กรุงเทพฯ--15 พ.ค.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์
รู้เร็วรักษาไว วิศวะฯ ธรรมศาสตร์ พัฒนาโปรแกรม “ผู้ช่วยแพทย์คัดกรองต้อหิน” ลดเสี่ยงตาบอดสนิท! การันตีเหรียญเงิน เวทีประกวดระดับโลก
คณะวิศวะ #วิศวกรรมศาสตร์ #วิศวะมธ #คัดกรองต้อหิน #ลดเสี่ยงตาบอด #TSE #เป็นมากกว่าวิศวกร #JCCOTH
คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (TSE) เผยนวัตกรรม “ผู้ช่วยแพทย์คัดกรองต้อหิน” ช่วยจักษุแพทย์คัดกรองผู้ป่วยและวินิจฉัยตั้งแต่ระยะแรกเร็วขึ้น หนุนลดข้อจำกัดการคัดกรองของจักษุแพทย์ในการวินิจฉัยโรคต้อหิน ด้วยการนำภาพขั้วประสาทตาของที่ผู้ป่วยได้รับจากโรงพยาบาล สแกนเข้าโปรแกรมเพื่อตรวจหาความผิดปกติด้วย Image processing พร้อมประมวลผลและค้นหาการเปลี่ยนแปลงของขั้วประสาทตาในบางตำแหน่ง ที่จักษุแพทย์อาจจะเห็นได้ไม่ชัดเจน เล็งผลักดันคนไทยตระหนักรู้-เข้ารับการรักษาเร็ว ป้องกันต้อหินกระทบการมองเห็นรุนแรง ทั้งนี้ โปรแกรมดังกล่าว ผ่านการทดสอบความแม่นยำกับจักษุแพทย์เฉพาะทางด้านต้อหินแล้วในเบื้องต้น เชื่อว่าหลังพัฒนาต่อจะสามารถนำไปใช้ได้จริง
ติดตามข่าวสารและความเคลื่อนไหวกิจกรรมของ TSE ได้ที่ www.facebook.com/ENGR.THAMMASAT และ www.engr.tu.ac.th
รองศาสตราจารย์ ดร.นพพร ลีปรีชานนท์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้าและคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (TSE) ผู้พัฒนาและคิดค้น “ผู้ช่วยแพทย์คัดกรองต้อหิน” กล่าวว่า “ต้อหิน” หรือโรคความเสื่อมขั้วประสาทตาที่ทำให้ค่อย ๆ สูญเสียการมองเห็น ถือเป็นหนึ่งในปัญหาสุขภาพคนไทย เนื่องจากในระยะแรกของโรคนั้น ผู้ป่วยมักไม่มีอาการผิดปกติที่จะสังเกตได้ จึงทำให้อาการลุกลามและรุนแรงขึ้นถึงขั้นตาบอดสนิท อีกทั้งยังไม่สามารถรักษาให้หายเป็นปกติ ทำได้เพียงควบคุมอาการภายใต้การดูแลของจักษุแพทย์เท่านั้น นอกจากนี้ ประเทศไทย ยังประสบภาวะขาดแคลนจักษุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านต้อหิน ที่โดยส่วนใหญ่จะสังกัดอยู่ในโรงพยาบาลของรัฐและเอกชน แม้เครื่องมือที่ช่วยในการวินิจฉัยและเฝ้าสังเกตการเปลี่ยนแปลงจะทันสมัยและมีมากขึ้น แต่ก็ยังมีข้อจำกัดว่ามีอยู่เฉพาะโรงพยาบาลใหญ่ ๆ เท่านั้น
ทั้งนี้ เพื่อให้คนไทยสามารถเข้าถึงขั้นตอนวินิจฉัยได้อย่างรวดเร็วขึ้นอีกทางหนึ่ง โดยใช้ภาพของขั้วประสาทตาที่มีอยู่ในโรงพยาบาล ทีมวิจัยและคณะ จึงได้ร่วมพัฒนานวัตกรรม “ผู้ช่วยแพทย์คัดกรองต้อหิน” โปรแกรมที่ช่วยให้จักษุแพทย์ สามารถสังเกตความผิดปกติของขั้วประสาทตาที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม โดยนำภาพถ่ายขั้วประสาทตาในอดีต และปัจจุบัน มาทำการสแกนเพื่อตรวจหาความเปลี่ยนแปลงด้วยเทคนิค Image processing จากนั้นโปรแกรมจะทำการประมวลผล พร้อมแสดงค่าความผิดปกติให้เด่นชัดขึ้นมา จึงทำให้จักษุแพทย์สังเกตเห็นได้ง่ายขึ้นและสามารถวิเคราะห์ได้ว่า ผู้เข้ารับการวินิจฉัยเป็นเริ่มต้อหินหรือไม่ หรือในกรณีที่เป็นและได้รับการรักษาอยู่แล้ว ก็จะช่วยติดตามการเปลี่ยนแปลงของขั้วประสาทตาได้
โดยที่ผ่านมา การติดตามการเปลี่ยนแปลงจากภาพถ่ายขั้วประสาทตาของผู้ป่วย ต้องอาศัยทักษะความชำนาญและเวลาเป็นอย่างมาก เพราะการเปลี่ยนแปลงของขั้วประสาทตามักจะเกิดขึ้นอย่างช้า ๆ และไม่เป็นที่สังเกตได้ชัดในระยะแรก ดังนั้น ในทางปฏิบัติจริงจะค่อนข้างยุ่งยากสำหรับแพทย์ แต่โปรแกรมนี้จะเป็นเหมือนผู้ช่วยที่จะทำให้จักษุแพทย์ได้สังเกตเห็นความผิดปกติได้รวดเร็วขึ้น
สำหรับนวัตกรรมดังกล่าว ได้ผ่านการทดสอบความแม่นยำเบื้องต้นแล้ว ด้วยการนำภาพตัวอย่างขั้วประสาทตาของผู้ป่วยจริง มาทำการทดลองและวินิจฉัยเคียงคู่กับจักษุแพทย์เฉพาะทางด้านต้อหิน พบว่า สามารถช่วยสังเกตความผิดปกติในบางตำแหน่ง ที่แม้ผู้เป็นจักษุแพทย์อาจสังเกตเห็นได้ยากจากภาพถ่ายปกติ โดยในอนาคตหลังจากพัฒนาให้ใช้งานได้ง่ายขึ้นแล้ว เตรียมเปิดให้โรงพยาบาลในกำกับของรัฐ เอกชน ตลอดจนหน่วยงานทางการแพทย์เฉพาะทาง ใช้ฟรี เพื่อลดข้อจำกัดของการคัดกรอง และลดความเสี่ยงของการเกิดต้อหินขั้นรุนแรงกับผู้ป่วย/ผู้มีแนวโน้มในอนาคต โดยพร้อมจัดอบรมการใช้โปรแกรมก่อนรักษาจริง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นพพร กล่าวสรุป
ทั้งนี้ โปรแกรมผู้ช่วยแพทย์คัดกรองต้อหิน หรือ “โปรแกรมช่วยแพทย์ในการตรวจหาการเปลี่ยนแปลงในการดำเนินโรคของผู้ป่วยต่อหิน” (Medical Assistant’s Program as an Aid to Detect Glaucoma Progression) ได้รับรางวัล Silver Medal จากการประกวดนวัตกรรมนานาชาติ ครั้งที่ 47 ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส ที่ผ่านมา โดยผู้สนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นพพร ลีปรีชานนท์ โทรศัพท์ 081-627-3024
ติดตามข่าวสารและความเคลื่อนไหวกิจกรรมของ TSE ได้ที่ www.facebook.com/ENGR.THAMMASAT และ www.engr.tu.ac.th