กรุงเทพฯ--14 พ.ค.--กรุงเทพมหานคร
นางศิลปสวย ระวีแสงสูรย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า จากรายงานของกรมอุตุนิยมวิทยา ในช่วงเดือนนี้ประเทศไทยจะเข้าฤดูฝนอย่างเป็นทางการ โดยจะมีพายุฝนฟ้าคะนองในหลายพื้นที่ และอาจส่งผลทำให้เกิดน้ำขังในภาชนะต่าง ๆ ซึ่งเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย จึงขอเตือนประชาชนระมัดระวังป้องกันตนเองไม่ให้ยุงกัดเพราะอาจเสี่ยงป่วยด้วยโรคไข้เลือดออก และควรช่วยกันกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย สำหรับสถานการณ์ของโรคไข้เลือดออก ในส่วนของโรงพยาบาลในสังกัดกรุงเทพมหานคร ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. - 20 เม.ย. 63 พบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกแล้ว 1,295 ราย กลุ่มอายุที่พบมากที่สุด 3 อันดับ คือ อายุระหว่าง 25-59 ปี 446 ราย อายุระหว่าง 15-24 ปี 347 ราย และอายุระหว่าง 10-14 ปี 195 ราย ทั้งนี้ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย สำนักการแพทย์ สำนักอนามัย และสำนักงานเขตพื้นที่ เร่งรณรงค์ควบคุมป้องกันการแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออกในชุมชนต่าง ๆ ตลอดจนให้ประชาชนร่วมเฝ้าระวัง ป้องกัน และกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายบริเวณที่พักอาศัยของตนเองตามมาตรการต่าง ๆ อาทิ มาตรการดูแลสุขภาพด้วยตนเอง ได้แก่ การหลีกเลี่ยงไปในสถานที่แออัด มาตรการดูแลสุขอนามัยและความสะอาดภายในบ้านเรือนของตนเองให้เป็นระเบียบเรียบร้อย เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งหลบซ่อนของยุง เก็บขยะ สำรวจภาชนะต่าง ๆ ไม่ให้มีน้ำขัง รวมถึงชุมชน โดยรอบพื้นที่โรงพยาบาลเช่นเดียวกัน เพื่อตัดวงจรการแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออก พร้อมแนะนำให้สวมใส่หน้ากากผ้า หน้ากากอนามัย เพื่อเป็นการดูแลเบื้องต้น นอกจากนี้ สำนักการแพทย์ได้ดำเนินการตรวจคัดกรองเบื้องต้น ณ โรงพยาบาลสังกัดกรุงเทพมหานคร เพื่อแยกประเภทของกลุ่มโรคตามอาการและเตรียมความพร้อมระบบเฝ้าระวังและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออก เพื่อลดความรุนแรงของการเจ็บป่วยของโรค ซึ่งอาจนำไปสู่การเสียชีวิตได้ ทั้งนี้ หากประชาชนมีอาการป่วย เช่น มีไข้ ไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ หายใจเหนื่อยหอบ เบื่ออาหาร ปวดท้อง ซึ่งอาจมีลักษณะคล้ายกันหลายโรค ทั้งไข้หวัดใหญ่ ไข้เลือดออก และโรคโควิด-19 จึงขอให้ประชาชนใส่หน้ากากอนามัย รับประทานยาลดไข้ 1-2 วัน ถ้าอาการไม่ดีขึ้นให้รีบไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน เพื่อรับการวินิจฉัยโรคและรับการรักษาต่อไป สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ Hotline 1646 สายด่วนสุขภาพสำนักการแพทย์ กทม.
ในส่วนของสำนักอนามัยได้ประสานความร่วมมือกับสำนักงานเขตพื้นที่ในการรณรงค์ควบคุมป้องกันการแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออกในชุมชนต่าง ๆ ตลอดจนให้ประชาชนร่วมเฝ้าระวัง ป้องกัน และกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายบริเวณที่พักอาศัยของตนเอง และจัดกิจกรรมการบูรณาการแบบผสมผสานในการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายในทุกเขตทุกชุมชน รวมทั้งได้เตรียมความพร้อมด้านการแพทย์และสาธารณสุข เพื่อรองรับการแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออก โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์โควิด-19 เนื่องจากทั้งสองโรคมีอาการป่วยในช่วงต้นคล้ายคลึงกัน หากพบผู้ป่วยอาการรุนแรงสามารถตรวจหาเชื้อในสถานพยาบาลของกรุงเทพมหานครได้ทันที