“ผ้าทอพื้นบ้าน” สานสายใยชุมชนที่ ร.ร.บ้านไม้ตะเคียน ซึมซับ “วิถี” เรียนรู้ “ภูมิปัญญา” เพื่อพัฒนาสู่ “ทักษะอาชีพ”

ข่าวทั่วไป Friday May 29, 2020 08:04 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--29 พ.ค.--ไอแอมพีอาร์ ที่ตำบลตะเคียนปม อำเภอทุ่งหัวช้าง จังหวัดลำพูน เป็นแหล่งผลิตผ้าฝ้ายและผ้าทอพื้นเมืองที่มีชื่อเสียงมายาวนาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรรมวิธีการผลิตในขั้นตอนต่างๆ ที่ยังคงอนุรักษ์แบบดั้งเดิมเอาไว้ และใช้สีย้อมผ้าที่มาจากธรรมชาติทั้งหมด ซึ่งภูมิปัญญาเรื่องของการทอผ้าและการย้อมสีของชุมชนแห่งนี้มีได้รับการยอมรับในระดับโลก โดยเป็นหนึ่งในผู้ผลิตสินค้าให้กับ คิงเพาเวอร์ (KingPower) ในชุด Thai Natural Dye Collection เพื่อนำไปจำหน่ายเป็นสินค้าที่ระลึกประเภทต่างๆ ให้กับทีมจิ้งจอกน้ำเงิน “เลสเตอร์ ซิตี้” สโมสรฟุตบอลชื่อดังของประเทศอังกฤษ เมื่อมี “ต้นทุน” ที่ดีคือ “ภูมิปัญญาการทอผ้า” คณะครูของโรงเรียนบ้านไม้ตะเคียน ซึ่งเป็นโรงเรียนขยายโอกาส จึงได้ชักชวนเด็กนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นจำนวนหนึ่งที่สนใจ มาร่วมกันศึกษาเรียนรู้ภูมิปัญญาพื้นบ้าน ด้วยการจัดทำ “โครงการผ้าทอหลากสี เชื่อมสายใยชุมชนและโรงเรียนบ้านไม้ตะเคียน” โดยมี โครงการหนุนเสริมศักยภาพและพัฒนากระบวนการเรียนรู้เชิงสร้างสรรค์แก่เด็กและเยาวชนจังหวัดลำพูน คอยให้คำปรึกษา ภายใต้การสนับสนุนจาก สำนักสร้างสรรค์โอกาส สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อร่วมกันต่อยอดองค์ความรู้ของชุมชนไปสู่การสร้างทักษะอาชีพให้กับเยาวชนในพื้นที่ “พื้นฐานของเด็กนักเรียนของเราซึ่งเป็นโรงเรียนขยายโอกาส แค่ชื่อก็บอกแล้ว ดังนั้นการที่จะไปมุ่งเน้นหรือวิ่งตามที่ตัวชี้วัดเพียงอย่างเดียว ก็อาจจะไม่สอดคล้องกับต้นทุนของเด็กๆ ที่มีอยู่ โดยเฉพาะด้านการศึกษาที่อาจจะด้อยกว่าภายนอก ดังนั้นถ้าหากเรามองที่อนาคต ก็คงต้องหาโอกาสที่จะทำให้พวกเขาสามารถพลิกชีวิตของตัวเองได้ ซึ่งในชุมชนของเรามีต้นทุนที่ดีทั้งภูมิปัญญาและตัวบุคคลอยู่แล้ว ทำอย่างไรที่จะใช้หรือพัฒนาสิ่งเหล่านี้ให้กลายเป็นต้นทุนชีวิตของพวกเขา ซึ่งถ้ามีความมุ่งมั่นตั้งใจก็น่าจะเป็นไปได้เพราะระบบการตลาดและการค้าออนไลน์ จะทำให้โอกาสต่างๆ เข้ามาถึงได้แม้ในชุมชนที่ห่างไกล” นายบัณฑิต กันธิวัง ผู้อำนวยการโรงเรียนฯ กล่าว นั่นเป็นเพราะว่าการดำเนินต่างๆ ภายใต้โครงการนี้นอกจากเด็กๆ จะได้ศึกษาเรียนรู้ที่มาของ “สี” จากพืชแต่ละชนิดที่มีอยู่ในชุมชนของพวกเขาแล้ว ยังได้ไปศึกษาดูงานกระบวนการ “ย้อม” ผ้าฝ้ายในกรรมวิธีที่ต่างกันคือ “ย้อมร้อน” และ “ย้อมเย็น” ในระหว่างที่ลงไปในชุมชน พวกเขาก็จะได้เข้าไปเรียนรู้เรื่องราวต่างๆ จากวิทยากรซึ่งเป็นคุณป้าคุณยายในชุมชนว่า กระบวนการกว่าที่จะได้มาของผ้าทอสักผืนนั้นเริ่มต้นจากอะไรบ้าง แต่เป้าหมายหรือผลลัพธ์สุดท้ายนั้นกลับน่าสนใจยิ่งกว่าเพราะนั่นคือการสร้างสรรค์ผลงานของตนเอง และจำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์ นายวิโรจน์ คำธิยะ ครูที่ปรึกษาโครงการฯ และเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าทอพื้นเมืองของชุมชนแห่งนี้เล่าให้ฟังว่า นอกจากที่เด็กๆ จะได้ไปเรียนรู้กระบวนการต่างๆ จากในชุมชนแล้ว พวกเขายังได้ทดลองฝึกปฏิบัติในทุกขั้นตอน ตั้งแต่การแกะฝ้าย มัดฝ้าย วิธีการเอาไขมันในฝ้ายออก การปั่นฝ้าย นำฝ้ายไปย้อม ทอผ้า ปักลวดลาย จนได้มาเป็นผลิตภัณฑ์หรือชิ้นงานของตนเอง “ก่อนที่จะเริ่มโครงการผมได้พาเด็กไปดูสถานที่ๆ ขายงาน Handmade และงาน Craft ต่างๆ ในจังหวัดเชียงใหม่ เช่น ย่านสันกำแพง และชุมชนโหล่งฮิมคาว เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้กับพวกเขา ที่ถ้ามีผลงานดีๆ ก็สามารถนำไปเสนอให้ร้านค้าได้ ซึ่งการขายแบบนี้เป็นการขายแบบ Off Line แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดในตอนนี้ก็คือ การขายของแบบ Online เมื่อจบกระบวนการเรียนรู้ทั้งหมดพวกเขาจะต้องนำชิ้นงานมานำเสนอผ่านช่องทางออนไลน์ต่างๆ เรียนรู้วิธีการขาย การพรีเซนต์สินค้า การนำเรื่องราวต่างๆ มาสร้างคุณค่าให้กับผลิตภัณฑ์ของพวกเขาให้มีมูลค่าที่สูงขึ้น” น.ส.ฉัตรแก้ว เป็งนันต๊ะ (หมวย), น.ส.เบญญาภา ศรีวิชัย (ปีโป้), น.ส.ธัญรัตน์ อินทร์ตา(กิ๊บ) และ นายสุทธิชัย อุวงค์ (ซูชัย) นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 แกนนำของโครงการฯ ช่วยกันอธิบายให้ฟังว่าผ้าทอพื้นบ้านในชุมชนของพวกเขานั้นมีจุดเด่นคือการใช้สีจากธรรมชาติ อย่าง สีส้ม-สีแสดจะได้จากผลของต้นคำเงาะ, สีแดงได้จากเปลือกไม้ประดู่, สีเหลืองได้จากไม้เพกา, สีชมพูได้จากต้นยาอุนะ, สีน้ำเงินได้จากฮ้อม, สีทำ-ดำได้จากต้นมะเกลือ และสีส้มได้มาจากดินลูกรังหรือดินแดง และทุกขั้นตอนจะไม่มีการใช้สารเคมีเลย “คุณครูพาไปดูงานที่เชียงใหม่ พอเห็นผ้าที่มีลวดลายสีสันต่างๆ ที่แปลกตาไปจากที่บ้านทำอยู่ก็ยิ่งน่าสนใจ แล้วก็ทำให้ทราบว่าสินค้าเหล่านี้มีราคาแพงเพราะอะไร เพราะลวดลาย สีสัน และการออกแบบและมีความคิดสร้างสรรค์” น้องหมวย เล่าถึงสิ่งที่ได้ค้นพบ “เราสามารถใช้เวลาว่างในการผลิตสินค้า เพื่อจำหน่ายหาเป็นรายได้พิเศษได้ ถ้าเราประยุกต์ให้เป็นผลงานที่มีความคิดสร้างสรรค์มากกว่าแบบเดิมๆ ที่ทำอยู่” น้องปีโป้ กล่าวอย่างมั่นใจ “ตอนนี้เรามีแกนนำอยู่ 10 คน พอเรียนรู้แล้วก็จะนำไปถ่ายทอดต่อให้กับเพื่อนๆ และน้องๆ ในโรงเรียน” น้องกิ๊บ บอกถึงแผนงานต่อไปจากนี้ “อย่างน้อยถ้าเราไปสอนน้องๆ ให้ทำได้ เราก็จะสามารถทำผลิตภัณฑ์ต่างๆ ไว้ใช้ได้เองโดยไม่ต้องซื้อ และยังสามารถผลิตขายได้ถ้าทำให้สวยๆ” น้องซูชัย กล่าว “ในอนาคตข้างหน้ามีคนบอกว่า Ai จะมาแทนที่มนุษย์ในหลายด้านๆ แต่สิ่งหนึ่งที่ผมเชื่อมั่นว่า Ai ไม่สามารถแทนที่ได้ สิ่งเหล่านั้นก็คือภูมิปัญญา สิ่งที่เป็นศิลปะ สิ่งที่เกิดขึ้นจากความคิดสร้างสรรค์ เมื่อเด็กๆ ได้ซึมซับเรื่องราวเหล่านี้เอาไว้ ในวันข้างหน้าที่เขาจะต้องไปสู้กับ Ai พวกเขาก็จะสามารถดึงเอาองค์ความรู้เหล่านี้ออกมาใช้เพื่อที่จะอยู่เหนือระบบ Ai ได้” ครูวิโรจน์ คำธิยะ กล่าวสรุป ผ้าทอหลากสีที่ทางโรงเรียนและชุมชนได้ทำงานร่วมกันผ่านเด็กนักเรียน ซึ่งเป็นลูกหลานของชาวตะเคียนปม จึงเป็นการช่วยสืบสานภูมิปัญญาอันทรงคุณค่าของท้องถิ่น ที่ไม่เพียงแต่จะทำให้องค์ความรู้ต่างๆ ไม่เลือนหายไปแล้ว ยังเป็นการเพิ่ม “คนรุ่นใหม่” ที่มีพลัง “ความคิดสร้างสรรค์” และ “ความรู้ด้านเทคโนโลยี” สมัยใหม่เข้าไปสู่ระบบการผลิตและการตลาดผ้าทอพื้นเมือง ที่สามารถช่วยพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิต สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ ให้กับผ้าทอพื้นบ้านของชาวตะเคียนปมได้เป็นอย่างดีนับจากนี้.

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ