กรุงเทพฯ--20 พ.ค.--ก.ล.ต.
คณะกรรมการ ก.ต.ท. เห็นชอบให้ผ่อนคลายเกณฑ์กองทุนรวมและทรัสต์ที่มีการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์หรือโครงสร้างพื้นฐาน ให้สอดคล้องกัน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Regulatory Guillotine พร้อมผ่อนผันหลักเกณฑ์สำหรับการดำเนินการในปี 2563 เพื่อบรรเทาผลกระทบจาก COVID-19
เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2563 คณะกรรมการกำกับตลาดทุน (ก.ต.ท.) ครั้งที่ 11/2563 โดยนางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เป็นประธาน ได้เห็นชอบในหลักการให้ปรับปรุงหลักเกณฑ์ของกองทุนรวมและทรัสต์ที่มีการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์หรือโครงสร้างพื้นฐาน (กองทุนและทรัสต์) ให้สอดคล้องกัน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Regulatory Guillotine ในเรื่องดังต่อไปนี้
(1) ปรับปรุงหลักเกณฑ์การตรวจตราทรัพย์สิน จากทุก 1 ปี นับแต่การตรวจครั้งก่อน เป็นอย่างน้อยปีละครั้ง และสามารถตรวจทรัพย์สินโดยวิธีอื่นที่น่าเชื่อถือ โดยเป็นการร่วมกันระหว่างผู้จัดการกองและผู้ดูแลผลประโยชน์ หรือ ทรัสตีได้
(2) ปรับปรุงหลักเกณฑ์การกำหนดค่าเช่า โดยยกเลิกสัดส่วนการกำหนดค่าเช่าคงที่กับค่าเช่าผันแปร และให้ใช้วิธีเปิดเผยข้อมูลให้ผู้ลงทุนทราบว่ากองทุนและทรัสต์มีการกำหนดค่าเช่าคงที่ขั้นต่ำเท่าใด
(3) ปรับปรุงหลักเกณฑ์การจ่ายประโยชน์ตอบแทน หรือ เงินปันผลให้สอดคล้องกับสถานะเงินสดของกองทุนและทรัสต์มากยิ่งขึ้น โดยเพิ่มรายการที่ให้นำมาปรับปรุงกำไรสุทธิก่อนการจ่ายเงินปันผลได้ เช่น รายการลูกหนี้ค้างชำระค่าเช่าหรือค่าบริการ เป็นต้น
(4) ให้ผู้ขออนุญาตเสนอขายหน่วยทรัสต์สามารถยื่นขอขยายระยะเวลาการเสนอขายได้อีก 6 เดือน เช่นเดียวกับการเสนอขายหุ้น โดยรายงานประเมินมูลค่าทรัพย์สินต้องสะท้อนปัจจัยที่สำคัญและมีอายุไม่เกิน 1 ปี
(5) การส่งเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการขอมติให้แก่ผู้ถือหน่วยสามารถทำในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ได้
นอกจากนี้ เพื่อบรรเทาผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) คณะกรรมการ ก.ต.ท. ได้มีมติให้ผ่อนผันหลักเกณฑ์สำหรับการดำเนินการในปี 2563 ในเรื่องดังต่อไปนี้
(1) การตรวจตราทรัพย์สิน (2) สัดส่วนของรายได้ประจำเมื่อเทียบกับรายได้รวม (3) ให้ทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์สามารถขอมติเวียนได้ (ไม่รวมถึงกรณีขายทรัพย์สิน) (4) ลดระยะเวลาการส่งเอกสารขอมติล่วงหน้าจากไม่น้อยกว่า 30 วันเป็นไม่น้อยกว่า 14 วัน (5) ให้กองทุนและทรัสต์สามารถกู้ยืมระยะสั้นเพื่อเสริมสภาพคล่องได้ (6) กรณีผู้ประเมินไม่สามารถทำการประเมินมูลค่าทรัพย์สิน ให้ผู้จัดการกองขอผ่อนผันต่อ ก.ล.ต. ได้ นอกจากนี้ ต้องวิเคราะห์และเปิดเผยถึงผลกระทบจาก COVID-19 ที่มีต่อกองให้ผู้ลงทุนทราบด้วย และ
(7) ผ่อนผันเกณฑ์การจ่ายเงินปันผล โดยให้สามารถหักรายการลูกหนี้ที่ค้างชำระค่าเช่าในการคำนวณกำไรสุทธิที่ปรับปรุงแล้วของกองทุนได้
หมายเหตุ: Regulatory Guillotine คือ การทบทวนกฎหมายที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน เพื่อยกเลิกหรือปรับปรุงกฎหมายที่หมดความจำเป็นหรือไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์ หรือที่เป็นอุปสรรคต่อการดำรงชีวิตหรือการประกอบอาชีพเพื่อไม่ให้เป็นภาระแก่ประชาชน โดยใช้วิธีที่รวดเร็ว โปร่งใส ใช้ต้นทุนต่ำ และมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง