กรุงเทพฯ--26 พ.ค.--พีอาร์ วัน เน็ทเวิร์ค
องค์กรธุรกิจทั่วโลกต่างได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสไข้หวัดใหญ่โควิด-19 แน่นอนรวมไปถึงประเทศไทย ซึ่งองค์กรธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ได้รับผลกระทบอย่างมาก เนื่องจากปัญหาระบบซัพพลายเชนที่หยุดชะงัก ความต้องการของลูกค้าที่ลดลง และยอดขายที่ชะลอตัว
คำกล่าวที่ว่าเอสเอ็มอีคือหัวใจสำคัญของเศรษฐกิจของประเทศไทยคงไม่เกินจริง เพราะธุรกิจเอสเอ็มอีทั้งหมดคิดเป็นสัดส่วนกว่า 99 เปอร์เซ็นต์ขององค์กรธุรกิจทั้งหมดในประเทศ และยังนับเป็นแหล่งจ้างงานที่สำคัญของประเทศจากอัตราจ้างงานมากกว่า 10 ล้านคน ด้วยเหตุนี้เอสเอ็มอีของไทยจึงจำเป็นที่จะต้องได้รับความช่วยเหลือทางการเงิน เพื่อบรรเทาผลกระทบที่ได้รับจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 รวมไปถึงคำแนะนำทางด้านธุรกิจและเทคโนโลยี เพื่อช่วยให้องค์กรเหล่านี้เตรียมพร้อมสำหรับการฟื้นฟูธุรกิจหลังจากที่ผ่านพ้นวิกฤตในครั้งนี้
ธนาคารยูโอบี (ไทย) ได้ให้การสนับสนุนและช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีมาโดยตลอด ทั้งในเรื่องมาตรการทางการเงิน และที่สำคัญการนำดิจิทัลและเทคโนโลยีไปใช้เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพในการทำธุรกิจ โดยในช่วงเดือนเมษายน 2562 ที่ผ่านมา เอสเอ็มอีของไทยกว่า 80 บริษัทได้เข้าร่วมเวิร์กชอป Business Model Transformation (BMT) ที่ทางธนาคารร่วมกับเดอะ ฟินแล็บ (The FinLab) ซึ่งเป็นองค์กรที่ส่งเสริมการสร้างสรรค์นวัตกรรมในเครือธนาคารยูโอบีจัดขึ้นในระยะเวลา 2 วัน โดยสิ่งที่เอสเอ็มอีได้เรียนรู้จากเวิร์กชอปในครั้งนั้นคือได้ไปทบทวนโมเดลธุรกิจที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน เพื่อหาช่องโหว่และระบุโอกาสเป็นไปได้สำหรับการปรับเปลี่ยนโมเดลธุรกิจ ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของการจะทำให้ธุรกิจเดินไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ
จากเอสเอ็มอีทั้งหมดที่เข้าร่วมกิจกรรมเวิร์กชอปครั้งนี้ มีธุรกิจเอสเอ็มอี 15 รายได้ไปต่อกับโครงการ Smart Business Transformation ซึ่งภายใต้ระยะเวลาการดำเนินการสามเดือนของโครงการดังกล่าว ธุรกิจเอสเอ็มอีเหล่านี้ได้รับความรู้ ข้อมูลเชิงลึก และแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับแง่มุมต่างๆ ในการปรับเปลี่ยนธุรกิจ รวมถึงการได้จับคู่กับเจ้าของโซลูชันเทคโนโลยีที่เหมาะสม ตอบโจทย์การเข้ามาช่วยในการปรับใช้โซลูชันดิจิทัลและแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น
ข้อมูลจากสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ชี้ว่า ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 หากฟื้นตัวเร็วคือช่วงเดือนเมษายน คาดว่าภาคธุรกิจเอสเอ็มอีของไทยจะสูญเสียรายได้ราว 120,000 ล้านบาท จากปัญหาดังกล่าว ผู้ประกอบการจำนวนมากจึงตระหนักถึงความจำเป็นในการตอบสนองอย่างทันท่วงทีกับผลกระทบต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ตลอดจนการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์และแผนงานเพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างยั่งยืน ในโอกาสนี้ เอสเอ็มอีไทย 3 บริษัทที่ได้เข้าร่วมโครงการ Smart Business Transformation ในปี 2562 ได้มาแบ่งปันประสบการณ์ และแนวทางของการนำความรู้ที่ได้รับจากโครงการดังกล่าวที่ได้นำมาประยุกต์ใช้เพื่อฟันฝ่าสถานการณ์ที่ยากลำบากท่ามกลางวิกฤตการณ์ครั้งนี้
ทัศนคติที่เปิดกว้าง ช่วยให้มองเห็นโอกาสและความเป็นไปได้
นางพฤทธิดา ศรีสันติสุข กรรมการผู้จัดการ บริษัท อาร์ทตี้ กรุ๊ปส์ จำกัด ผู้ผลิตและออกแบบเครื่องประดับแฟชั่นเกรดพรีเมียมจากวัสดุหนังคุณภาพสูง กล่าวว่า “ภายใต้โครงการ Smart Business Transformation เราได้เรียนรู้ถึงความสำคัญของการมีทัศนคติหรือกรอบความคิดที่เปิดกว้าง ซึ่งช่วยให้เรามองเห็นโอกาสและช่องทางใหม่ๆ สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างถูกต้องเหมาะสม การแพร่ระบาดของไวรัสครั้งนี้ส่งผลให้เรามียอดขายที่ลดลงนานหลายสัปดาห์ และด้วยเหตุนี้เราจึงได้ปรับเปลี่ยนสายการผลิต จากเดิมที่ผลิตเครื่องแบบสำหรับลูกค้าองค์กร มาเป็นการผลิตและจำหน่ายหน้ากากผ้าเพื่อตอบสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้นของตลาดในส่วนนี้”
การมีทัศนคติหรือกรอบความคิดที่เปิดกว้างนอกจากจะช่วยให้คุณพฤทธิดามองเห็นโอกาสใหม่ๆ สำหรับธุรกิจของตนเองแล้ว เธอยังสามารถให้ความช่วยเหลือแก่องค์กรธุรกิจอื่นๆ ในการรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดในครั้งนี้ ตัวอย่างเช่น:
- ต่อยอดการใช้ช่องทางอี-คอมเมิร์ซของบริษัทให้เป็นช่องทางการจำหน่ายสินค้าและจัดส่งสินค้าให้กับธุรกิจเอสเอ็มอีอื่นๆ อาทิ ร่วมมือกับ คิงด้อม ออร์แกนิค เนทเวิร์ค อีกหนึ่งเอสเอ็มอีในโครงการ Smart Business Transformation ในการเป็นช่องทางการผู้จัดจำหน่ายสินค้าเกษตรอินทรีย์และเจลล้างมือ
- ให้ความช่วยเหลือลูกค้าประเภทองค์กรที่ประสบปัญหาเรื่องข้อจำกัดการผลิตสินค้าในประเทศอื่นๆ เช่น ญี่ปุ่น จีน ให้สามารถย้ายฐานการผลิตมายังประเทศไทยได้ และ
- ส่งต่อยอดคำสั่งซื้อสินค้าให้แก่ผู้ผลิตรายอื่นๆ ในประเทศไทยเพื่อช่วยให้เอสเอ็มอีรายอื่นๆ สามารถต่อสู้และฟันฝ่าวิกฤตครั้งนี้ไปได้ด้วยกัน
“สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ก่อให้เกิดความต้องการใช้บริการด้านดิจิทัลที่เพิ่มสูงขึ้น เราได้ติดตั้งใช้งานโซลูชัน UOB BizSmart แอปพลิเคชันธุรกิจบนระบบคลาวด์ที่รองรับงานบัญชีแบบอัตโนมัติ ช่วยให้เราใช้เวลาเพียงแค่วันเดียวในการสร้างและออกใบเสนอราคา จากที่เมื่อก่อนนี้ต้องใช้เวลานานถึงเจ็ดวัน นอกจากเราจะสามารถปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานแล้ว ยังสามารถบริหารจัดการธุรกิจได้อย่างยืดหยุ่นทุกที่ทุกเวลาโดยใช้โทรศัพท์มือถือหรือแท็บเล็ต ด้วยการป้อนข้อมูลโดยตรงของ UOB BizSmart เข้าสู่บัญชีที่เรามีอยู่กับธนาคารยูโอบี เราจึงสามารถกระทบยอดธุรกรรมทางการเงิน เช่น ยอดขายรายวัน และการชำระเงินให้แก่ซัพพลายเออร์ ได้อย่างง่ายดาย นอกจากนั้น การมีข้อมูลกระแสเงินสดที่ชัดเจนมากขึ้นยังช่วยให้ สามารถตรวจสอบการดำเนินงานในแต่ละวันได้อย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพอีกด้วย”
เตรียมพร้อมอยู่เสมอเพื่อรับมือกับอนาคต
น.ส.เณริศา อิศรางกูร ณ อยุธยา กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ ลิทเทิล ลัลลาบาย จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์สำหรับเด็กครบวงจร จากวัตถุดิบหลักของใยไผ่ ผลิตด้วยกระบวนการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมกล่าวว่า “การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เป็นตัวเร่งส่งเสริมระบบเศรษฐกิจดิจิทัล เนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่จำเป็นต้องเก็บตัวอยู่ที่บ้าน ส่งผลให้ยอดขายอี-คอมเมิร์ซของเราเติบโตถึงร้อยละ 150 ในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ ซึ่งนับเป็นการชดเชยกับยอดขายออฟไลน์ที่ลดลง
ต้องขอบคุณโครงการ Smart Business Transformation ที่ช่วยสร้างความมั่นใจและความสบายใจให้กับทีมงานของเราในการก้าวไปข้างหน้าสู่ธุรกิจอี-คอมเมิร์ซอย่างเต็มรูปแบบ ในตอนแรกเราไม่แน่ใจเกี่ยวกับการเปลี่ยนย้ายไปสู่ธุรกิจออนไลน์ และเราไม่รู้ว่าควรจะเริ่มต้นที่ตรงไหน แต่ด้วยการเรียนรู้อย่างเป็นระบบภายใต้โครงการดังกล่าว ทำให้ได้รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับเครื่องมือการตลาดออนไลน์ ที่เข้ามาช่วยให้บริษัทของเราเข้าถึงตลาดในเซ็กเมนต์ต่างๆ ได้มากขึ้น และสามารถปรับใช้โซลูชั่นโลจิสติกส์สำหรับอี-คอมเมิร์ซ ที่ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการขนส่งสินค้าได้ถึงร้อยละ 30 เลยทีเดียว”
ลิทเทิล ลัลลาบาย ยังได้ร่วมมือกับ อีซี่ แพ็ค อีกหนึ่งเอสเอ็มอีที่เข้าร่วมโครงการ Smart Business Transformation ในการสร้างสรรค์และผลิตบรรจุภัณฑ์รูปแบบใหม่ที่มีพัฒนาการที่ดีขึ้นสำหรับสินค้าของบริษัทฯ และยังมีแผนที่จะขยายตลาดไปสู่ประเทศอื่นๆ เพิ่มเติมนอกเหนือจาก 6 ประเทศที่ทำตลาดอยู่ในปัจจุบัน
เพิ่มพูนทักษะในช่วงหยุดพักงาน เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการฟื้นฟูธุรกิจ
นายวิศัลย์ วนะศักดิ์ศรีสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วอริกซ์ สปอร์ต จำกัด บริษัท วอริกซ์ เจ้าของแบรนด์เสื้อผ้ากีฬาและผู้สนับสนุนชุดกีฬาอย่างเป็นทางการสำหรับกีฬาฟุตบอลทีมชาติไทย กล่าวว่า “เนื่องจากคนส่วนใหญ่ต้องเก็บตัวอยู่ที่บ้านในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 เราจึงปิดร้านค้าที่มีอยู่ราว 90 เปอร์เซ็นต์เป็นการชั่วคราว และเปลี่ยนสู่ธุรกิจออนไลน์เพิ่มมากขึ้น อีกทั้งพนักงานส่วนใหญ่ของเราต้องทำงานจากที่บ้าน จึงใช้โอกาสนี้เพิ่มพูนทักษะการทำงานให้กับทีมงานของเรา โดยจัดฝึกอบรม และเสริมการเรียนรู้ทางออนไลน์ให้แก่พนักงานมากขึ้น
โครงการ Smart Business Transformation ช่วยให้เรามีความคล่องตัว ยืดหยุ่นในการแก้ไขปัญหาและรับมือกับความเปลี่ยนแปลง ได้เรียนรู้แนวทางการจัดการความเปลี่ยนแปลง ซึ่งมุ่งเน้นความสำคัญไปที่การปรับเปลี่ยนและเตรียมความพร้อมให้แก่บุคลากรเพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นอีกได้ในอนาคต เพราะสิ่งเดียวที่แน่นอนคือความไม่แน่นอน ผมเชื่อว่าพฤติกรรมของผู้บริโภคจะเปลี่ยนไปหลังจากที่การแพร่ระบาดของโควิด-19 สิ้นสุดลง สิ่งที่เคยใช้การได้ดีในอดีตก็อาจกลายเป็นสิ่งล้าสมัยในอนาคต เพื่อที่ธุรกิจจะอยู่รอดและประสบความสำเร็จ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาที่ท้าทาย เราจำเป็นที่จะต้องแสดงความเป็นผู้นำทางธุรกิจที่แข็งแกร่ง ขณะเดียวกันองค์กรธุรกิจต่างๆ จำเป็นที่จะต้องสร้างความยืดหยุ่น ให้ความสำคัญกับการฝึกอบรมพนักงานเพิ่มมากขึ้น เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับชีวิตวิถีใหม่ อีกด้วย”
โครงการ Smart Business Transformation จัดขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทยเมื่อปี 2562 โดยธนาคารยูโอบี (ไทย) ภายใต้การดำเนินการของเดอะ ฟินแล็บ และได้รับการสนับสนุนจากองค์กรพันธมิตร ได้แก่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) โครงการระยะเวลาสามเดือนนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อช่วยให้เอสเอ็มอีสามารถพัฒนาและยกระดับความรู้ความสามารถเกี่ยวกับเทคโนโลยีดิจิทัลและเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับอนาคตได้ดียิ่งขึ้น ดูข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการ Smart Business Transformation Programme ได้ที่เว็บไซต์ www.thefinlab.com/Thailand