กรุงเทพฯ--12 พ.ค.--ปตท.
บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ร่วมกับ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ลงนามข้อตกลงความร่วมมือศึกษา ในโครงการ LNG Receiving Facilities รองรับการนำเข้าก๊าซ LNG ในพื้นที่ภาคใต้ ตามแผน PDP2018 เสริมความมั่นคงทางพลังงานไทย
วันนี้ (12 พ.ค. 63) นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) พร้อมด้วย นายวิบูลย์ ฤกษ์ศิระทัย ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) สองรัฐวิสาหกิจหลักของประเทศที่มีพันธกิจในการสร้างความมั่นคงทางพลังงาน ร่วมลงนามในบันทึกความร่วมมือศึกษาโอกาสการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) หรือ LNG Receiving Facilities สำหรับ รับ เก็บ และแปรสภาพก๊าซ LNG ในพื้นที่ภาคใต้ เพื่อสนับสนุนนโยบายและยุทธศาสตร์ของรัฐบาลและกระทรวงพลังงาน
นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ตามแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP 2018) ฉบับใหม่นั้น ได้มีการบรรจุโรงไฟฟ้าภาคใต้ซึ่งใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงหลัก ปตท. และ กฟผ. จึงเริ่มการศึกษาร่วมกัน ถึงความเป็นไปได้ของโครงการ LNG Receiving Facilities เพื่อให้มีความพร้อมสำหรับจัดส่งก๊าซธรรมชาติให้กับโรงไฟฟ้าของ กฟผ. และสำหรับความร่วมมือในวันนี้ นับเป็นโอกาสอันดีที่ทั้งสองหน่วยงานจะได้ใช้ศักยภาพ ความเชี่ยวชาญตลอดจนประสบการณ์ ทั้งด้านการจัดหาและบริหารจัดการพลังงาน รวมทั้งด้านการจัดหา ผลิต และส่งจ่ายกระแสไฟฟ้า มาร่วมกันพัฒนาความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ
นายวิบูลย์ ฤกษ์ศิระทัย ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การลงนามข้อตกลงในวันนี้ นับเป็นก้าวสำคัญในการยกระดับความร่วมมือของทั้งสององค์กร เพื่อให้ประชาชนเกิดความมั่นใจว่าความมั่นคงทางพลังงานของประเทศจะได้รับการดูแลเป็นอย่างดี ในส่วนของโรงไฟฟ้า ในพื้นที่ภาคใต้ของประเทศไทยตามแผนดังกล่าว ประกอบด้วย โรงไฟฟ้าขนอม (จังหวัดนครศรีธรรมราช)บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด(มหาชน) กำลังผลิต 930 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าสุราษฎร์ธานี ชุดที่ 1 - 2 กำลังผลิต 1,400 เมกะวัตต์ (จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบ หรือ Commercial Operation Date : COD ในปี 2570 และ 2572) และ โรงไฟฟ้าใหม่ (COD ในปี 2578) กำลังผลิต 700 เมกะวัตต์ กฟผ. และ ปตท. จึงร่วมกันศึกษาโครงการ LNG Receiving Facilities เพื่อเป็นการรองรับการนำเข้า LNG และเพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงานไฟฟ้าของประเทศในอนาคต