ASIAN บุ๊คผลงานโค้งแรก GP ทุบสถิติ โกยกำไร 105 ลบ. โต 75% เชื่อ Q2 โตต่อเนื่อง ธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยง-อาหารทะเลแช่เยือกแข็งโตเด่น

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday May 20, 2020 15:57 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--20 พ.ค.--IR PLUS “เอเชี่ยนซี คอร์ปอเรชั่น” เผยงบ Q1/63 สุดสตรอง! มีกำไรสุทธิ 105 ลบ. เติบโต 75% ส่วนอัตรากำไรขั้นต้นทุบสถิติสูงสุดอยู่ที่ 14.4% แม้ยอดขายอยู่ที่ 1,986 ลบ. ลดลง 15.8% เทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน ผลจากการเลิกขายผลิตภัณฑ์กลุ่มแช่เยือกแข็งในตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ ทำให้ปริมาณลดลง แต่อัตรากำไรปรับสูงขึ้น ขณะที่ธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงฟื้นชัดเจน ประเมินแนวโน้มธุรกิจ Q2/63 คาดยังดีต่อเนื่อง หนุนภาพรวมทั้งปี 63 สวย นายเฮ็นริคคัส แวน เวสเทนดร็อป ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายการเงิน บริษัท เอเชี่ยนซี คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ASIAN ผู้ประกอบธุรกิจแปรรูปสัตว์น้ำแช่แข็ง จำหน่ายและส่งออก ทั้งที่เป็นผลิตภัณฑ์ภายใต้เครื่องหมายการค้าของบริษัท และผลิตภัณฑ์ภายใต้เครื่องหมายการค้าของลูกค้า และผู้ผลิตและจำหน่ายอาหารสัตว์เลี้ยง เปิดเผยว่า ผลประกอบการของบริษัทฯ และบริษัทย่อยในงวดไตรมาส 1/2563 มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 105 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 45 ล้านบาท หรือคิดเป็น 75% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สำหรับกำไรขั้นต้นอยู่ที่ 286 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 188 ล้านบาท คิดเป็นอัตรากำไรขั้นต้น 14.4% ทำสถิติสูงสุดใหม่ เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนที่มีอัตรากำไรขั้นต้นอยู่ที่ 8% เนื่องจากอัตรากำไรที่ดีขึ้นในกลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารทะเลแช่เยือกแข็งและการอ่อนค่าของเงินบาท ขณะที่ รายได้จากการขายอยู่ที่ 1,986 ล้านบาท ลดลง 15.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มียอดขาย 2,359 ล้านบาท ในขณะที่ยอดขายเชิงปริมาณลดลงราว 3% เป็นผลจากการเลิกขายผลิตภัณฑ์กลุ่มแช่เยือกแข็งในตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ ทำให้ปริมาณลดลง แต่ได้รับการชดเชยจากปริมาณขายผลิตภัณฑ์กลุ่มอาหารสัตว์น้ำที่เพิ่มสูงขึ้น อย่างไรก็ดี อาหารสัตว์น้ำมีราคาต่อหน่วยเฉลี่ยต่ำลง และสินค้าแช่เยือกแข็งขายได้น้อยลง แต่มีธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงเป็นตัวผลักดันรายได้ ซึ่งเติบโต 25% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันปีก่อนหน้า “ผลประกอบการที่ออกมาเป็นที่น่าพอใจ มองเห็นพัฒนาการและแนวโน้มที่ดีขึ้นในทุกกลุ่มธุรกิจ ที่มีการเดินหน้าตามแผนกลยุทธ์ มุ่งเน้นขยายตลาด ควบคู่การบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งในช่วงไตรมาสที่ 1 โควิด-19 เริ่มแพร่ระบาด แต่เราพบว่าความต้องการซื้อจากลูกค้าของเรา ไม่ได้ลดลง ทั้งที่เป็นอาหารแช่เยือกแข็ง และอาหารที่สามารถเก็บรักษาได้นานโดยไม่ต้องแช่เย็น อาจเป็นเพราะการล็อคดาวน์ ทำให้มีการปรุงอาหารเองภายในครัวเรือนมากขึ้น โดยผู้บริโภคเน้นกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่บริโภคได้สะดวก ซึ่งก็ตรงกับผลิตภัณฑ์ของเรา ในขณะที่กลุ่มอาหารสัตว์เลี้ยงก็มีความต้องการสูงขึ้นเช่นกัน ส่วนหนึ่งเพราะเจ้าของสัตว์เลี้ยงใช้เวลาร่วมกับสัตว์เลี้ยงมากขึ้น ให้อาหารบ่อยครั้งขึ้น ในขณะที่บางส่วนอาจเป็นการซื้อเพื่อกักตุน สนับสนุนให้กำไรสุทธิเติบโตเพิ่มขึ้นกว่า 75% เมื่อเทียบกับงวดไตรมาส 1 ของปีก่อน” นายเฮ็นริคคัส กล่าว สำหรับในไตรมาส 1/2563 สัดส่วนรายได้หลักมาจากธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยง และธุรกิจอาหารแช่เยือกแข็ง โดยมีสัดส่วนประมาณ 37% และ 36% ของรายได้รวมตามลำดับ ทั้งนี้ ASIAN มองธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยง จะเป็นธุรกิจที่มีสัดส่วนมากที่สุดภายในปีนี้ จากความต้องการผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์เลี้ยงฟื้นตัวขึ้น ปริมาณคำสั่งซื้อจากลูกค้าในสหรัฐอเมริกาเพิ่มสูงขึ้น ขณะที่ปริมาณคำสั่งซื้อจากประเทศอังกฤษปรับเพิ่มขึ้นหลังจากที่มีการปรับปรุงประสิทธิภาพและเพิ่มความสามารถในการแข่งขันผ่านการปรับปรุงช่องทางการจัดจำหน่าย นอกจากนี้ยังเริ่มมีการส่งออกให้กับลูกค้าญี่ปุ่นรายใหญ่รายใหม่ที่ตกลงเริ่มทำธุรกิจกันตั้งแต่ปีก่อนหน้า ซึ่งความก้าวหน้านี้ แสดงให้เห็นว่า ในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์เลี้ยงแบบเปียกระดับพรีเมี่ยม ASIAN ในฐานะผู้ผลิตไทยชั้นนำ ยังคงได้รับความไว้วางใจจากลูกค้า ซึ่งเป็นแบรนด์ชั้นนำระดับโลก ASIAN ได้ปรับปรุงช่องทางการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ “มองชู” ภายในประเทศ โดยเปลี่ยนมาจัดจำหน่ายเองภายใต้การดำเนินงานของบริษัทในเครือ เพื่อมุ่งให้ความสำคัญและทุ่มเทสรรพกำลังได้มากขึ้น ทำให้ร้านค้าที่มีการวางจำหน่ายผลิตภัณฑ์มองชูมากขึ้น และเริ่มมีการจัดจำหน่ายผ่านร้านค้าปลีกสมัยใหม่ พร้อม ๆ กับการขายผ่านช่องทางออนไลน์ในประเทศไทยก็เริ่มชัดเจนมากขึ้น ธุรกิจอาหารแช่เยือกแข็ง ยอดขายเชิงปริมาณในไตรมาสแรกลดลงถึง 33% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน โดยส่วนที่ลดลงเป็นสำคัญยังคงเป็นกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์กุ้ง ที่บริษัทยกเลิกการขายผลิตภัณฑ์กลุ่มนี้ไปยังสหรัฐฯโดยสิ้นเชิง ในส่วนกลยุทธ์เปลี่ยนธุรกิจอาหารแช่เยือกแข็ง สู่ผลิตภัณฑ์ที่เพิ่มมูลค่า (Value-Added) อย่างเต็มรูปแบบที่บริษัทดำเนินการมาตั้งแต่ปีก่อนหน้า ก็เพิ่งจะส่งสัญญานดีในไตรมาส 1 ที่ผ่านมา บริษัทจึงเดินหน้าปรับปรุงไลน์การผลิตกุ้งเพิ่มมูลค่า ขยายกำลังการผลิตและนำเครื่องจักรอัตโนมัติเข้ามาใช้เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพ คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จในช่วงไตรมาส 3 ปีนี้ ธุรกิจทูน่า มีสัดส่วนรายได้ประมาณ 14% ของรายได้รวม มียอดขายลดลง 11% เนื่องจากราคาวัตถุดิบปรับตัวสูงขึ้น และมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นในไตรมาส 2 แต่คาดว่ายังคงมีความต้องการซื้อดี ขณะที่ธุรกิจอาหารสัตว์น้ำ ซึ่งมีสัดส่วนรายได้ประมาณ 13% ของรายได้รวม ก็มียอดขายเพิ่มขึ้น 7% “ภาพรวมธุรกิจในปี 2563 ยังคงมีแนวโน้มที่ดี ความต้องการในตลาดอาหารสัตว์เลี้ยงและอาหารทะเลแช่เยือกแข็งดีในช่วงไตรมาสที่ 1 ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 และคาดว่าจะดีต่อเนื่องในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ ส่วนทิศทางผลประกอบการในครึ่งปีหลังขึ้นอยู่กับว่าสินค้าที่ถูกซื้อไปเป็นการกักตุน หรือซื้อเพื่อการบริการอย่างแท้จริง ภัตตาคาร ร้านอาหารต่างๆ ทั้งในยุโรปและเอเชีย กลับมาเปิดบริการหรือไม่ และอัตราแลกเปลี่ยนจะเคลื่อนไหวอย่างไร” นายเฮ็นริคคัส กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ