กรุงเทพฯ--25 พ.ค.--กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
วันนี้นายพุฒิพงศ์ สุรพฤกษ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะโฆษกกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อสรุปผลและถอดบทเรียน (After Action Review : AAR)
การป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันภาคเหนือ ปี 2563 ในระหว่างวันที่ 19 – 21 พฤษภาคม 2563 ณ หอประชุมเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อระดมความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ และร่วมถอดบทเรียนผลการดำเนินงาน ปัญหา อุปสรรค และแนวทางการแก้ไขปัญหาจากภาคเอกชน ประชาชน จิตอาสา NGOs และนักวิชาการ ในทุกด้านทุกมุมมอง เพื่อนำมาสรุปและกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาหมอกควันภาคเหนือที่เหมาะสมและยั่งยืนต่อไป
จากสถานการณ์จุดความร้อน (Hotspot) ในภาพรวมทั่วประเทศ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2562 - 14 พฤษภาคม 2563 (ข้อมูลจากดาวเทียมระบบ VIRS ) พบจุด Hotspot 216,964 จุด โดยร้อยละ 62% อยู่ในเขตป่าไม้ (132,486 จุด) และร้อยละ 38% อยู่นอกเขตป่าไม้ (84,478 จุด) ส่วนสถานการณ์จุด Hotspot ในพื้นที่ 9 จังหวัดภาคเหนือในเขตพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ พบจุด Hotspot สะสม จำนวน 35,712 จุด เพิ่มขึ้นจากปี 2562 จำนวน 3,702 จุด ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ พบจุด Hotspot สะสม จำนวน 46,580 จุด เพิ่มขึ้นจากปี 2562 จำนวน 4,035 จุด
ทั้งนี้ ในวันนี้เป็นวันแรกของการประชุมเชิงปฏิบัติฯ ถอดบทเรียน AAR โดยประชุมทางไกลผ่านระบบ video conference เพื่อปฏิบัติตามมาตรการในการรับมือการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (Covid-19)
โดยมีนายพงศ์บุณย์ ปองทอง รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควัน (ส่วนหน้า) และ นายเจริญฤทธิ์ สงวนสัตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานการประชุมเชิงปฏิบัติการฯ โดยในช่วงเช้าเป็นการประชุมกลุ่มย่อย ที่ 1 ในส่วนของเจ้าหน้าที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้มีการหารือถึงสาเหตุของปัญหา ปัญหาอุปสรรค และข้อเสนอแนะการทำงาน โดยเฉพาะประเด็นหลัก ดังนี้
การถ่ายโอนภารกิจการควบคุมไฟป่าให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่ยังไม่เกิดผลในทางปฏิบัติ ซึ่งที่ประชุมเห็นพ้องให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หารือกับกระทรวงมหาดไทย และคณะกรรมการกระจายอำนาจ เพื่อหาแนวทางให้การถ่ายโอนภารกิจ มีผลบังคับใช้และเกิดผลในทางปฏิบัติการจัดการเชื้อเพลิง ที่ไม่สามารถดำเนินการได้ทันตามช่วงเวลาและยังไม่มีประสิทธิภาพ ซึ่งที่ประชุมเห็นควรให้เร่งจัดการเชื้อเพลิงก่อนเข้าช่วงสถานการณ์หมอกควัน โดยไม่นำเอาจุดความร้อน (Hotspot) มาเป็นตัวชี้วัด ทั้งนี้ เมื่อเข้าช่วงหมอกควัน ให้จัดระเบียบการเผา ดำเนินการเผาแบบควบคุม โดยไม่ให้ฝุ่นละอองสูงจนเกินเกณฑ์มาตรฐาน และให้จังหวัดพิจารณาการใช้มาตรการขอความร่วมมือให้ประชาชนจัดการเชื้อเพลิงภายใต้การควบคุม ตามที่ภาครัฐกำหนด โดยไม่ต้องกำหนดช่วงห้ามเผาเพื่อความถูกต้องในการวิเคราะห์ข้อมูล ให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์ และ กรมป่าไม้ จัดส่งขอบเขตพื้นที่เกษตรกรรมในป่า ให้ GISTDA ในการประมวลผลข้อมูลพื้นที่ที่เกิดจุดความร้อน ซึ่งจะช่วยให้การกำหนดแผนงานในการบริหารจัดการมีความถูกต้องและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ส่วนในช่วงบ่ายเป็นการประชุมกลุ่มย่อย ที่ 2 ในส่วนของภาคประชาชน เห็นพ้องให้มุ่งเน้นการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนในการให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดทำแผนและดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาร่วมกับภาครัฐ อีกทั้งให้มีการบูรณาการการดำเนินงานให้เชื่อมโยงกันทุกระบบและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนให้มีการบริหารจัดการเชิงพื้นที่เป็นหลัก