กรุงเทพฯ--28 พ.ค.--สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา
นายณรงค์ แผ้วพลสง เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เปิดเผยว่า ในช่วงวิกฤตภัยโควิด-19 ตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมาทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากการเดินทาง การหาอาหารบริโภคการกักตนเองและครอบครัวอยู่ในบ้าน แต่ปรากฏว่าสถานศึกษาประเภทวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีของอาชีวศึกษา สามารถดำรงชีพอยู่ได้ด้วยปัจจัยแห่งเกษตรกรรมที่แต่ละวิทยาลัยได้จัดทำโครงการชีววิถี จัดทำพื้นที่แบบเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งนอกจากจะเป็นแหล่งอาหารให้กับครูและนักเรียน นักศึกษาเกษตรแล้ว ยังมีเพียงพอที่เผื่อแผ่ไปถึงปากท้องของชุมชน และชาวบ้านในละแวกใกล้เคียงอีกด้วย ยกตัวอย่างวิทยาลัยการอาชีวศึกษาปทุมธานี ที่มีทั้งพื้นที่ดำเนินการโครงการชีววิถี และแปลงพืชผักตามหลักของเศรษฐกิจพอเพียง พิสูจน์ให้เห็นว่าวิถีเกษตรเกื้อกูลโดยตรงกับการดำรงชีพของมนุษย์
ด้าน ดร.ศันสนีย์ สายะสนธิ ผู้อำนวยการวิทยาลัยการอาชีวศึกษาปทุมธานี (วกศ.ปทุมธานี) เปิดเผยว่า วิทยาลัยมีกิจกรรมส่งเสริมผู้เรียนภายใต้งานกิจกรรมองค์การวิชาชีพในอนาคตแห่งประเทศไทย (อวท.) และองค์การเกษตรกรในอนาคตแห่งประเทศไทย (อกท.) จึงมีงานฟาร์มที่ผลิต และจำหน่ายพืชผักไฮโดรโปนิกส์ และออร์แกนิค ซึ่งเป็นการฝึกประสบการณ์ และการเรียนรู้ของนักเรียน นักศึกษา มีการปลูกพืชหมุนเวียนหลากหลายชนิดตามฤดูกาล ตามความเหมาะสม และมีการดำเนินกิจกรรมโครงการชีววิถี ที่ได้รับการสนับสนุนจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งพืชชนิดหนึ่งที่ปลูกในแปลงผักชีววิถี และมีประโยชน์มหาศาลขณะนี้ คือ บวบ
บวบ เป็นไม้เถา ดอกสีเหลือง สามารถนำทุกส่วนมาใช้ประโยชน์ทั้งอุปโภคและบริโภคได้ เช่น ผลอ่อนนำมาประกอบอาหาร มีสรรพคุณแก้ร้อนใน ลดไข้ ขับน้ำนม ขับปัสสาวะ แก้เลือดออกตามทางเดินอาหาร แก้ทางเดินปัสสาวะอักเสบ แก้กระหายน้ำ ขับพยาธิ แก้อาการท่อน้ำดีอุดตัน ส่วนใบมีสารซาโปนิน (Saponins) มีฤทธิ์ช่วยห้ามเลือด แก้อักเสบ ฝีหนอง ริดสีดวงทวาร รักษาอาการเยื่อบุตาอักเสบและกลากเกลื้อน ใยบวบมีสารเซลโลส ไซลาน (Cellose Xylan) และสารจำพวกไครทรูลลิน (Critrulline) ช่วยขับพิษร้อน ถอนพิษไข้ ลดอาการบวมน้ำ แก้อาการปวดเส้นปวดกระดูก และกำจัดเซลล์ผิวที่ตายแล้วได้ เป็นต้น ทั้งนี้ วกศ.ปทุมธานี ได้ปลูกบวบหลายชนิด ทั้งบวบเหลี่ยม บวบหอม และบวบงู ด้วยวิธีการปลูกบวบแบบเกษตรอินทรีย์ ซึ่งขั้นตอนและวิธีการ เกิดจากการศึกษาค้นคว้าเพื่อควบคุมการเจริญเติบโตของบวบ ให้ได้บวบหอมที่มีคุณภาพและปลอดภัยจากสารเคมี โดยมีกระบวนการตั้งแต่การคัดเลือกเมล็ดบวบ การผสมดิน (ดินร่วน+ขุยมะพร้าว+ขี้วัวและขี้ค้างคาว+ปุ๋ยจุลินทรีย์แห้ง) การทำร้านตาข่ายเพื่อให้บวบเกาะ การใช้สารชีวภาพเร่งดอกสูตรจุลินทรีย์ผลไม้ และการใช้สารชีวภาพไล่แมลง สูตรกุยช่ายไล่แมลง ทุกกระบวนการมั่นใจได้ว่าปลอดสารพิษ เพราะ วกศ.ปทุมธานี คำนึงถึงความสำคัญในการนำไปบริโภค และทุกกระบวนทัศน์เริ่มต้นจากภูมิปัญญาและหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
วกศ.ปทุมธานี เห็นถึงความสำคัญและประโยชน์ที่หลากหลายของบวบ โดยเฉพาะเทคโนโลยีชีวภาพ เป็นส่วนหนึ่งของกระแสรักษ์สุขภาพ รักษ์โลก จึงนำบวบมาสร้างสรรค์ เป็นผลิตภัณฑ์เพื่อเพิ่มมูลค่าและใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ อันจะทำให้ได้ผลผลิตเชิงเกษตรใหม่ๆ ที่มีความปลอดภัยและแตกต่างจากที่พบเห็นในท้องตลาด นอกจากนำไปบริโภค วกศ.ปทุมธานี ยังนำบวบมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ในแบรนด์ลูฟ่า พลัส (Luffa Plus) ได้แก่ สบู่จากน้ำสกัดใบบวบหอมและใยบวบป่า เป็นสบู่กลีเซอลีนผสมน้ำสกัดใบบวบหอม มีทั้งหมด 4 สูตร ได้แก่ สูตรสบู่กลีเซอลีนผสมน้ำสกัดใบบวบหอม 100% สูตรสบู่กลีเซอลีนผสมน้ำสกัดใบบวบหอม 100% ผสมกับว่านหางจระเข้ ใบย่านาง สูตรสบู่กลีเซอลีนผสมน้ำสกัดใบบวบหอม 100% ผสมรังไหมทองคำ และสูตรสบู่กลีเซอลีนผสมน้ำสกัดใบบวบหอม 100% ผสมน้ำนมแพะ และโลชั่นจากน้ำสกัดใบบวบหอม วิทยาลัยด้านำผลิตภัณฑ์ดังกล่าวไปข้าร่วมแข่งขันในการประชุมวิชาการองค์การเกษตรกรในอนาคตแห่งประเทศไทยในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ระดับภาค ภาคกลาง ครั้งที่ 41 และได้รับรางวัลมาตรฐานเหรียญทอง
นอกจากนี้ได้มีการขยายผลไปยังสถานศึกษาอื่น ๆ ได้แก่ โรงเรียนสุนทโรเมตตาประชาสรรค์ ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเทศบาลตำบลบางพูน และนักเรียนแลกเปลี่ยนจากประเทศสาธารณรัฐอินโดนีเซีย ชุมชนวัดบางพูน รวมถึง การเผยแพร่ความรู้ทางยูทูปและเฟสบุ๊ค อีกทั้งดำเนินการเชิงพาณิชย์ในร้านค้าวิทยาลัย และออนไลน์ทางชอปปี้ เฟสบุ๊คอีกด้วย จากการริเริ่มเกษตรกรรมแบบอินทรีย์ด้วยความพยายามและความตั้งใจในการสืบสานองค์ความรู้และเกษตรชีววิถี ทำให้วิทยาลัยได้รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ระดับชาติ ประเภทที่ 6 การขยายผลสู่โรงเรียน ของโครงการชีววิถีเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ในปี 2561 และปี 2562
ผู้อำนวยการวิทยาลัย ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า เนื่องจากปัจจุบันได้เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก ทำให้หน่วยงาน บริษัท ห้างร้าน และธุรกิจต้องหยุดชะงัก ไม่สามารถเปิดทำการได้ บางแห่งต้องปิดตัวลง เกิดภาวะการว่างงาน หรือเลิกจ้าง ประชาชนมีรายได้ลดลง รัฐบาลจึงมีนโยบายช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน และเป็นการแบ่งเบาภาระในเรื่องค่าใช่จ่าย วิทยาลัยฯ จึงได้จัดทำ "โครงการ อาหารปลอดภัย ร่วมใจสู้ภัยโควิด-19" จำหน่ายผลิตผลการเกษตรของวิทยาลัยฯ ในราคาพิเศษ เพื่อแบ่งเบาภาระประชาชนในเขตพื้นที่ชุมชนวัดบางพูน และพื้นที่ใกล้เคียงในจังหวัดปทุมธานี ทุกวันพุธ โดยนำผลิตผลจากแปลงชีววิถีออกจำหน่าย ทั้งปลาดุก กบ ผักที่ผลิตโดยระบบไฮโดรโปนิกส์ ที่ได้รับมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี Good Agricultural Practice (GAP) เช่น ผักกาด ผักคะน้า ผักกวางตุ้ง ไข่ไก่ กบ และปลาดุก โดยจัดจำหน่ายผักในราคาถุงละ 10 บาท จำพวกเนื้อสัตว์ ปลาดุก กบ กิโลกรัมละ 40 บาท และไข่ไก่ 10 ฟอง (1 แพ็ค) ราคา 33 บาท
เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวปิดท้ายว่า ผลผลิตทางการเกษตรที่ได้มานี้ เกิดขึ้นจากการดำเนินการตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 และความร่วมมือร่วมใจของนักเรียน นักศึกษาอาชีวศึกษาเกษตร ที่นำความรู้จากการเรียนมาใช้ปฏิบัติงานจริง ลงมือทำจริง จนสามารถช่วยเหลือตนเอง ประชาชนและสังคมได้ เรียนเกษตรกับอาชีวะ จึงเป็นความรู้ที่จับต้องได้ และเป็นความยั่งยืนในการประกอบอาชีพอย่างแท้จริง