บีโอไอผนึกแบงก์รัฐ แจงมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการบรรเทาผลกระทบโควิด-19

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday May 19, 2020 13:47 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--19 พ.ค.--124 คอมมิวนิเคชั่นส คอนซัลติ้ง บีโอไอ ผนึก 2 ธนาคารรัฐจัดสัมมนาออนไลน์ “ทางออก SMEs ไทย ฝ่าวิกฤติโควิด-19” เพิ่มโอกาสการเข้าถึงมาตรการช่วยเหลือ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 นางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจอย่างมาก โดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ซึ่งเป็นผู้ประกอบการส่วนใหญ่ของประเทศ และเป็นกิจการที่บีโอไอให้ความสำคัญและส่งเสริมมาโดยตลอด โดยกว่าร้อยละ 60 ของโครงการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนในแต่ละปีเป็นธุรกิจ SMEs ในโอกาสนี้เพื่อเป็นการส่งเสริม และสนับสนุนให้ผู้ประกอบการ SMEs เข้าถึงมาตรการช่วยเหลือต่างๆ ทั้งในส่วนของบีโอไอและสถาบันการเงินที่เกี่ยวข้อง จึงได้จัดสัมมนาออนไลน์ (Webinar) เรื่อง “ทางออก SMEs ไทย ภายใต้วิกฤตโควิด-19” ในวันพฤหัสบดีที่ 28 พฤษภาคม 2563 เวลา 13.30 - 15.00 น. โดยจะมีการบรรยายเกี่ยวกับมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการทั้งในส่วนของบีโอไอ และการสนับสนุนด้านสินเชื่อของธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย และมาตรการช่วยเหลือ SMEs ของธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย คาดว่าจะมีผู้ร่วมการสัมมนา จำนวน 200 คน ซึ่งสามารถลงทะเบียนผ่านลิงก์เสวนาออนไลน์ได้ที่ https://www.eventpassinsight.co/mobile/registration/create/tbiw1 ทั้งนี้ ตามมาตรการส่งเสริมการลงทุนวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมหรือ SMEs ไทย บีโอไอได้มีมาตรการให้สิทธิประโยชน์และผ่อนปรนเงื่อนไขเป็นพิเศษต่างจากกิจการทั่วไป ตั้งแต่วงเงินลงทุนขั้นต่ำสำหรับโครงการที่จะมาขอรับการส่งเสริมการลงทุน เพียง 500,000 บาท (ไม่รวมค่าที่ดินและเงินทุนหมุนเวียน) การเพิ่มวงเงินยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 2 เท่าจากเกณฑ์ปกติทั่วไป สำหรับกลุ่มกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 - 8 ปี (กลุ่ม A) รวมทั้งอนุญาตให้นำเครื่องจักรใช้แล้วในประเทศมาใช้ในโครงการได้ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีมาตรการผ่อนปรนเงื่อนไขสำหรับกิจการบางประเภท เพื่อเปิดโอกาสให้ SMEs สามารถเข้าถึงสิทธิประโยชน์ของบีโอไอได้ง่ายขึ้น รวมทั้งให้สิทธิประโยชน์เพิ่มเติมแก่กิจการ SMEs กรณีมีที่ตั้งในเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน 10 จังหวัด ผู้ประกอบการที่เข้าข่ายเป็น SMEs ตามมาตรการนี้ ต้องมีรายได้ไม่เกิน 500 ล้านบาทต่อปี และต้องยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนภายในปี 2564

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ