สหกรณ์การเกษตรลำพระเพลิง จำกัด สหกรณ์ดีเด่นแห่งชาติ ปี 63 หนุนสมาชิกยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง ปลูกผัก – ผลไม้ปลอดสารสร้างรายได้มั่นคง

ข่าวทั่วไป Thursday May 14, 2020 10:25 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--14 พ.ค.--กรมส่งเสริมสหกรณ์ สหกรณ์การเกษตรลำพระเพลิง จำกัด ตั้งอยู่ในอำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งได้รับคัดเลือกเป็นสหกรณ์ดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2563 นับเป็นรางวัลอันน่าภาคภูมิใจของคณะกรรมการ ฝ่ายจัดการ และสมาชิกสหกรณ์ ที่ได้ร่วมกันฝ่าฟันปัญหาอุปสรรคและช่วยกันพัฒนาสหกรณ์จนมีความเจริญก้าวหน้าจวบจนถึงปัจจุบัน ผลักดันให้สหกรณ์แห่งนี้ ได้เดินทางมาถึงวันแห่งความสำเร็จได้ในที่สุด หากย้อนกลับไปในวันแรกตั้งของสหกรณ์เมื่อ 28 มีนาคม พ.ศ.2520 มีสมาชิกเริ่มแรกเพียง 194 คน ปัจจุบัน ได้ขยายเพิ่มเป็น 2,075 คน ส่วนใหญ่เป็นชาวบ้านในพื้นที่ มีอาชีพทำนาทำไร่ และเกษตรผสมผสาน สหกรณ์จึงมุ่งดำเนินงานโดยคำนึงถึงการดูแลส่งเสริมทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมให้กับสมาชิกและคนในชุมชน ซึ่งธุรกิจของสหกรณ์ มี 4 ธุรกิจหลัก ได้แก่ การให้สินเชื่อ จัดหาสินค้ามาจำหน่าย การรวบรวมผลผลิตและการรับฝากเงิน นางสาวสุมาลี ทองธีระ ผู้จัดการสหกรณ์การเกษตรลำพระเพลิง จำกัด เปิดเผยว่า ในอดีตสหกรณ์การเกษตร ลำพระเพลิง จำกัด เคยประสบปัญหาการดำเนินธุรกิจจนประสบภาวะขาดทุนเกือบต้องยุบเลิกสหกรณ์ แต่ด้วยความอดทนและร่วมมือร่วมใจกันของคณะกรรมการ ฝ่ายจัดการ และสมาชิก นำความผิดพลาดและล้มเหลวมาเป็นบทเรียน ทำให้มี แรงฮึดสู้อีกครั้ง จนสหกรณ์สามารถเดินหน้าต่อไปได้ พร้อมทั้งน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นแนวทางในการบริหารงาน สร้างการมีส่วนร่วมโดยเปิดโอกาสให้สมาชิกเข้ามาดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ กับสหกรณ์มากขึ้น ทำให้สหกรณ์สามารถพลิกฟื้นสถานการณ์ พัฒนาองค์กรให้ก้าวหน้าและสามารถสร้างผลกำไรมาจนถึงปัจจุบัน แม้จะเป็นสหกรณ์เล็ก ๆ แต่ธุรกิจก็ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง เติบโตเฉลี่ยปีละ 15 – 20 % ซึ่งการขยายธุรกิจของสหกรณ์จำเป็นต้องใช้เงินทุน แต่ที่นี่จะไม่พึ่งพาเงินกู้จากแหล่งทุนภายนอก แต่จะใช้การระดมทุนของสหกรณ์เอง ด้วยการส่งเสริมการออมเงินและการถือหุ้นของสมาชิก เช่นเดียวกับแนวทางส่งเสริมอาชีพทำการเกษตรให้กับสมาชิก ฯ นำหลักทฤษฎีใหม่ ที่เน้นการปลูกพืชผสมผสานและริเริ่มโครงการส่งเสริมการเกษตรอินทรีย์อย่างยั่งยืน เพื่อลด ละ เลิกการใช้สารเคมีที่ทำลายสุขภาพทั้งคนและดิน และสามารถลดค่าใช้จ่าย และเพิ่มรายได้ในการทำการเกษตรมาแนะนำถ่ายทอดสู่สมาชิกได้ทดลองทำตาม จนเกษตรกรมีรายได้และมีความเป็นอยู่ที่มั่นคง สมาชิกของสหกรณ์การเกษตรลำพระเพลิง จำกัด จะมีรายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือนประมาณ 25,000 – 30,000 บาท/เดือน หรือประมาณ 300,000 – 360,000 บาท/ครัวเรือน/ปี จากปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่สหกรณ์ ฯ และเกษตรกรสมาชิกนำมาเป็นแนวทางการดำเนินชีวิตและประกอบอาชีพ เมื่อเกิดวิกฤตทางเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมา หรือแม้กระทั่งผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการแพร่ระบาดของโรคไวรัสโควิด – 19 ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของสหกรณ์และตัวสมาชิกมากนัก สังเกตได้จากเงินที่สมาชิกกู้ยืมจากสหกรณ์ ยังสามารถส่งชำระคืนได้ตามปกติ ไม่มีหนี้ค้าง ส่วนเรื่องอาหารการกินของแต่ละครัวเรือนก็ยังมีความอุดมสมบูรณ์ เพราะแต่ละครัวเรือน นอกจากการปลูกข้าวเป็นหลักแล้ว ผลผลิตส่วนหนึ่งจะเก็บไว้บริโภค ที่เหลือจึงจะนำไปขาย ขณะเดียวกันสมาชิกส่วนใหญ่จะปลูกพืชผักสวนครัว เลี้ยงปลา เลี้ยงไก่ ไว้บริโภคในครัวเรือน ผลผลิตที่มีจึงเพียงพอสำหรับการบริโภคโดยไม่เดือดร้อน ส่วนที่เหลือก็นำไปขายให้กับคนในชุมชน เพื่อเป็นรายได้เสริมของครอบครัว นอกจากนี้สหกรณ์ ฯ ยังได้ส่งเสริมให้เกษตรกรสมาชิกปลูกพืชผักปลอดสารเคมีและปลูกข้าวไรซ์เบอร์รี่จำหน่ายเป็นรายได้เสริมโดยสหกรณ์จะช่วยหาตลาดให้ ขณะนี้สมาชิกที่เข้ามาร่วมโครงการประมาณ 100 ราย พื้นที่ทำการเกษตรของสมาชิกประมาณ 10 % ผ่านการรับรองมาตรฐาน GAP ขณะนี้สหกรณ์ฯ กำลังผลักดันให้ยกระดับเป็นพื้นที่ปลูกพืชผักอินทรีย์ โดยได้รับการสนับสนุนโรงเรือนปลูกผักจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และการสนับสนุนทั้งในด้านวิชาการ การลดต้นทุน การพัฒนาผลผลิต และการตลาดจากมหาวิทยาลัยสุรนารี สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) โดยเกษตรกรที่ร่วมโครงการส่วนใหญ่จะปลูกพืชผักสวนครัว บางส่วนก็เป็นผลไม้ ส่วนเรื่องการหาช่องทางจำหน่าย บางส่วนเกษตรกรจะเก็บผลผลิตและนำไปขายเองที่ตลาด เพราะพืชผักของสหกรณ์ฯ ได้รับการยอมรับจากผู้บริโภคในพื้นที่อำเภอปักธงชัย ว่าสดสะอาดปลอดภัย และยังมีผลผลิตบางส่วนที่เกษตรกรรวบรวมและนำมาวางขายที่ “ร้านต้นข้าวต้นน้ำลำพระเพลิง” ซึ่งสหกรณ์เปิดดำเนินการเป็นตลาดเกษตรกร หรือ Farmer Market จำหน่าย ผัก - สมุนไพร พื้นบ้าน ผลไม้ในพื้นที่และตามฤดูกาล อาหารแปรรูป และอาหารเพื่อสุขภาพ เพื่อให้คนในพื้นที่โดยรอบสหกรณ์ได้มีโอกาสเข้ามาเลือกซื้อผลผลิตและสินค้าที่มีคุณภาพของสหกรณ์ได้สะดวกยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันทางสหกรณ์ได้เริ่มเจาะไปที่กลุ่มผู้บริโภคตลาดบน โดยนำผลผลิต เช่น ฝรั่งกิมจู ส้มโอ ละมุด ไปวางจำหน่ายที่ตลาดจริงใจ ภายในซูเปอร์มาเก็ตของห้างเซ็นทรัล จ.นครราชสีมา ส่วนข้าวไรซ์เบอร์รี่ส่งไปจำหน่ายที่ห้างแมคโครและร้านเลมอนฟาร์ม ปัจจุบันยอดขายของพืชผักปลอดสารตกประมาณเดือนละ 50,000 – 60,000 บาท ซึ่งช่วยให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นประมาณเดือนละ 6,000 – 13,000 บาท สหกรณ์ฯ ได้วางแผนขยายจำนวนผู้ผลิตผักปลอดสารเคมีเพิ่ม 200 ราย คาดว่าประมาณปลายปี 2563 จะได้ตามเป้าหมาย ถึงตอนนั้นสหกรณ์ฯ จะเริ่มทำแผนการตลาดและแผนการผลิต อย่างจริงจัง โดยจะใช้ Farmer Market ของสหกรณ์การเกษตรลำพระเพลิง จำกัด เป็นจุดรวบรวมผลผลิต และคัดบรรจุ เพื่อส่งไปจำหน่ายตามสถานที่ต่าง ๆ เช่น ห้างเซ็นทรัล สหกรณ์ร้านค้าในเครือข่ายโรงพยาบาลมหาราชในจังหวัดนครราชสีมา หรือการเจาะตลาดเข้าไปที่โรงเรียนนานาชาติ ฯลฯ ซึ่งมีส่วนช่วยในการเสริมรายได้และสร้างความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นให้แก่เกษตรกรสมาชิก นางวารี ขวัญเกตุ สมาชิกสหกรณ์การเกษตรลำพระเพลิง จำกัด กล่าวว่า ตนมีพื้นที่เพาะปลูกประมาณ 23 ไร่ พื้นที่เกือบ 20 ไร่ ใช้ปลูกข้าวเจ้าพันธุ์พิษณุโลก 80 และ กข. 49 โดยผลผลิตส่วนหนึ่งจะเก็บไว้สำหรับบริโภคในครัวเรือน ผลผลิตอีกส่วนหนึ่งจะส่งขายให้โรงสี เนื่องจากพื้นที่อยู่ในเขตชลประทานจึงสามารถทำนาได้ปีละ 2 ครั้ง ในรอบ 1 ปี มีรายได้จากการขายข้าว 200,000 บาท นอกจากนี้ยังกันพื้นที่ไว้ 4 ไร่ สำหรับปลูกข้าวไรซ์เบอร์รี่ ที่สหกรณ์การเกษตรลำพระเพลิง จำกัด เข้ามาส่งเสริมและสนับสนุนการผลิตตั้งแต่เริ่มเพาะปลูก เช่น นำรถมาช่วยดำนาและเก็บเกี่ยว หลังจากตากข้าวแล้ว จึงรวบรวมและขนไปขายให้สหกรณ์ ซึ่งในปีหนึ่งจะปลูกข้าวไรซ์เบอร์รี่ได้ไม่เกิน 1 ครั้ง เพราะหากปลูกติดต่อกันผลผลิตที่ได้ในรอบที่สองเมล็ดข้าวจะเล็กลง รายได้เสริมจากการขายข้าวไรซ์เบอร์รี่ ปีละประมาณ 30,000 บาท นอกจากนี้ยังมีการปลูกพืชผักสวนครัวเพื่อไว้บริโภคในครัวเรือน เหลือจากการบริโภคจะนำออกไปขายที่ตลาด แต่ก็ไม่มาก สำหรับผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากการระบาดของไวรัสโคโรน่า (โควิด – 19) นางวารีบอกว่า ที่บ้านมีของกินเกือบทุกอย่าง แทบไม่ต้องไปซื้อจากข้างนอก จึงไม่รู้สึกว่าได้รับผลกระทบอะไรในเรื่องอาหารการกิน ส่วนเรื่องรายได้จากการขายข้าวก็ไม่ได้กระทบกระเทือนอะไร นายอ่าง เทียมสำโรง สมาชิกสหกรณ์ที่ยึดอาชีพการทำเกษตรผสมผสาน ได้พูดถึงสหกรณ์ว่า นอกเหนือจากการปลูกข้าวตามฤดูกาลปกติแล้ว ทางสหกรณ์ยังได้เข้ามาส่งเสริมตนให้ปลูกข้าวไรซ์เบอร์รี่ประมาณ 3 ไร่ ได้ผลผลิตประมาณ 700-800 กิโลกรัม/ไร่ โดยสหกรณ์ฯ จะรับซื้อผลผลิตทั้งหมดในราคากิโลกรัมละประมาณ 18-20 บาท หนึ่งรอบการผลิตจะมีรายได้ประมาณ 37,800 – 48,000 บาท นอกจากนี้ยังปลูกผักปลอดสารพิษอีกประมาณ 2 ไร่ โดยจะปลูกพืชแทบทุกชนิด หมุนเวียนกันไป เช่น ต้นหอม กระเทียม ผักกวางตุ้ง คะน้า พริก กะเพรา โหระพา ฯลฯ นอกจากนี้ยังปลูกละมุดไว้อีกประมาณ 2 ไร่ สำหรับผลผลิตที่ได้ บางวันแม่บ้านจะนำไปขายเองที่สหกรณ์ฯ หรือไม่ก็ฝากร้านค้าของสหกรณ์ฯ ขายให้ บางครั้งก็นำไปขายที่ตลาดในจังหวัดนครราชสีมา รายได้จากการขายผักแต่ละวันไม่น้อยกว่า 300 – 400 บาท เดือนหนึ่งมีรายได้รวมประมาณเกือบ 20,000 บาท สำหรับผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากการระบาดของไวรัสโคโรน่า (โควิด – 19) นายอ่างบอกว่าไม่มีผลกระทบอะไร เพราะที่บ้านมีกินมีใช้เกือบหมดแล้ว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ