กรุงเทพฯ--29 พ.ค.--โครงการสื่อสารแผนงานระบบสื่อและวิถีสุขภาวะทางปัญญา สสส.
ปลดล็อคเด็กเล็ก-เด็กปฐมวัยไม่เหมาะเรียนหน้าจอ ย้ำชัดโรงเรียนจำเป็นต้องเปิด ชูการเรียนยุค New Normal พ่อแม่ต้องมีส่วนร่วมในการเรียนรู้ของเด็ก
สถาบันสื่อเด็กและเยาวชน (สสย.) และเครือข่ายเล่นเปลี่ยนโลก ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดเวทีเสวนาออนไลน์ “ปิดเมือง...ต้องไม่ปิดโลกการเรียนรู้ของเด็ก : ตอน ปลดล็อคเด็กเล็กจากเรียนหน้าจอ” เปิดประเด็นถกปัญหาสถานการณ์เรียนออนไลน์ในกลุ่มเด็กเล็ก พร้อมหาทางออกของแนวทางการจัดการศึกษาและการเรียนรู้ในยุค New Normal โดยมี นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ ที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข และประธานมูลนิธิส่งเสริมสื่อเด็กและเยาวชน เข้าร่วมแลกเปลี่ยนร่วมกับเครือข่ายเล่นเปลี่ยนโลก คุณครูจากศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก และผู้ปกครองจากครอบครัวทั้งใน กทม. และต่างจังหวัด
คุณเข็มพร วิรุณราพันธ์ ผู้อำนวยการสถาบันสื่อเด็กและเยาวชน ได้เปิดประเด็นถึงที่มาของการเสวนาออนไลน์ในครั้งนี้ว่า "สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบถึงการศึกษาและการเรียนรู้ของเด็ก โดยเฉพาะช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา เกิดกระแสของการที่ทั้งโรงเรียนและผู้ปกครอง ต่างคร่ำเคร่งกับการเตรียมพร้อมการเรียนรู้ให้กับเด็กผ่านทางหน้าจอทีวีและการเรียนออนไลน์ ทำให้เกิดปัญหาหลายอย่างขึ้น มีการสำรวจพบว่าเด็ก ๆ ในหลายครอบครัวใช้เวลาหน้าจอเพิ่มขึ้นถึง 7 ชั่วโมงต่อวัน กลุ่มผู้ปกครองเกิดความเชื่อว่าการปล่อยเด็กทิ้งไว้ให้อยู่กับหน้าจอดีกว่าการให้เด็กออกไปเสี่ยงรับเชื้อโควิด-19 ดังนั้น จุดประสงค์ของการเสวนาออนไลน์ครั้งนี้ จึงเป็นไปเพื่อเป็นการรับฟังเสียงผู้เกี่ยวข้อง นำสู่การหาทางออกและการแก้ไขปัญหา เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ของเด็กให้เกิดขึ้นให้ได้มากที่สุด โดยจะเน้นประเด็นไปที่เด็กเล็กหรือเด็กปฐมวัย ซึ่งเป็นช่วงวัยสำคัญที่กำลังเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ว่าเหมาะสมหรือไม่กับการให้เด็กต้องเรียนรู้ผ่านหน้าจอ"
นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ ที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุขและประธานมูลนิธิส่งเสริมสื่อเด็กและเยาวชน ได้กล่าวแสดงความเห็นในประเด็นนี้ว่า "การเรียนรู้ผ่านหน้าจอมี 2 แบบคือการเรียนออนไลน์และการเรียนออนแอร์คือการเรียนผ่านทีวี สำหรับเด็กเล็กและเด็กปฐมวัย ด้วยวัยนั้นไม่เหมาะจะเรียนออนไลน์ ที่ผ่านมาจึงมีการให้เด็กเล็กเรียนรู้ผ่านออนแอร์หรือทีวี ซึ่งเป็นการเรียนรู้ที่เป็นไปในลักษณะ Passive ไม่ใช่ Active จึงเป็นการเรียนรู้ที่มีคุณภาพต่ำมาก ทั้งนี้ การไปโรงเรียนเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับเด็กเล็กเพราะการเสริมสร้างพัฒนาการและสมรรถนะการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัยทุกด้านจำเป็นต้องอาศัยการเรียนรู้แบบมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างครูและเด็ก นอกจานี้โรงเรียนยังมีส่วนในการสร้างพัฒนาการทางสังคม ซึ่งเป็นการเรียนรู้ที่ไม่มีอยู่ในตำราหรือหนังสือ และในอีกด้านโรงเรียนยังเป็นสวัสดิการของสังคม เมื่อเด็กไปโรงเรียน เขาจะได้ทานอาหารกลางวันที่มีคุณภาพ ได้ดื่มนม หรือในกรณีที่เด็กได้รับการละเมิดหรือความรุนแรงในครอบครัว โรงเรียนจะเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยดูแลตรงนี้ได้เป็นอย่างดี"
อย่างไรก็ตาม คุณหมอยงยุทธยังได้เน้นย้ำว่า เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องยอมรับความจริงว่า การศึกษาของเด็กในยุคโควิด-19 ต้องปรับตัวเข้าสู่ชีวิตวิถีใหม่หรือ New Normal เช่นเดียวกัน การจัดการความปลอดภัยทั้งเรื่องการใส่หน้ากาก ล้างมือ รักษาระยะห่าง เป็นเรื่องสำคัญ โรงเรียนจำเป็นต้องปรับรูปแบบการบริหารจัดการการเรียนรู้ เด็กจะไปโรงเรียนในระยะเวลาที่สั้นลง อยู่บ้านมากขึ้น ขณะเดียวกันพ่อแม่ต้องทบทวนตัวเองและก้าวเข้ามามีบทบาทในการส่งเสริมการเรียนรู้ให้กับลูกมากยิ่งขึ้น
โดยคุณหมอยงยุทธได้แนะนำวิธีการจัดตารางเวลาเรียนรู้ให้เด็กอย่างสมดุลด้วยการจัดกิจกรรมสร้างสรรค์ 3 รูปแบบผสมผสานกัน "เวลาที่เด็กอยู่กับคุณพ่อคุณแม่ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์ตอนนี้ที่อยู่บ้านทั้งวัน หรือในอนาคตที่จะไปโรงเรียนร่วมกับอยู่บ้าน ขอให้คุณพ่อคุณแม่ช่วยจัดตารางเวลาโดยบรรจุกิจกรรมสร้างสรรค์ 3 รูปแบบผสมผสานกัน ได้แก่ 1. การเล่นแบบอิสระ เปิดโอกาสให้เด็กคิดเองว่าเขาอยากทำอะไร เล่นอะไร การเคลื่อนไหวทางกายอย่างอิสระ การทำงานศิลปะแบบต่างๆ ฯลฯ 2. ฝึกทักษะชีวิตผ่านกิจวัตรประจำวันร่วมกับคุณพ่อคุณแม่ เช่น การทำงานบ้าน เด็กจะได้เรียนรู้วินัย ความรับผิดชอบ ฯลฯ และ 3. กิจกรรมการส่งเสริมการเรียนรู้ทางอ้อม เช่น การอ่านหนังสือ การเขียนไดอารี่ ฯลฯ วิธีนี้จะช่วยให้เด็กบริหารเวลาได้ ไม่ต้องจมอยู่กับหน้าจอตลอดทั้งวัน"
ด้านคุณพ่อคุณแม่ตัวแทนครอบครัวทั้งในกรุงเทพฯ ต่างจังหวัด รวมถึงคุณครูจากศูนย์พัฒนาเด็กเล็กได้กล่าวตรงกันว่า ในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา เด็ก ๆ ส่วนใหญ่โดยเฉพาะเด็กเล็กจะมีปัญหาเมื่อต้องเรียนออนไลน์ เด็กจะเบื่อและไม่สนุก คุณพ่อคุณแม่จึงหันมาส่งเสริมจัดการเรียนรู้ให้เด็กด้วยตัวเอง ทั้งในรูปแบบการเรียนรู้ในกิจวัตรประจำวัน เข้าสวน ขุดดิน ปลูกผัก ทำอาหารกับคุณพ่อคุณแม่ ฯลฯ และการปล่อยให้ลูกได้เล่นอิสระ ทั้งนี้เด็ก ๆ ในเขตเมืองจะมีข้อจำกัดมากกว่าเด็กต่างจังหวัดในเรื่องพื้นที่ของการเล่น คุณครู ศพด.เป็นกลไกสำคัญที่จะทำงานร่วมกับผู้ปกครองเพื่อส่งเสริมให้ผู้ปกครองมีความรู้ความเข้าใจ สามารถจัดกิจกรรมเล่นกับเด็กๆ ได้แม้ว่าจะเป็นการเล่นในบ้านก็ตาม
ขณะที่คุณประสพสุข โบราณมูล ผู้ประสานงานเครือข่ายเล่นเปลี่ยนโลก ได้กล่าวข้อเสนอต่อกระทรวงศึกษาธิการและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องว่า "ควรมีการกำหนดอย่างชัดเจนว่า ยกเลิกการเรียน DLTV และการเรียนออนไลน์ของเด็กเล็กและเด็กวัยประถม ควรเน้นส่งเสริมการเล่นอิสระและเรียนรู้ประสบการณ์ชีวิตตามบริบทท้องถิ่น ขณะเดียวกันก็ควรจัดทำเนื้อหาการสอนออนไลน์ให้กับผู้ปกครองเรื่องของการเล่นเพื่อการส่งเสริมการเรียนรู้ในเด็ก ส่งเสริมให้ผู้ปกครองเป็นผู้ดูแลการเล่นหรือ Play worker ให้กับลูก เพื่อให้เด็ก ๆ เติบโตเรียนรู้ด้วยความสุขตามวัยและธรรมชาติ รวมถึงการให้สิทธิครู ผู้ปกครอง และชุมชนออกแบบการเรียนรู้ที่มีรูปแบบที่หลากหลายตามบริบทท้องถิ่นและควรให้ทดแทนเป็นรายวิชาสร้างเสริมประสบการณ์ชีวิตเลย”