กรุงเทพฯ--2 มิ.ย.--เอ็ม ที มัลติมีเดีย
บมจ.เน็ตเบย์ NETBAY รุกพัฒนา HAPYBot หุ่นยนต์ขนส่งอัฉริยะเพื่อการแพทย์รุ่นแรกของไทยที่ผ่านมาตรฐานความปลอดภัยสำหรับใช้งานในโรงพยาบาล ภายใต้คอนเซปต์ Better Faster Cheaper เพื่อใช้ส่งยา เวชภัณฑ์ อาหาร-น้ำ แก่คนไข้เพื่อช่วยลดการสัมผัส ชูจุดเด่นสามารถเคลื่อนที่ได้เร็ว 3 กิโลเมตรต่อชั่วโมงอย่างอิสระและมีระบบสั่งการให้หุ่นยนต์ทำงานได้ 4 รูปแบบ สามารถทำงานต่อเนื่อง 3 ชั่วโมงครึ่งและกลับไปยังแท่นชาร์จได้เอง รวมถึงติดตั้งระบบ AI เพื่อคำนวณเส้นทางใหม่ได้ นำร่องส่งมอบหุ่นยนต์เฟสแรกให้แก่โรงพยาบาล 3 แห่ง ก่อนทยอยส่งมอบแก่โรงพยาบาลอื่นต่อไป ด้าน สวทช.พร้อมสนับสนุนนำผลงานวิจัยและเทคโนโลยีของ สวทช. และภาคเอกชนที่มีศักยภาพในเชิงสุขภาพและการแพทย์เพื่อนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ หุ่นยนต์ HAPYBot ได้ผ่านการตรวจสอบมาตรฐานความปลอดภัยจากศูนย์ทดสอบผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (PTEC) สวทช. ขณะที่มหาวิทยาลัยมหิดลชี้การนำหุ่นยนต์มาใช้ในโรงพยาบาลเพื่อขนส่งอาหารอุปกรณ์ทางการแพทย์และเวชภัณฑ์ ช่วยแบ่งเบาภาระบุคลากรทางการแพทย์
นายพิชิต วิวัฒน์รุจิราพงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทเน็ตเบย์ จำกัด (มหาชน) หรือ (NETBAY : Innovative Technology Company) เปิดเผยว่า เน็ตเบย์มีความต้องการผลิตหุ่นยนต์ของไทยรุ่นแรกที่ผ่านมาตรฐานความปลอดภัยเพื่อนำไปใช้งานในโรงพยาบาลได้ ภายใต้แนวคิด “Better Faster Cheaper” ดังนั้นหุ่นยนต์ HAPYBot จึงถูกคิดค้นให้ทำหน้าที่ขนส่ง นำทาง เคลื่อนที่อิสระ เพื่อขนส่ง ยา วัคซีน และเวชภัณฑ์การแพทย์ อาหาร รวมถึงสิ่งของอื่นๆได้ ตัวหุ่นยนต์มีช่องเก็บแบบปิด-เปิดและล็อคด้วยระบบไฟฟ้า ขนาดความจุ 17 ลิตร รองรับน้ำหนักบรรทุกได้ 10-15 กิโลกรัม โดยในช่องเก็บของภายในตัวหุ่นยนต์สามารถใส่น้ำได้ เพราะเป็นช่องหล่อแบบชิ้นเดียวไม่มีรอยต่อ จึงสามารถป้องกันการรั่วซึมของน้ำไปยังระบบอื่นๆ นอกจากนี้หุ่นยนต์ดังกล่าวสามารถสั่งการผ่านหน้าจอระบบสัมผัสบนตัวหุ่นยนต์ หรือสั่งการด้วย computer web base หรือ tablet หรือ mobile application หรือ QR code โดยไม่ต้องเชื่อมต่อกับNetwork ของโรงพยาบาล ช่วยจัดส่งยาถึงที่หมายได้หลายแห่งขึ้นกับคำสั่งใช้งาน
หุ่นยนต์สามารถเคลื่อนที่ด้วยความเร็ว 2.5 – 3 กิโลเมตรต่อชั่วโมง สามารถหลบหลีกสิ่งกีดขวางต่างๆ ได้แบบเรียลไทม์ โดยไม่เกิดอุบัติเหตุต่อคนหรือสิ่งของและมีระบบตรวจจับการยกหุ่นยนต์เพื่อแจ้งเป็นเสียงเตือน เช่น ถูกยก โยก คว่ำ เป็นต้น ขณะเดียวกันหุ่นยนต์สามารถออกแบบแผนการเดินทางได้เองแบบอัตโนมัติ สามารถกำหนดพื้นที่ที่ต้องการหลีกเลี่ยงการเดินทางได้ หรือใช้ระบบ AI ช่วยตัดสินใจกำหนดเส้นทางใหม่ เมื่อพบอุปสรรคสามารถเปลี่ยนเส้นทางอัตโนมัติ ทำงานอย่างต่อเนื่องโดยไม่ต้องชาร์จแบตเตอรี่เป็นระยะเวลา 210 นาที (3 ชั่วโมงครึ่ง) และกลับไปยังแท่นชาร์จได้เองแบบอัตโนมัติเมื่อเสร็จสิ้นภารกิจ รวมถึงมีพอร์ตชาร์จไฟฉุกเฉินเมื่อเกิดปัญหาหรือใช้พลังงานจนหมดระหว่างทาง
ขณะเดียวกันได้ออกแบบให้มีระบบปลดล็อคช่องเก็บของแบบฉุกเฉิน ระบบล็อคการเปิดเครื่องด้วยกุญแจ สามารถตั้งความดังของเสียงและจำแนกความดังของเสียงทั้งช่วงกลางวันและกลางคืนได้ รวมถึงกำหนดเสียงได้ทั้งภาษาไทยและอังกฤษ สามารถเชื่อมต่อกับระบบลิฟท์ได้ จึงสามารถเรียกลิฟท์ได้เองเพื่อมารับ ณ ชั้นที่หุ่นยนต์รออยู่ และยังสามารถเคลื่อนที่ผ่านพื้นผิวที่เป็น “ร่อง” ระหว่างลิฟท์กับพื้นของแต่ละชั้นที่มีระยะช่องว่าง 1 นิ้ว และมีระดับความสูงที่ต่างกัน 1.5 ซม. รองรับการขึ้น-ลงทางลาดเอียง 5 องศา มีระบบล้อช่วยเบรกและทรงตัว สามารถเชื่อมต่อเพื่อสั่งการกับประตูห้องผู้ป่วยแบบอัตโนมัติได้โดยไม่ต้องใช้คน โดยมีอุปกรณ์เสริมเพื่อเปิดประตูบานสวิงในกรณีที่ไม่ใช่ประตูแบบอัตโนมัติและสามารถสั่งการจากหุ่นยนต์ได้ มีระบบ access control สามารถตั้งรหัสผ่านระบบสั่งการเพื่อป้องกันการใช้งานจากบุคคลที่ไม่ได้รับอนุญาต และตั้งรหัสผ่านระบบรับคำสั่งเพื่อป้องกันยาสูญหาย
นอกจากนี้ยังสามารถติดตั้งอุปกรณ์เสริมเพื่อสแกนบัตรผู้รับยาแบบ RFID (ระบบคลื่นความถี่วิทยุ) ได้ ทั้งนี้ทางโรงพยาบาลสามารถเพิ่มสิทธิ์เองได้ สามารถตรวจสอบ และออกรายงาน สามารถออกรายงานวันที่ เวลาที่ส่งและรับยา จุดเริ่มต้นและปลายทาง ระยะทาง ระยะเวลา รวมถึงผู้ส่งและรับสิ่งของได้
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. เน็ตเบย์ กล่าวต่อว่า Hapy Bot ผ่านการตรวจสอบจากทางสถาบันไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์ (สวทช.) หรือ PTEC ในด้านต่างๆ เช่น มาตรฐานแบตเตอรี่ในหุ่นยนต์จะมีมาตรฐานความปลอดภัยที่สูง ไม่เกิดระเบิดเมื่อชาร์จไฟฟ้าเพิ่ม, ระบบไฟฟ้า ไม่ส่งสัญญาณไฟฟ้าที่ปล่อยคลื่นความถี่รบกวนอุปกรณ์ทางการแพทย์ระบบซอฟต์แวร์และระบบปฎิบัติการสั่งงานที่มีมาตรฐาน ถือเป็นหุ่นยนต์ตัวแรกของประเทศไทยที่ได้มาตรฐานความปลอดภัยในการใช้งานภายในโรงพยาบาลอย่างเป็นทางการ
ล่าสุด บริษัทฯ ได้ส่งมอบหุ่นยนต์ Hapy Bot ให้แก่ รพ. เวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล, รพ. ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล และ รพ. คณะแพทย์ศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ หลังจากนั้นจะเร่งจัดหา รพ.อีก 7 แห่งเพื่อส่งมอบหุ่นยนต์ดังกล่าวสำหรับนำไปใช้ประโยชน์ใน รพ.อย่างเร่งด่วนต่อไป
ศ.ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์ ประธานคณะกรรมการวิชาการและเทคนิคเพื่อรองรับสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019(COVID-19) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า เนื่องด้วยสถานการณ์ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (COVID – 19) ที่มีการแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่องในประเทศไทย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ให้ความสำคัญในการนำผลงานวิจัยและเทคโนโลยีไปใช้ในการช่วยเหลือประเทศชาติเป็นภารกิจพิเศษ และกำหนดผลงานวิจัยและเทคโนโลยีของ สวทช. ที่มีศักยภาพในเชิงสุขภาพและการแพทย์ ตลอดจนดำเนินการเพื่อสนับสนุนความต้องการใช้เครื่องมือรองรับการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 พร้อมทั้งประสานงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องให้เกิดความร่วมมือระหว่างกัน
นอกจากนี้ สวทช.ยังเป็นคณะกรรมการที่ให้ความเห็นชอบผลงานวิจัยที่สำเร็จและผ่านข้อกำหนดด้านมาตรฐานและความปลอดภัยเครื่องมือแพทย์จนสามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 รวมถึงยังติดตามและประเมินผลความก้าวหน้าในการดำเนินงาน เพื่อการใช้ประโยชน์จากผลงานวิจัย
สำหรับการนำหุ่นยนต์ Hapy Bot มาใช้ทางการแพทย์ บริษัท เน็ตเบย์ (มหาชน) จำกัด ได้จัดทำขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับแพทย์และพยาบาลในการปฏิบัติหน้าที่และช่วยในการป้องกันโรคระบาดฯ ดังกล่าว โดยได้รับการตรวจสอบมาตรฐานความปลอดภัยทางการแพทย์ จากศูนย์ทดสอบผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (PTEC) สวทช.
ศาสตราจารย์ นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ รักษาการแทนอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่าจากปัญหาการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ COVID-19 บุคลากรทางการแพทย์ถือเป็นทัพหน้าที่ต้องปฏิบัติหน้าที่เพื่อควบคุมสถานการณ์ตลอด 24 ชั่วโมง และหลายภาคส่วนต้องหาทางรับมืออย่างหนัก การใช้เทคโนโลยีด้านวิศวกรรมจึงมีส่วนช่วยแบ่งเบาภาระบุคลากรทางการแพทย์ได้อย่างมาก เช่น การนำหุ่นยนต์ทางการแพทย์มาใช้ในโรงพยาบาลเพื่อทำงานร่วมกับมนุษย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
โดยในช่วงที่ผ่านมาวงการแพทย์ได้นำหุ่นยนต์มาใช้ในการผ่าตัดเพื่อความแม่นยำ อย่างไรก็ตามเมื่อเกิดสถานการณ์โรคระบาดร้ายแรงในช่วงที่ผ่านมา ทำให้จำนวนบุคลากรทางการแพทย์ไม่เพียงพอต่อจำนวนผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ประกอบกับทีมแพทย์และพยาบาลจำเป็นต้องเพิ่มความระมัดระวังในการปฏิบัติหน้าที่เพื่อดูแลผู้ป่วยมากยิ่งขึ้น หุ่นยนต์ทางการแพทย์จึงได้รับการพัฒนาให้นำมาใช้ประโยชน์มากขึ้นเพื่อลดการสัมผัสผู้ป่วยที่ติดเชื้อ สามารถใช้ติดตามคนไข้บนหอผู้ป่วย ใช้ขนส่งอาหาร อุปกรณ์ทางการแพทย์และเวชภัณฑ์ยา ช่วยแบ่งเบาภาระและลดความเสี่ยงบุคลากรทางแพทย์ที่จะติดเชื้อจากผู้ป่วย
ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยมหิดลเป็นสถาบันการศึกษาชั้นนำที่ผลิตผลงานที่เป็นนวัตกรรมต่างๆ มากมาย เช่น การทำวิจัยและพัฒนาหุ่นยนต์ทางการแพทย์ที่มีคุณภาพ ที่ผ่านมาจึงมีหุ่นยนต์ที่ได้รับการพัฒนาโดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี คณะเวชศาสตร์เขตร้อน และคณะอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง อย่างไรก็ตามเนื่องจากมหาวิทยาลัยฯ มีโรงพยาบาลในสังกัดหลายแห่ง การได้รับการสนับสนุนจาก บมจ.เน็ตเบย์ มอบหุ่นยนต์ HAPYBot ให้แก่ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล, สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี และโรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน คณะเวชศาสตร์เขตร้อน จะส่งผลต่อประสิทธิภาพที่ดีในการรักษาพยาบาลและสร้างความปลอดภัยแก่บุคลากรทางการแพทย์ยิ่งขึ้น