กรุงเทพฯ--14 พ.ค.--ฟิทช์ เรทติ้งส์
ฟิทช์ เรทติ้งส์ ประกาศปรับแนวโน้มอันดับเครดิตของอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว (Long-Term Foreign Currency Issuer Default Rating) และอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว ของ ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) หรือ TMB เป็น “แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ” จากเดิม “แนวโน้มอันดับเครดิตเป็นบวก” และคงอันดับเครดิตดังกล่าวที่ 'BBB-’ และ 'AA-(tha)’ ตามลำดับ พร้อมกันนี้ฟิทช์ได้ปรับลดอันดับเครดิตภายในประเทศของหุ้นกู้ด้อยสิทธิของธนาคารเป็น 'A(tha)’ จาก 'A+(tha)’ สำหรับรายละเอียดของอันดับเครดิตทั้งหมดแสดงไว้ในส่วนท้าย
การปรับแนวโน้มอันดับเครดิตของ TMB สะท้อนถึงความท้าทายของสภาพแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจและผลกระทบที่รุนแรงต่อเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของโคโรน่าไวรัสที่กระจายไปในวงกว้าง โดยผลกระทบดังกล่าวได้เพิ่มแรงกดดันต่อเศรษฐกิจของประเทศไทยที่กำลังชะลอตัว แม้ว่าทางการจะมีมาตรการผ่อนปรนในด้านการจัดชั้นสินเชื่อและการปรับโครงสร้างหนี้ซึ่งอาจช่วยชะลอผลกระทบต่อคุณภาพสินทรัพย์ได้บ้าง แต่มาตรการเหล่านี้ไม่น่าจะหักล้างความเสี่ยงที่เกิดขึ้นได้ทั้งหมด โดยเฉพาะในกลุ่มลูกหนี้ที่มีฐานะทางการงินที่อ่อนแอหรือเป็นกลุ่มที่มีความเปราะบาง สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมในการดำเนินงานของธนาคารไทยสามารถดูได้จาก “Coronavirus Outbreak Increases Challenges for Thai Banks’ Operating Environment” ลงวันที่ 2 เมษายน 2563 ที่ https://www.fitchratings.com/site/pr/10116671
แม้ระยะเวลาและแนวโน้มความรุนแรงของสถานการณ์การแพร่ระบาดของโคโรน่าไวรัสยังมีความไม่แน่นอน แต่อย่างไรก็ตามอัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญในด้านคุณภาพสินทรัพย์และด้านรายได้และผลกำไรในช่วง 18-24 เดือนข้างหน้าน่าจะปรับตัวลดลงไปต่ำกว่าระดับที่ฟิทช์เคยคาดการณ์ไว้ก่อนหน้าอย่างมีนัยสำคัญ
ปัจจัยสนับสนุนอันดับเครดิต
อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศ อันดับเครดิตภายในประเทศ และอันดับเครดิตของหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ
อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศ อันเครดิตภายในประเทศและอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิของ TMB มีปัจจัยสนับสนุนมาจากความแข็งแกร่งทางการเงินของตัวธนาคารเอง ซึ่งสะท้อนได้จากอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของธนาคาร (หรือ Viability Rating) นอกจากนี้อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวของธนาคารที่ 'BBB-’ ปัจจุบันอยู่ในระดับเดียวกันกับอันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำ (Support Rating Floor) ซึ่งหมายความว่าอันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำอาจเปลี่ยนมาเป็นปัจจัยสนันสนุนหลักของ อันดับเครดิตสากล อันดับเครดิตภายในประเทศและอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิของธนาคารได้ ในกรณีที่อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินถูกปรับลดอันดับลงและฟิทช์ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงมุมมองต่อความสามารถและโอกาสที่รัฐบาลจะให้การสนับสนุนเป็นพิเศษ (extraordinary support) แก่ TMB
อันดับเครดิตภายในประเทศของ TMB ยังพิจารณาถึงความแข็งแกร่งด้านเครดิตของธนาคารเทียบกับธนาคารหรือบริษัทอื่นที่ได้รับการจัดอันดับเครดิตภายในประเทศ
อันดับเครดิตของหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิอยู่ในระดับเดียวกันกับอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวของธนาคาร เนื่องจากหุ้นกู้ดังกล่าวมีสถานะเป็นภาระผูกพันที่ไม่ด้อยสิทธิและไม่มีหลักประกันของธนาคาร
อันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน
อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของ TMB สะท้อนถึงโครงสร้างธุรกิจของธนาคาร (company profile) ที่ปรับตัวแข็งแกร่งขึ้นหลังจากการควบรวมกิจการกับธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน) แต่อย่างไรก็ตามฟิทช์เชื่อว่าความท้าทายที่เพิ่มขึ้นของสภาพแวดล้อมในการดำเนินงานจะเป็นอุปสรรคในการที่ความแข็งแกร่งทางการเงินของ TMB จะปรับตัวดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในระยะสั้นถึงระยะปานกลาง โดยการคาดการณ์ดังกล่าวนี้ตรงกันข้ามกับการคาดการณ์เดิมของฟิทช์ก่อนที่สภาพแวดล้อมในการดำเนินงานจะปรับตัวแย่ลงจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโคโรน่าไวรัส นอกจากนี้ความเสี่ยงจากการดำเนินการควบรวมกิจการ (execution risk) อาจปรับเพิ่มสูงขึ้นอีกได้ เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่อ่อนแอและแรงกดดันที่เพิ่มขึ้นในด้านคุณภาพสินทรัพย์และในด้านผลกำไร
ตามการคาดการณ์กรณีฐานของฟิทช์คุณภาพสินทรัพย์และผลประกอบการของ TMB จะได้รับผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญในช่วง 2 ปีข้างหน้า โดยอัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญของธนาคารจะปรับตัวอ่อนแอลงเมื่อเทียบกับอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินที่ 'bbb-’ ดังนั้นปัจจัยด้านคุณภาพสินทรัพย์ที่ 'bbb-’ จึงมีแนวโน้มเป็นลบ นอกจากระดับค่าใช้จ่ายการสำรองหนี้สูญ (credit cost) ที่อาจเพิ่มขึ้นแล้ว รายได้ของธนาคารก็อาจจะปรับตัวลดลงจากภาวะอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำรวมถึงปริมาณธุรกิจที่จะปรับตัวลดลง ซึ่งเป็นผลให้ฟิทช์ปรับลดปัจจัยด้านรายได้และผลกำไรลง 1 ระดับเป็น 'bb+’ จาก 'bbb-’ และยังคงคาดว่าจะมีความเสี่ยงต่อเนื่องจากค่าใช้จ่ายสำรองหนี้สูญและการจัดการสินเชื่อที่ด้อยคุณภาพ ฟิทช์คาดว่าอัตราส่วนเงินกองทุนที่เป็นส่วนของเจ้าของผู้ถือหุ้น (Common Equity Tier 1 ratio หรือ CET1) ที่ 13.6% ณ สิ้นปี 2562 น่าจะช่วยรองรับความเสี่ยงได้ระดับหนึ่ง (ซึ่งแผนการจ่ายเงินปันผลเป็นหุ้นและแผนการลดขนาดสินเชื่อของธนาคารน่าจะช่วยหนุนฐานะเงินกองทุนด้วย) แต่อย่างไรก็ตามฐานะเงินกองทุนของธนาคารยังคงถูกกดดันจากความเสี่ยงด้านคุณภาพสินทรัพย์และด้านผลกำไร ในส่วนของความเสี่ยงในด้านการระดมเงินและสภาพคล่องของ TMB นั้นน่าจะถูกบรรเทาลงจากการที่ธนาคารมีฐานเงินฝากที่มีขนาดขึ้นใหญ่และมีการกระจายตัวที่ดีขึ้นหลังจากการควบรวมกิจการ อีกทั้งธนาคารยังไม่มีความจำเป็นในระยะสั้นมากนักที่จะต้องระดมเงินในสกุลเงินต่างประเทศ
อันดับเครดิตสนับสนุน (Support Rating) และ อันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำ
อันดับเครดิตสนับสนุนและอันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำของ TMB พิจารณาจากการที่ธนาคารมีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจและการเงินของประเทศเพิ่มขึ้นหลังจากการควบรวมกิจการกับ ธนาคารธนชาต ปัจจุบัน TMB เป็นธนาคารที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 6 ในประเทศไทย โดยมีส่วนแบ่งทางการตลาดในด้านเงินฝากที่ประมาณ 10% ณ สิ้นปี 2562 ในขณะที่ธนาคารไทยอื่นที่มีขนาดใหญ่กว่ามีส่วนแบ่งทางการตลาดในด้านเงินฝากที่ 11% ถึง 17% ทั้งนี้ฟิทช์เชื่อว่ามีความเป็นไปได้สูงที่รัฐบาลจะให้การสนับสนุนช่วยเหลือเป็นพิเศษแก่ TMB ในกรณีที่มีความจำเป็น
หุ้นกู้ด้อยสิทธิ
อันดับเครดิตของหุ้นกู้ด้อยสิทธิสกุลเงินบาทที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 ตามเกณฑ์บาเซล 3 ของ TMB ปัจจุบันอยู่ต่ำกว่าอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของธนาคาร (ซึ่งมีปัจจัยสนับสนุนมาจากความแข็งแกร่งทางการเงินของตัวธนาคารเอง) และเป็นอันดับเครดิตอ้างอิงของหุ้นกู้ด้อยสิทธิอยู่ 2 อันดับ ซึ่งสอดคล้องกับกรณีพื้นฐานตามเกณฑ์การจัดอันดับเครดิตฉบับปรับปรุงใหม่ของฟิทช์ เนื่องจากหุ้นกู้ดังกล่าวมีโอกาสที่จะได้รับชำระหนี้คืน (recovery rate) ในอัตราที่ต่ำกว่าเมื่อเทียบกับหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิไม่มีหลักประกัน สำหรับเหตุการณ์ที่จะทำให้เกิดผลการดำเนินงานที่ไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ (non-viability trigger) คือเมื่อธนาคารกลางหรือทางการตัดสินใจเข้าให้การช่วยเหลือทางการเงินแก่ธนาคาร หุ้นกู้ด้อยสิทธิดังกล่าวไม่ได้ถูกปรับลดอันดับเพิ่มเติมเพื่อสะท้อนถึงความเสี่ยงที่ผู้ถือหุ้นกู้จะไม่ได้รับผลตอบแทนตามที่คาดการณ์ (non-performance risk) เนื่องจากไม่มีคุณสมบัติรองรับผลขาดทุนระหว่างการดำเนินกิจการ (going-concern loss absorption) เช่น สิทธิในการยกเว้นหรือการเลื่อนจ่ายดอกเบี้ย
ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต
อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศ อันดับเครดิตภายในประเทศ และอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ
ปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบเชิงบวกหรือส่งผลให้เกิดการปรับเพิ่มอันดับเครดิต (ปัจจัยเดียวหรือหลายปัจจัยรวมกัน)
การปรับเพิ่มอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินหรืออันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำ (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้จากด้านล่าง) อาจส่งผลให้อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศ อันดับเครดิตภายในประเทศ และอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิของธนาคารได้รับการปรับเพิ่มอันดับเช่นกัน
การเปลี่ยนมุมมองของฟิทช์ต่อโครงสร้างเครดิตของ TMB เมื่อเทียบธนาคารหรือบริษัทอื่นที่ได้รับการจัดอันดับเครดิตภายในประเทศอาจส่งผลกระทบต่ออันดับเครดิตภายในประเทศของ TMB แต่อย่างไรก็ตามการปรับเพิ่มอันดับเครดิตไม่น่าจะเกิดขึ้นในระยะสั้นเนื่องจากสภาพแวดล้อมในการดำเนินงานที่กำลังเผชิญความท้าทาย
ปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบเชิงลบหรือส่งผลให้เกิดการปรับลดอันดับเครดิต (ปัจจัยเดียวหรือหลายปัจจัยรวมกัน)
การปรับลดอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินและอันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำจะส่งผลให้อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศ อันดับเครดิตภายในประเทศ และอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิของธนาคารถูกปรับลดอันดับลงเช่นกัน
อันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน
ปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบเชิงบวกหรือส่งผลให้เกิดการปรับเพิ่มอันดับเครดิต (ปัจจัยเดียวหรือหลายปัจจัยรวมกัน)
อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินอาจถูกปรับเพิ่มอันดับ หากฟิทช์เห็นสัญญาณที่บ่งชี้ว่าเครือข่ายธุรกิจในประเทศของ TMB ปรับตัวแข็งแกร่งขึ้นและมีโครงสร้างธุรกิจที่ดีขึ้น และปัจจัยดังกล่าวส่งผลให้ความแข็งแกร่งทางการเงินโดยรวมของธนาคารปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องมาอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับธนาคารในประเทศรายอื่นที่มีอันดับเครดิตสูงกว่า แต่อย่างไรก็ตามเหตุการณ์ดังกล่าวไม่น่าเกิดขึ้นในระยะสั้น เนื่องจากสภาพแวดล้อมในการดำเนินงานและอัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญโดยเฉพาะในด้านคุณภาพสินทรัพย์และด้านรายได้ที่กำลังเผชิญกับแรงกดดันอย่างมากในช่วง 2 ปี ข้างหน้า
ปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบเชิงลบหรือส่งผลให้เกิดการปรับลดอันดับเครดิต (ปัจจัยเดียวหรือหลายปัจจัยรวมกัน)
อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินอาจถูกปรับลดอันดับ หากอัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญของ TMB ปรับตัวแย่ลงกว่าที่คาดการณ์ภายใต้สภาวะแวดล้อมในการดำเนินงานที่อ่อนแอลงจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโคโรน่าไวรัส ตัวอย่างเช่น การปรับตัวเพิ่มขึ้นของอัตราส่วนสินเชื่อที่ด้อยคุณภาพต่อสินเชื่อรวมที่มากกว่า 6% (2.7% ณ สิ้นปี 2562) และอัตราส่วนสำรองหนี้สูญต่อสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ที่ต่ำกว่า 100% (120% ณ สิ้นปี 2562) และการปรับตัวลดลงของอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานต่อสินทรัพย์เสี่ยงที่ต่ำกว่า 1% ในช่วง 2 ปีข้างหน้าหรือมากกว่า (0.7% ในปี 2562) นอกจากนี้การที่ธนาคารไม่สามารถรักษาระดับเงินกองทุนให้อยู่ในระดับเพียงพอกับความเสี่ยงที่เพี่มขึ้น ซึ่งอาจบ่งชี้ได้จากอัตราส่วนเงินกองทุน CET1 ที่ต่ำกว่า 13% อาจส่งผลกระทบเชิงลบต่ออันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน
อันดับเครดิตสนับสนุน (Support Rating) และ อันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำ
ปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบเชิงบวกหรือส่งผลให้เกิดการปรับเพิ่มอันดับเครดิต (ปัจจัยเดียวหรือหลายปัจจัยรวมกัน)
อันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำอาจได้รับการปรับเพิ่มอันดับ หากฟิทช์ประเมินแล้วเห็นว่ารัฐบาลมีความสามารถหรือโอกาสที่จะให้การสนับสนุนแก่ TMB ในระดับที่สูงขึ้น ตัวอย่างเช่น การปรับเพิ่มอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว ของประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ BBB+/แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ อาจบ่งชี้ได้ว่ารัฐบาลมีความสามารถมากขึ้นที่จะ
ให้การสนับสนุนแก่ธนาคารที่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจและการเงินในประเทศ (ซึ่งรวมถึง TMB) แต่การพิจารณาอันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำต้องคำนึงถึงการที่โอกาสที่รัฐบาลจะให้การสนับสนุนแก่ธนาคารด้วย
อันดับเครดิตสนับสนุนจะไม่เปลี่ยนแปลง เว้นแต่อันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำถูกปรับเปลี่ยนไปอยู่ในช่วงอันดับเครดิตอื่น
ปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบเชิงลบหรือส่งผลให้เกิดการปรับลดอันดับเครดิต (ปัจจัยเดียวหรือหลายปัจจัยรวมกัน)
ฟิทช์อาจปรับลดอันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำและอันดับเครดิตสนับสนุนของ TMB หากรัฐบาลมีความสามารถที่จะให้การสนับสนุนแก่ธนาคารลดลง เหตุการณ์ดังกล่าวอาจเกิดได้จากการปรับลดอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวของประเทศไทย นอกจากนี้อาจมีผลกระทบในเชิงลบต่ออันดับเครดิตดังกล่าวได้หากมีสัญญาณที่บ่งชี้ว่า TMB มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจและการเงินของประเทศในระดับที่ลดลงหรือหากมีการออกกฎเกณฑ์การแก้ไขปัญหาสถาบันการเงิน (resolution legislation) ที่ทำให้แนวโน้มที่รัฐบาลจะให้การสนับสนุนแก่ธนาคารนั้นมีโอกาสเกิดขึ้นได้น้อยลงกว่าที่ฟิทช์คาดการณ์ในปัจจุบัน
หุ้นกู้ด้อยสิทธิ
ปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบเชิงบวกหรือส่งผลให้เกิดการปรับเพิ่มอันดับเครดิต (ปัจจัยเดียวหรือหลายปัจจัยรวมกัน)
การปรับเพิ่มอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของธนาคาร เนื่องจากสถานะทางเงินที่ปรับตัวดีขึ้น จะส่งผลให้อันดับเครดิตของหุ้นกู้ด้อยสิทธิสกุลเงินบาทได้รับการปรับเพิ่มอันดับเช่นกัน
ปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบเชิงลบหรือส่งผลให้เกิดการปรับลดอันดับเครดิต (ปัจจัยเดียวหรือหลายปัจจัยรวมกัน)
การปรับลดอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินลงมาที่ต่ำกว่า 'bbb-’ ซึ่งจะต่ำกว่าอันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำ จะส่งผลให้อันดับเครดิตภายในประเทศของอันดับเครดิตอ้างอิงลดลงและส่งผลให้อันดับเครดิตภายในประเทศของหุ้นกู้ด้อยสิทธิถูกปรับลดอันดับ
การพิจารณาปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG)
หากไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดเพิ่มเติมในส่วนนี้ แสดงว่าธนาคารมีระดับคะแนนความสัมพันธ์ของ ESG ต่ออันดับเครดิต ไม่เกินระดับ 3 ซึ่งหมายความว่าปัจจัยด้าน ESG จะไม่ส่งผลกระทบหรืออาจมีผลกระทบในระดับที่น้อยมากต่ออันดับเครดิตของธนาคาร ไม่ว่าจะด้วยปัจจัยจากลักษณะของธุรกิจหรือจากการบริหารจัดการของธนาคารก็ตาม
ข้อมูลเพิ่มเติมสามารถหาได้จาก ESG Relevance Scores, visit www.fitchratings.com/esg
รายละเอียดของอันดับเครดิตทั้งหมดมีดังต่อไปนี้:
อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวคงอันดับที่ 'BBB-’; ปรับเป็น แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ จาก แนวโน้มอันดับเครดิตเป็นบวกอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะสั้นคงอันดับที่ 'F3’อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินคงอันดับที่ 'bbb-’อันดับเครดิตสนับสนุนคงอันดับที่ '2’อันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำคงอันดับที่ 'BBB-’อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวคงอันดับที่ 'AA-(tha)’; ปรับเป็น แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ จาก แนวโน้มอันดับเครดิตเป็นบวกอันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นคงอันดับที่ 'F1+(tha)’อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวของหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันคงอันดับที่ 'BBB-’อันดับเครดิตภายในประเทศของหุ้นกู้ด้อยสิทธิ ปรับลดอันดับเครดิตเป็น 'A(tha)’ จาก 'A+(tha)’