กรุงเทพฯ--21 พ.ค.--กรุงเทพมหานคร
นางศิลปสวย ระวีแสงสูรย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวกรณีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เตือนหลายจังหวัด รวมถึงกรุงเทพฯ เตรียมพร้อมรับมือพายุไซโคลน “อำพัน” ว่า กรุงเทพมหานคร โดยศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วม สำนักการระบายน้ำ ได้จัดเจ้าหน้าที่ติดตามสภาพอากาศจากเรดาร์ตรวจกลุ่มฝน ตลอด 24 ชั่วโมง รวมถึงเตรียมความพร้อมระบบระบายน้ำของ กทม. เพื่อรองรับสถานการณ์ฝน โดยดูแลระบบการจัดการน้ำในอุโมงค์ระบายน้ำ สถานีสูบน้ำ บ่อสูบน้ำ และประตูระบายน้ำให้มีประสิทธิภาพ ตลอดจนลดระดับน้ำแก้มลิง บ่อหน่วงน้ำใต้ดิน จัดเตรียมเครื่องสูบน้ำแบบเคลื่อนที่กรณีฉุกเฉิน ขณะเดียวกันศูนย์ปฏิบัติการฯ ยังแจ้งให้ประชาชนได้ทราบถึงสถานการณ์ฝนตกหรือจุดที่มีปัญหาน้ำท่วม ผ่านช่องทางต่าง ๆ ได้แก่ Website http:// dds.bangkok.go.th Facebook : http://www.facebook.com/bkk.best Twitter : http://twitter.com/bkk_best/bkk best ศูนย์ป้องกันน้ำท่วม กทม. Line ID : @bkk_best และแอปพลิเคชัน กทม. Connect นอกจากนี้สำนักสิ่งแวดล้อม กทม. ยังได้สำรวจ ตรวจสอบ และดูแลต้นไม้ใหญ่ให้อยู่ในสภาพแข็งแรง มีทรงพุ่มที่สมดุล ตัดแต่งกิ่งไม้ให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ โดยการสางโปร่ง เพื่อลดแรงปะทะลมและฝน ตัดลดความสูงลงตามความเหมาะสม ตรวจสอบวัสดุค้ำยันให้มีความมั่นคง สามารถพยุงค้ำยันต้นไม้ใหญ่ได้ หากพบต้นไม้มีความเสี่ยงที่จะโค่นล้มและไม่สามารถดำเนินการตามหลักวิชาการได้ อาจพิจารณาขุดล้อมออก เพื่อมิให้เกิดการอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ขณะเดียวกันได้ติดตามข้อมูลข่าวสารจากกรมอุตุนิยมวิทยาเกี่ยวกับพายุฝนที่จะเกิดขึ้น รวมถึงจัดเตรียมเครื่องมืออุปกรณ์ ยานพาหนะ และเจ้าหน้าที่ให้พร้อมสำหรับการปฏิบัติงานทันทีหากเกิดเหตุต้นไม้ในที่สาธารณะฉีกหักหรือโค่นล้มกีดขวางการจราจร
ปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนั้น สำนักการโยธา กทม. ยังร่วมกับสำนักงานเขต ดำเนินการแจ้งเจ้าของป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ให้ตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงและความปลอดภัยในการใช้ป้ายเป็นประจำ หากป้ายถูกกฎหมาย แต่มีสภาพชำรุด อันอาจก่อให้เกิดอันตราย ต้องมีคำสั่งให้เจ้าของป้ายดำเนินการแก้ไขหรือให้รื้อถอน รวมทั้งดำเนินคดีกับป้ายที่ฝ่าฝืนกฎหมายอย่างเคร่งครัด และเร่งรัดการรื้อถอน ขณะเดียวกันสำนักการโยธา สำนักงานเขต กรมโยธาธิการและผังเมือง วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ คณะอนุกรรมการวิศวกรรมยกหิ้วและปั้นจั่นไทย ร่วมกันตรวจสอบความปลอดภัยของปั้นจั่นในโครงการก่อสร้าง ดัดแปลง หรือรื้อถอนอาคาร ตามแบบรายงานตรวจสอบปั้นจั่นในการก่อสร้างที่ผ่านความเห็นชอบจากผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และให้ทุกโครงการนำแบบฟอร์มดังกล่าวไปใช้ในการปฏิบัติตามวิธีการและเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคารและคู่มือการปฏิบัติงานด้านความปลอดภัยอาชีวอนามัย นอกจากนั้น ยังได้ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนผู้อยู่อาศัยในบริเวณใกล้เคียงกับป้ายทราบถึงอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากป้ายล้มในช่วงที่มีพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง ตลอดจนจัดเตรียมเครื่องมือกลไว้ เพื่อป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยที่เกิดจากป้ายอีกด้วย