องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก_โควิด-19 บอกอะไรเราเกี่ยวกับการยุติผสมพันธุ์เสือในกรงเลี้ยง?

ข่าวทั่วไป Monday June 1, 2020 16:19 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--1 มิ.ย.--พีอาร์ โปร เอเชีย ภาพเสือที่ถูกปล่อยให้ร้องโหยหวนอยู่ภายในสวนสัตว์ร้าง จังหวัดภูเก็ต ที่กำลังเป็นกระแสบนโลกโซเชียลมีเดีย รวมไปถึงข่าวช้างและควาญช้างตามแหล่งท่องเที่ยวมากมายทั่วประเทศถูกลอยแพจนต้องอพยพกลับบ้าน ล้วนแล้วแต่สะท้อนให้เห็นว่า การระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือโควิด-19 ไม่ได้แค่ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิต เศรษฐกิจ และสังคมของคนทั่วโลกเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบต่อสวัสดิภาพของสัตว์ป่าด้วย โดยเฉพาะสัตว์ป่าที่ถูกนำมาหาประโยชน์ในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและความบันเทิงของมนุษย์ ปัจจุบันเมื่อสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศเริ่มดีขึ้นเรื่อยๆ ถึงเวลาแล้วที่เราต้องกลับมาพูดเรื่องสวัสดิภาพสัตว์ในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและความบันเทิงกันอย่างจริงจังอีกครั้ง โดยความโกลาหลที่เกิดขึ้นจากโรคระบาดรอบนี้สะท้อนให้เห็นว่า การทำธุรกิจที่ผ่านมาไม่มีความยั่งยืนและไม่พร้อมรับมือต่อสถานการณ์วิกฤต ยิ่งไปกว่านั้นข้อมูลจากหลายแหล่งต่างระบุว่า โควิด-19 อาจมีต้นตอมาจากการบริโภคสัตว์ป่าในประเทศจีน ก็ยิ่งชี้ให้เห็นว่าการหาประโยชน์จากสัตว์ป่าเป็นอันตรายทั้งต่อสัตว์ป่า สิ่งแวดล้อม และความปลอดภัยของมนุษย์เองด้วย ด้วยความน่ารัก แปลกใหม่ และน่าเกรงขามของสัตว์ป่าอาจเป็นสิ่งที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวจำนวนมากให้เสียเงินเข้าไปชมพวกมันตามสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ เพื่อความบันเทิงและถ่ายรูปเท่ๆ ลงโซเชียลมีเดีย แต่หลายคนอาจมองข้ามไปว่าความสนุกสนานแค่ผิวเผินเหล่านี้ กลับต้องแลกมาด้วยความทุกข์ทรมานแสนสาหัสของสัตว์ป่าในกรง พวกมันไม่มีโอกาสได้แสดงพฤติกรรมตามธรรมชาติ ต้องกักถูกขัง ถูกฝึกแสดงโชว์ และกลายเป็นสินค้าเพื่อความบันเทิงของมนุษย์ไปตลอดชีวิต เสือในกรงเลี้ยง: ความทารุณที่ถูกมองข้าม เสือ คือ หนึ่งในสัตว์ป่าที่ถูกนำมาหาประโยชน์ด้านการท่องเที่ยวและความบันเทิงกันอย่างกว้างขวางในประเทศไทย จากข้อมูลของ องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศไทย (World Animal Protection) ภายใต้โครงการสัตว์ป่าไม่ใช่นักแสดง (Wildlife. Not Entertainers.) พบว่า ที่ผ่านมาแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ มีการนำเสือมาใช้งานหลายรูปแบบ เช่น การแสดงโชว์ การเป็นแบบให้นักท่องเที่ยวถ่ายเซลฟี่ ป้อนนม ให้อาหาร ฯลฯ ซึ่งเสือเหล่านี้จะต้องถูกฝึกแยกจากพ่อแม่ตั้งแต่ยังเล็ก โดยนำมาฝึกด้วยวิธีการต่างๆ เพื่อกดทับพฤติกรรมตามธรรมชาติและแสดงพฤติกรรมที่เจ้าของธุรกิจต้องการ นายสมศักดิ์ สุนทรนวภัทร หัวหน้าฝ่ายรณรงค์ องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศไทย ผู้ที่ทำงานด้านสัตว์ป่าในประเทศไทยมาหลายสิบปี อธิบายกระบวนการฝึกเสือว่า “วิธีการฝึกเสือแน่นอนว่ามีการใช้ความรุนแรงด้วย ตั้งแต่การดึงหนวด ดึงหาง เตะ ถีบ ทำร้ายร่างกาย รวมไปถึงการไม่ให้อาหารถ้าเสือไม่ยอมทำตาม ซึ่งสร้างบาดแผลทั้งทางร่างกายและจิตใจให้กับเสือ” “นอกจากนี้ ตามปกติเสือในป่าแต่ละตัวจะต้องมีอาณาเขตของตัวเอง ตัวละประมาณ 30 – 70 กิโลเมตร เพื่อออกหากินตอนกลางคืน ดังนั้นการถูกกักขังในกรงที่คับแคบตามแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ แบบนี้เท่ากับว่าพวกมันไม่มีพื้นที่ให้ได้แสดงพฤติกรรมตามธรรมชาติเลย เป็นการจำกัดอิสรภาพของสัตว์ป่าที่โหดร้ายอย่างมาก” สมศักดิ์กล่าว การผสมพันธุ์ในกรงเลี้ยงไม่ใช่การอนุรักษ์ ปัจจุบัน ประเทศไทยมีเสือในกรงเลี้ยงกว่า 1,500 ตัว จากข้อมูลของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และรายงานขององค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกเองพบว่า จำนวนเสือในกรงเลี้ยงเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมบันเทิงเหล่านี้เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากในรอบสิบปีที่ผ่านมา แต่ตัวเลขที่เพิ่มขึ้นไม่ใช่เรื่องดีเสมอไป เพราะต้องไม่ลืมว่าเสือเหล่านี้เป็นเสือที่ถูกเร่งผสมพันธุ์เพื่อป้อนเข้าสู่โลกอุตสาหกรรม ไม่ใช่เพื่อการอนุรักษ์อย่างยั่งยืนแต่อย่างใด ที่สำคัญ เสือในกรงเลี้ยงส่วนใหญ่ในประเทศไทยเป็นเสือโคร่งเบงกอลหรือเสือโคร่งไซบีเรีย ซึ่งไม่ใช่สายพันธุ์ท้องถิ่นของไทย ดังนั้นหากมีการปล่อยเสือที่ถูกผสมพันธุ์ในกรงเลี้ยงสู่ป่าจริง พวกมันก็จะไม่สามารถใช้ชีวิตอยู่ในป่าประเทศไทยได้อยู่ดี และอาจทำลายสมดุลของระบบนิเวศตามธรรมชาติด้วย ยังไม่รวมถึงประเด็นที่ว่าเสือเหล่านี้มักถูกผสมพันธุ์แบบเลือดชิด (ผสมพันธุ์กับสมาชิกครอบครัว) ส่งผลให้หลายตัวมีร่างกายไม่แข็งแรงสมบูรณ์หรือพิการ เพียงเพราะความโลภของมนุษย์ เมื่อสองปีก่อน คณะกรรมการอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (CITES) ได้ส่งหนังสือเตือนรัฐบาลไทยว่า มีจำนวนเสือในกรงเลี้ยงมากเกินไป เสี่ยงต่อการลักลอบค้าเสืออย่างผิดกฎหมาย ทั้งนี้เพราะการผสมพันธุ์เสือในกรงเลี้ยงยังเป็นช่องโหว่ที่อาจเปิดทางให้เกิดการค้าขายชิ้นส่วนเสืออย่างผิดกฎหมายได้ ตั้งแต่การนำชิ้นส่วนอย่างเขี้ยวเล็บไปเป็นเครื่องประดับ ไปจนถึงการนำกระดูกไปทำยาแผนโบราณมูลค่ามหาศาล สร้างการเปลี่ยนแปลงเพื่อเสือ เพื่อสิ่งแวดล้อม เพื่อตัวเราเอง โครงการสัตว์ป่าไม่ใช่นักแสดง (Wildlife. Not Entertainers.) ขององค์การพิทักษ์สัตว์แห่งโลก มองเห็นปัญหาทั้งหมดนี้มาโดยตลอด จึงได้มีการรณรงค์กับผู้ที่รักสัตว์และประชาชนทั่วไปให้เข้าใจเบื้องลึกเบื้องหลังของเสือในกรงเลี้ยงอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนเสนอรัฐบาลไทยยุติการผสมพันธุ์เสือในกรงเลี้ยงอย่างถาวร ปัจจุบันมีผู้ร่วมลงชื่อสนับสนุนข้อเรียกร้องนี้แล้วมากกว่า 10,000 คน นายปัญจเดช สิงห์โท ที่ปรึกษาด้านนโยบาย องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศไทย เปิดเผยว่า “แน่นอนว่าเราสนับสนุนการอนุรักษ์อย่างเหมาะสมและไม่อยากเห็นการสูญพันธุ์ของสัตว์ป่า โดยเฉพาะการผสมพันธุ์เสือในกรงเลี้ยงเป็นเพียงการป้อนสัตว์ป่าเข้าสู่วงจรธุรกิจที่โหดร้ายเพื่อผลประโยชน์ทางธุรกิจของคนไม่กี่คนเท่านั้น ไม่ได้ช่วยให้การอนุรักษ์มีประสิทธิภาพมากขึ้นแต่อย่างใด” “เรายื่นขอแก้ไข พ.ร.บ. สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ว่าด้วยการผสมพันธุ์สัตว์ป่า โดยให้ยุติการผสมพันธุ์เสือที่ไม่ใช่เพื่อวัตถุประสงค์ของการอนุรักษ์อย่างถาวร ซึ่งเป็นแนวทางที่ยั่งยืนที่สุดต่อเสือ สิ่งแวดล้อม และต่อตัวเราเอง ในขณะเดียวกันก็ต้องทำควบคู่ไปกับเรื่องเฉพาะหน้า คือการพัฒนาสวัสดิภาพของสัตว์ที่มีชีวิตอยู่ในกรงเลี้ยงเช่นกัน โดยเฉพาะการปรับปรุงมาตรฐานการจัดการสวนสัตว์ทั้งด้านสภาพแวดล้อม โภชนาการ สุขาภิบาล การบำบัดน้ำเสีย และการควบคุมโรค” ปัญจเดชอธิบายเพิ่มเติม การกักตัวอยู่ในบ้านช่วงที่โควิด-19 ระบาดหนักแค่ไม่กี่สัปดาห์ยังทำให้หลายคนต้องตัดพ้อ เพราะถูกจำกัดไม่ให้ทำกิจกรรมหลายอย่างที่ตัวเองต้องการ แต่นั่นยังเทียบไม่ได้เลยกับเสือในกรงเลี้ยงที่ขาดอิสรภาพและถูกใช้เป็นสินค้าตลอดชีวิต ถ้าคุณเป็นเสือจะรู้สึกอย่างไร? ถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราจะต้องฉุกคิดและร่วมกันสร้างการเปลี่ยนแปลงเพื่อโลกที่ดีกว่าเดิม? ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการยุติการผสมพันธุ์เสือในกรงเลี้ยงกับเราที่ www.worldanimalprotection.or.th/tiger-breeding-ban ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกได้ที่ www.worldanimalprotection.or.th เกี่ยวกับองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก หรือ World Animal Protection เป็นองค์กรเพื่อคุ้มครองปกป้องสวัสดิภาพสัตว์ และยุติการทารุณกรรมสัตว์อย่างถาวร โดยสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่ประเทศอังกฤษ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2524 มีบทบาทในการให้คำปรึกษากับองค์การสหประชาชาติและสภายุโรป ทำงานร่วมกับภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา เพื่อยกระดับสวัสดิภาพสัตว์ สร้างความแตกต่างให้สัตว์ได้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ไม่ถูกทารุณกรรมทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยดำเนินงานครอบคลุมทั้งสัตว์ในชุมชน – สุนัข , สัตว์ป่า, สัตว์ประสบภัยพิบัติ - ช่วยเหลือสัตว์ในภาวะภัยพิบัติ การจัดหาอาหาร ที่อยู่และยารักษาโรคให้กับสัตว์, สัตว์ในฟาร์ม รวมถึงการให้ความรู้ด้านปศุสัตว์ที่มีมนุษยธรรมอันส่งผลต่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของคนและสัตว์ ข้อมูลเพิ่มเติม www.worldanimalprotection.or.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ