กรุงเทพฯ--26 พ.ค.--สทนช.
สทนช.เดินหน้าจัดทำผังน้ำ ภายใต้ พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ 2561 กำหนดเส้นทางการไหลของน้ำตั้งแต่ต้นน้ำจนออกทะเล นำร่อง 8 ลุ่มน้ำ ก่อนขยายผลให้ครบทั้ง 22 ลุ่มน้ำภายในปี 2565 เพื่อประโยชน์สูงสุดในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ
ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ สทนช.อยู่ระหว่างการดำเนินจัดทำผังน้ำและรายการประกอบผังน้ำ ตามพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 ที่กำหนดไว้ในบทเฉพาะกาล มาตรา 103 เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ให้แล้วเสร็จภายในปี 2565 ก่อนที่จะประกาศเป็นกฎหมายต่อไป ซึ่งที่ผ่านมา สทนช. ได้จัดประชุมปฐมนิเทศและรับฟังความคิดเห็นโครงการจัดทำแผนหลักการจัดทำผังน้ำจากผู้เชี่ยวชาญทั้งในประเทศและต่างประเทศ ได้แก่ ประเทศเยอรมัน เกาหลีใต้ และเนเธอร์แลนด์ เพื่อเป็นข้อมูลในการจัดทำผังน้ำของประเทศไทยที่ได้มาตรฐานสากลและเป็นที่ยอมรับ
“ขณะนี้ สทนช. อยู่ระหว่างการดำเนินการจัดทำผังน้ำและรายการประกอบผังน้ำในระยะแรกจำนวน 8 ลุ่มน้ำ โดยเป็นผังน้ำกลุ่มลุ่มเจ้าพระยาใหญ่ตอนล่าง 4 ลุ่มน้ำ คือ ลุ่มน้ำสะแกกรัง ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ลุ่มน้ำป่าสัก ลุ่มน้ำท่าจีนและลุ่มน้ำอื่นอีก 4 ลุ่มน้ำ ได้แก่ ลุ่มน้ำบางปะกง ลุ่มน้ำชี ลุ่มน้ำมูล และลุ่มน้ำแม่กลอง ซึ่งจะดำเนินให้แล้วเสร็จภายในปีนี้” เลขาธิการ สทนช. กล่าว
หลังจากนั้นในปี 2564 สทนช.จะได้ดำเนินการศึกษาโครงการจัดทำผังน้ำและรายการประกอบผังน้ำเพิ่มเติม อีกจำนวน 6 ลุ่มน้ำ โดยเป็นผังน้ำกลุ่มลุ่มน้ำเจ้าพระยาใหญ่ตอนบน 4 ลุ่มน้ำ ได้แก่ ลุ่มน้ำปิง ลุ่มน้ำวัง ลุ่มน้ำยม ลุ่มน้ำน่าน ลุ่มน้ำอื่นอีก 2 ลุ่มน้ำ ได้แก่ ผังน้ำลุ่มน้ำโขงตะวันออกเฉียงเหนือ และลุ่มน้ำภาคใต้ฝั่งตะวันออกตอนบน ส่วนในปี 2565 จะดำเนินการศึกษาโครงการจัดทำผังน้ำและรายการประกอบผังน้ำในลุ่มน้ำที่เหลือทั้งหมด ได้แก่ ลุ่มน้ำสาละวิน ลุ่มน้ำโขงเหนือ ลุ่มน้ำเพชรบุรี-ประจวบคีรีขันธ์ ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ลุ่มน้ำภาคใต้ฝั่งตะวันออกตอนล่าง ลุ่มน้ำภาคใต้ฝั่งตะวันตก ลุ่มน้ำชายฝั่งทะเลตะวันออก และลุ่มน้ำโตนเลสาบ ซึ่งจะครอบคลุมครบทั้ง 22 ลุ่มน้ำทั่วทั้งประเทศ
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาประเทศไทยยังไม่เคยมีการจัดทำผังน้ำเพื่อการบริหารจัดการน้ำแบบครอบคลุมทั้งประเทศ ซึ่งการจัดทำผังน้ำนั้นจะกำหนดเส้นทางการไหลของน้ำทั้งในฤดูแล้งและฤดูน้ำหลาก ครอบคลุมแม่น้ำ ลำคลอง ห้วย หนอง บึง กุด ป่าบุ่ง ป่าทาม พื้นที่ชุ่มน้ำ แก้มลิง คันกั้นน้ำ ตลิ่ง ฯลฯ ทั้งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติและมนุษย์สร้างขึ้น โดยจะมีความสอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาของเมือง ผังเมือง ผังระบายน้ำ การใช้ประโยชน์ที่ดินตามระเบียบกฎหมายอื่นเป็นสำคัญ ฉะนั้นในการจัดทำผังน้ำจะรวบรวมผังการระบายน้ำจากทุกหน่วยงาน เช่น กรมโยธาธิการและผังเมือง กรมชลประทาน ผนวกกับวงรอบทิศทางไหลของน้ำและรูปแบบผังน้ำที่สอดรับกับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง (Climate Change) เน้นเรื่องรักษาสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ได้ผังน้ำและรายการประกอบผังน้ำที่สมบูรณ์และเป็นสากล รับฟังความคิดเห็นจากประชาชนตามกฎหมายกำหนด เพื่อก่อเกิดประโยชน์ต่อประเทศให้มากที่สุด
“การจัดทำผังน้ำยังเป็นการสนับสนุนแผนป้องกันแก้ไขสภาวะภัยแล้งและอุทกภัย สามารถบ่งชี้พื้นที่เก็บน้ำเมื่อคราวน้ำน้อยอย่างชัดเจน หรือเมื่อน้ำหลากควรจะระบายน้ำออกทางใด เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำ ช่วยรักษาคุณภาพน้ำ เพราะจะไม่เกิดการรุกล้ำทางน้ำ ผังน้ำช่วยตอบคำถาม ช่วยตัดสินใจในการสร้างที่อยู่อาศัย โรงงาน นิคมอุตสาหกรรม ว่าอยู่ในพื้นที่น้ำหลากหรือไม่ หรือตั้งอยู่ในพื้นที่กีดขวางทางระบายหรือไม่ รวมถึงควบคุมการใช้ประโยชน์ที่ดินในขอบเขตพื้นที่ตามระบบทางน้ำที่ได้กำหนดแนวเขตไว้ โดยผังน้ำจะกำหนดขอบเขตชัดเจนว่า บริเวณใดเป็นพื้นที่สงวนไว้ให้ทางน้ำโดยเฉพาะ โดยไม่มีสิ่งกีดขวางตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ หากมีการรุกล้ำทางน้ำที่ประกาศขอบเขตแล้ว ผู้บุกรุกมีโทษทั้งจำทั้งปรับ” เลขาธิการ สทนช. กล่าวในที่สุด