ดับไฟป่า วาระแห่งชาติ รักษาต้นทุนทุกชีวิต จุฬาฯ รุกงานวิจัยสร้างนวัตกรรมลดการเกิดไฟป่า สร้างความตระหนักให้สังคม

ข่าวทั่วไป Friday May 29, 2020 13:08 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--29 พ.ค.--จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แม้จะไม่เป็นข่าวที่ครองพื้นที่สื่อเท่ากับสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 แต่การเกิดไฟป่าในจังหวัดเชียงใหม่เมื่อช่วงต้นปี 2563 ที่ผ่านมาก็เป็นภัยพิบัติร้ายแรงไม่แพ้กัน ไฟผลาญพื้นที่ป่าไปกว่า 2,500 ไร่ พืชพรรณไม้ถูกทำลาย สัตว์ป่าล้มตายและบาดเจ็บ หมอกควันและฝุ่นพิษ PM 2.5 ฟุ้งกระจาย ผืนดินแห้งแล้ง แหล่งน้ำเหือด ความเสียหายต่อระบบนิเวศเหล่านี้ส่งผลต่อสุขภาพและคุณภาพชีวิตของผู้คนโดยถ้วนหน้า เป็นปัญหาที่ทุกภาคส่วนในสังคมควรตระหนักและร่วมกันแก้ไขและป้องกัน “การรักษาป่าเป็นเรื่องของเราทุกคนและประเทศไทยต้องจริงจังกับเรื่องนี้เสียที” อ.ดร.กัลยา สุนทรวงศ์สกุล นักวิชาการจากสถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาฯ กล่าว พร้อมเผยถึงภัยเงียบจากไฟป่าที่ยังไม่เป็นที่พูดถึงนัก “การเกิดไฟป่าเชื่อมโยงกับโอกาสในการเกิดโรคข้ามสายพันธุ์และโรคอุบัติใหม่ เมื่อป่าไม้ถูกทำลาย สัตว์ป่าบาดเจ็บและล้มตาย สัตว์ที่รอดไร้ที่อยู่อาศัยและอาหารจึงอพยพเข้ามายังเขตที่มนุษย์อาศัย อย่างที่พบสัตว์ เช่น งู เข้ามาในบ้านของประชาชนที่อยู่ใกล้แนวป่า สัตว์เลี้ยงในฟาร์มปศุสัตว์ที่อยู่ใกล้ขอบชายป่าก็อาจได้รับเชื้อจากสัตว์ป่าที่อพยพเข้ามาด้วย ซึ่งเมื่อมนุษย์บริโภคเนื้อสัตว์จากฟาร์มเหล่านั้นก็อาจจะได้รับเชื้อเข้าไป” เมื่อเกิดไฟป่า สิ่งที่ตามมาอย่างเลี่ยงไม่ได้คือฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 และอนุภาคก๊าซอื่นๆ ที่ก่อให้เกิดการระคายเคืองบนผิวหนัง และส่งผลต่อระบบทางเดินหายใจอย่างรุนแรง โดยเฉพาะกับผู้ป่วย เด็กและผู้สูงอายุ และถึงแม้ไฟจะดับแล้ว ฝุ่นและก๊าซพิษเหล่านี้จะยังคงหมุนเวียนอยู่ในชั้นบรรยากาศ ส่งผลกระทบต่อสายส่งสัญญาณต่างๆ ได้ในอนาคต อ. ดร. กัลยา กล่าวเสริมอีกว่า ไฟป่ายังส่งผลต่อแหล่งน้ำและอาหาร พื้นดินและอากาศบริเวณที่เกิดไฟป่ามีอุณหภูมิสูงขึ้น หน้าดินและธาตุอาหารถูกเผาทำลาย กลายเป็นขี้เถ้า เมื่อฝนตก ขี้เถ้าจะถูกกวาดลงไปอยู่ในแหล่งน้ำ ทำให้แหล่งน้ำตื้นเขิน ส่งผลต่อการเกษตรกรรมและความมั่นคงทางอาหาร ที่สำคัญ หากควบคุมไฟป่าได้ไม่ทันท่วงทีก็อาจทำให้ไฟลามเข้าพื้นที่การเกษตร สร้างความเสียหายต่อผลผลิตและบ้านเรือนประชาชนได้ ผลกระทบจากไฟป่าเป็นเรื่องใกล้ตัวกว่าที่คิด แนวทางการจัดการปัญหาไฟป่าจึงต้องอาศัยการมีส่วนร่วมของภาคชุมชน (community-based participation) โดยประชาชนที่อาศัยอยู่ในชุมชนใกล้บริเวณเขตป่าร่วมมือทำพื้นที่แนวรอบขอบป่าให้เป็นแนวกันไฟ (greenbelt) อ. ดร. กัลยา เสนอ นอกจากนั้น รัฐบาลและองค์กรต่างๆ ใช้องค์ความรู้ข้ามศาสตร์ร่วมมือกัน ส่งเสริมการสร้างรายได้หรืออาชีพเสริมให้ชาวบ้านมีกำลังใจในการปกป้องป่า เช่น การสร้างเกษตรวิถีชุมชนเพื่อสร้างรายได้อย่างยั่งยืน หาพื้นที่ว่างส่งเสริมการปลูกพืชท้องถิ่นเพื่อใช้เลี้ยงสัตว์และบริโภค ส่งเสริมการสร้างแหล่งน้ำชุมชน ชาวบ้านจะต้องมีผู้นำให้ความรู้เพื่อปลูกฝังการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เป็นต้น ปัจจุบัน นอกจากแนวทางการดับไฟป่าที่ใช้สารเคมีและการบรรทุกน้ำไปทิ้งในจุดที่มีการลุกไหม้ หรือการป้องกันแบบทำแนวกันไฟและการวางนโยบายเพื่อป้องกันการเกิดไฟป่าแล้ว จุฬาฯ โดยทีมวิจัยจากภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ ก็ได้วิจัยสร้างนวัตกรรมลดการเกิดไฟป่า โดยใช้พื้นที่ทั่วทั้งจังหวัดน่านเป็นจังหวัดศึกษานำร่องและกำหนดนโยบายด้านอัคคีภัย ดำเนินโครงการติดตั้งเซ็นเซอร์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 พัฒนาระบบเครือข่ายเซ็นเซอร์และระบบภูมิสารสนเทศที่ได้จากข้อมูลดาวเทียม เพื่อติดตามและเฝ้าระวังสถานการณ์หมอกควันจากจุดเผาไหม้ซึ่งสามารถตรวจสอบข้อมูลได้จากเว็บไซต์ cusense.net คุณธวัช งามศรีตระกูล นิสิตปริญญาโทหลักสูตรวิศวกรรมและเทคโนโลยีการป้องกันประเทศ ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ เล่าถึงรูปแบบของไฟป่าที่เกิดในพื้นที่ทางภาคเหนือของประเทศไทยว่า “ไฟป่ามีสองรูปแบบ คือ ไฟเล็มยอด เป็นไฟที่ลุกไหม้ด้านบนลำต้น มีความรุนแรงค่อนข้างสูง ถ้ามีกระแสลมอาจทำให้เกิดสะเก็ดไฟลุกไหม้ในบริเวณใกล้เคียงได้ อีกแบบคือไฟผิวดิน เป็นไฟที่ลุกไหม้ตามเศษใบไม้ที่อยู่บนพื้นดิน “วิธีการดับไฟป่าโดยใช้นวัตกรรมหรือเทคโนโลยีใหม่ เช่น หุ่นยนต์หรือโดรนจะมีประสิทธิภาพดีกับไฟที่เกิดบนผิวดินเท่านั้น ส่วน AI (Artificial Intelligence) สามารถใช้กับงานไฟป่าได้ แต่ต้องมีการศึกษาวิจัยเพิ่มเติม เพราะพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ของประเทศไทยมีความสลับซับซ้อนค่อนข้างสูง เรายังมีข้อมูลไม่เพียงพอ ทั้งเรื่องการเปลี่ยนแปลงของแต่ละพื้นที่ตามสภาพอากาศ และพฤติกรรมมนุษย์ซึ่งเป็นสิ่งที่คาดเดาได้ยาก” ธวัช กล่าว พร้อมเล่าถึงตัวแบบจำลองไฟป่า ซึ่งอยู่ในขั้นตอนศึกษาวิจัยพัฒนา “เราทำตัวแบบจำลองไฟป่าขึ้นเพื่อดูลักษณะการแพร่กระจายของไฟในพื้นที่ว่ามีความรวดเร็วแค่ไหนในสภาพทางอุตุนิยมวิทยา หรือในแต่ละช่วงฤดูกาล เพื่อคาดการณ์ให้หน่วยงานที่ทำหน้าที่ดับไฟป่าเข้าไปดับไฟล่วงหน้าเป็นเวลากี่นาที รวมไปถึงการกำหนดกลยุทธ์ในการปฏิบัติในพื้นที่อื่นๆ” ที่สุดแล้ว การแก้ปัญหาไฟป่าที่ดีที่สุดคือป้องกันไม่ให้เกิดไฟป่า “ทุกคนในสังคมควรตระหนักถึงผลกระทบของไฟป่าที่มีต่อชีวิตและสุขภาพ แล้วให้ความร่วมมือและยึดแนวทางการใช้ชีวิตที่ไม่ก่อให้เกิดไฟป่า โดยเฉพาะประชาชนที่อาศัยอยู่ในชุมชนใกล้บริเวณเขตป่า ร่วมมือกันกับชุมชนอื่นๆ และหน่วยงานปกครองในพื้นที่นั้นๆ จัดชุดลาดตระเวนเข้าไปสำรวจพื้นที่ป่า และจัดการกับเศษใบไม้ที่ร่วงหล่นทับถมในเขตพื้นที่ของตนเป็นประจำ” ธวัช กล่าวทิ้งท้าย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ