่งกิ่งที่เป็นโรค สางโปร่ง เพื่อลดแรงปะทะลมและฝน ตัดลดความสูงลงตามความเหมาะสม ตรวจสอบวัสดุค้ำยันให้อยู่ในสภาพสมบูรณ์ แข็งแรง มีความมั่นคง สามารถพยุงค้ำยันต้นไม้ใหญ่ได้ อีกทั้งได้ติดตามข้อมูลข่าวสารจากกรมอุตุนิยมวิทยา และเตรียมเครื่องมือ อุปกรณ์ ยานพาหนะ และเจ้าหน้าที่ให้พร้อมปฏิบัติงานกรณีเกิดเหตุต้นไม้หักโค่นล้มได้ทันที