กรุงเทพฯ--14 พ.ค.--สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ
หลังสิ้นสุดฤดูแล้ง กอนช.บูรณาการหน่วยงานด้านน้ำพร้อมรับมือฤดูฝน คาดเดือนพ.ค.-มิ.ย.จะเกิดพายุฤดูร้อน น้ำไหลเข้าอ่างฯกว่า 4,000 ล้าน ลบ.ม. เพียงพอใช้หากเกิดภาวะฝนทิ้งช่วง พร้อมเตรียมวางแผนรับมือน้ำหลาก น้ำท่วม ดินถล่ม คาดปีนี้น้ำจะมากกว่าปีที่ผ่านมา และวางมาตรการช่วยผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ย้ายเข้าสู่ภาคการเกษตร
ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เปิดเผยว่า การบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้งปี 2562/63 ที่เพิ่งสิ้นสุดไปเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2563 สามารถดำเนินงานเป็นไปตามแผนที่วางไว้ ยกเว้นลุ่มเจ้าพระยาที่ต้องมีการจัดสรรน้ำจากลุ่มน้ำแม่กลองมาช่วยเหลือมากกว่าแผน 300 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) อย่างไรก็ตามคาดว่าหลังจากสิ้นฤดูฝนปีนี้ แหล่งน้ำสำคัญในพื้นที่ภาคกลางจะมีน้ำมากกว่าปี 2562 โดยช่วงต้นฤดูฝนในเดือนพฤษภาคมและมิถุนายน 2563 ประเทศไทยจะได้รับอิทธิพลจากพายุฤดูร้อน โดยมีการประเมินว่าจะมีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำในช่วง 2 เดือนนี้ อีกประมาณ 4,000 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งน้ำจำนวนนี้จะทำการสำรองไว้เพื่อการอุปโภคบริโภค ในช่วงฝนทิ้งช่วงต่อไป
สำหรับเกษตรกรสามารถเริ่มเตรียมแปลงข้าวนาปีได้ในช่วงกลางเดือนพฤษภาคม ซึ่งกรมอุตุนิยมวิทยาประกาศเข้าสู่ฤดูฝนปีนี้ ระหว่างวันที่ 18-21 พฤษภาคม 2563 และจะเกิดภาวะฝนจะทิ้งช่วงประมาณปลายมิถุนายนต่อกรกฎาคม 2563 ซึ่งได้วางแผนให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกักเก็บน้ำในช่วงต้นฤดูฝนไว้ให้มากที่สุด เพื่อให้มีปริมาณน้ำเพียงพอที่จะใช้ในช่วงดังกล่าว อย่างไรก็ตามคาดว่าจะไม่กระทบต่อภาคการเกษตรมากนัก เนื่องจากข้าวนาปรังได้มีการเก็บเกี่ยวทั้งหมดแล้ว ส่วนข้าวนาปีความชื้นสัมพัทธ์ที่ยังคงมีในดินและอากาศ ข้าวจะไม่ขาดแคลนน้ำ และฝนจะเริ่มตกอีกครั้งประมาณในเดือนสิงหาคม และเดือนกันยายนจะมีพายุเข้า อาจจะเกิดน้ำท่วมฉับพลัน โดยมีพื้นที่ ๆ ต้องเฝ้าระวังคือ จังหวัดจันทบุรี ตราด เชียงใหม่ เชียงราย นครพนม อุบลราชธานี และบางส่วนของภาคกลาง ในส่วนพื้นที่ภาคใต้ที่ต้องเฝ้าระวังในช่วง 1-2 เดือนนี้ คือ จังหวัดระนอง ชุมพร พังงา และสุราษฎร์ธานี
"กอนช. ได้จัดเตรียมมาตรการรองรับสถานการณ์ฤดูฝน ปี 2563 โดยจัดทำแผนที่พื้นที่เสี่ยง คาดการณ์น้ำหลาก น้ำท่วม ดินถล่มแจกจ่ายให้แต่ละจังหวัดทราบ เพื่อเตรียมการรับมือล่วงหน้า มีการพิจารณาปรับแผนเพาะปลูกในพื้นที่ลุ่มต่ำ จัดทำเกณฑ์ระบายน้ำจากอ่างเก็บน้ำ/เขื่อน ให้หน่วยงานตรวจสอบสภาพอาคารชลศาสตร์ ระบบระบายน้ำ สถานีโทรมาตรให้เสร็จสมบูรณ์ก่อนเข้าหน้าฝน กำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำมิให้เป็นอุปสรรคต่อการไหล เร่งขุดลอกคูคลอง กำจัดวัชพืชทางน้ำ เตรียมพร้อมเครื่องจักรเครื่องมือพร้อมเข้าช่วยเหลือพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยซ้ำซาก และประชาสัมพันธ์ไปยังเครือข่ายกรรมการลุ่มน้ำ รวมถึงคณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัดให้สร้างการรับรู้ต่อประชาชนในเรื่องหลักเกณฑ์การแจ้งเตือนภัยอย่างตรงกัน” เลขาธิการ สทนช. กล่าว
เลขาธิการ สทนช. กล่าวด้วยว่า สำหรับในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) 3 จังหวัด คือ ชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา ขณะนี้เริ่มมีน้ำไหลเข้าแล้วไม่น้อยกว่า 5 ล้าน ลบ.ม. ผนวกกับการเจรจาขอซื้อน้ำจืดจากบ่อเอกชน ทำให้สถานการณ์ภัยแล้งในช่วงนี้เริ่มคลี่คลาย และจะมีน้ำเพียงพอกับความต้องการไปตลอดจนเข้าสู่ฤดูฝนอย่างแน่นอน ส่วนการแก้ปัญหาระยะยาวนั้น คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกได้มีการประชุมหารือร่วมกันเพื่อขยับโครงการพัฒนาแหล่งน้ำภาคตะวันออก จำนวน 11-13 โครงการ ให้ดำเนินการเร็วขึ้น เช่น โครงการอ่างเก็บน้ำวังโตนด โครงการผันน้ำอ่างเก็บน้ำประแกด (ลุ่มน้ำวังโตนด) มายังอ่างเก็บน้ำประแสร์ เป็นต้น เพื่อสร้างความมั่นใจด้านน้ำทั้งภาคเกษตรและภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่ EEC
“ส่วนสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือ โควิด-19 นั้น ได้ส่งผลทำให้แรงงานคืนถิ่นมากขึ้น จึงมีการเตรียมพร้อมแหล่งน้ำพื้นฐานเพื่อให้เพียงพอต่อการทำการเกษตรเบื้องต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงต้นฤดูฝนไว้แล้ว รวมถึงมีการจัดสรรงบประมาณจำนวน 8,000 ล้านบาท เพื่อให้หน่วยงานที่รับผิดชอบจ้างแรงงานคืนถิ่นเหล่านี้ เพื่อสร้างรายได้ ลดผลกระทบที่เกิดขึ้น และไม่เป็นการซ้ำเติมความเดือดร้อนของประชาชน” เลขาธิการ สทนช. กล่าวในตอนท้าย