กรุงเทพฯ--13 พ.ค.--กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน
กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กำหนดมาตรการบรรเทาปัญหาการเลิกจ้าง พร้อมเสนอแนะให้นายจ้างนำไปพิจารณาแก้ไขปัญหาร่วมกันกับลูกจ้างโดยใช้หลักแรงงานสัมพันธ์ ในการเจรจาก่อนการเปลี่ยนแปลง สภาพการจ้าง สภาพการทำงานในภาวะวิกฤติของสถานการณ์ผลกระทบจากไวรัสโควิด-19
นายอภิญญา สุจริตตานันท์ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เปิดเผยว่า ในอดีตเมื่อปี 2540 ประเทศไทยได้เกิดวิกฤติเศรษฐกิจตกต่ำ นำมาซึ่งการเลิกจ้าง การปิดกิจการของสถานประกอบกิจการเป็นจำนวนมาก ซึ่งกรมได้ออกมาตรการมารองรับปัญหาดังกล่าว เพื่อเป็นการบรรเทาปัญหาการเลิกจ้างในขณะนั้น ปัจจุบันเมื่อเกิดผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 จึงได้นำมาเป็นแนวทางเสนอแนะให้สถานประกอบกิจการ นายจ้าง ลูกจ้างได้ปฏิบัติร่วมกัน โดยใช้หลักแรงงานสัมพันธ์ เพื่อให้เกิดการเจรจาก่อนจะเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้าง สภาพการทำงาน โดยมีแนวทาง 3 ด้านหลัก ๆ คือ 1) มาตรการลดค่าใช้จ่ายด้านการบริหาร ได้แก่ นโยบายประหยัดพลังงาน การลดค่าใช้จ่ายด้านการบริหาร รวมทั้งลดต้นทุนต่าง ๆ เท่าที่จำเป็น และ มาตรการลดค่าใช้จ่ายทางด้านแรงงาน โดยต้องเลือกมาตรการที่มีผลกระทบต่อลูกจ้างน้อยที่สุดมาใช้ก่อน อาทิ ลดหรือยกเลิกการทำงานล่วงเวลา ลดค่าใช้จ่ายในส่วนที่เป็นสวัสดิการที่เป็นประโยชน์ต่อลูกจ้างน้อยที่สุด 2) มาตรการปรับปรุงการบริหารงานบุคคลให้เหมาะสมกับสถานการณ์ เช่น มีการปรับเปลี่ยนโยกย้ายหน้าที่ของลูกจ้างเพื่อวางแผนกำลังคนให้เหมาะสมกับกำลังการผลิต 3) มาตรการชะลอการเลิกจ้าง หากมีการดำเนินการทั้งสองมาตรการข้างต้นแล้วยังมีผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อการประกอบกิจการของนายจ้าง จนทำให้ไม่สามารถประกอบกิจการได้ตามปกติจนอาจทำให้ต้องหยุดกิจการบางส่วนหรือทั้งหมดเป็นการชั่วคราว ให้มีการจัดลำดับความสำคัญของแผนก หรือจำนวนลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจากการหยุดหรือปิดกิจการโดยยึดหลักความเป็นธรรมแก่ทั้งสองฝ่าย ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้าง สภาพการทำงานตามมาตรการข้างต้น ต้องได้รับความยินยอมจากลูกจ้าง และขอให้การเจรจาตั้งอยู่บนพื้นฐานของหลักสุจริตใจ โดยการเปลี่ยนแปลงนั้นต้องไม่ละเมิดสิทธิของลูกจ้าง และต้องไม่น้อยกว่ามาตรฐานขั้นต่ำตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541
อธิบดี กสร. กล่าวเพิ่มเติมว่า หากสถานประกอบกิจการใดต้องการคำแนะนำ หรือขอคำปรึกษาถึง แนวทางการดำเนินการตามมาตรการบรรเทาการเลิกจ้างเพิ่มเติม สามารถติดต่อได้ที่ สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานที่สถานประกอบกิจการตั้งอยู่ทั่วประเทศ