กรุงเทพฯ--2 มิ.ย.--สสจ.นครพนม
นายแพทย์จิณณพิภัทร ชูปัญญา นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครพนม ประชุมคณะทำงานศูนย์ปฏิบัติการตอบโต้ภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุข (Emergency Operation Center: EOC) จังหวัดนครพนม ทุกกลุ่มภารกิจ ประกอบด้วย กลุ่มภารกิจยุทธศาสตร์และวิชาการ (STAG) กลุ่มภารกิจตระหนักรู้สถานการณ์ (Situation Awareness Team) กลุ่มภารกิจด้านความปลอดภัย (Safety) กลุ่มภารกิจปฏิบัติการ (Operation) กลุ่มภารกิจสื่อสารความเสี่ยง (Risk Communication) กลุ่มภากิจสำรองเวชภัณฑ์ และส่งกำลังบำรุง (Stockpiling and Logistics) กลุ่มภารกิจการเงินและงบประมาณ กลุ่มภารกิจกฎหมาย กลุ่มภารกิจดูแลรักษาผู้ป่วย (Case Management) กลุ่มภารกิจด่านควบคุมโรคระหว่างประเทศ (Point of Entry) กลุ่มภารกิจด้านกำลังคน (Human Resources: HR) และกลุ่มภารกิจประสานงานและเลขานุการ (Liaison) เพื่อติดตามทบทวนการปฏิบัติภารกิจ และรับทราบการประเมินเพื่อการตอบโต้ให้เท่าทันต่อสถานการณ์ ทั้งนี้ ที่ประชุมได้รับทราบการจัดทำแผนงานเกี่ยวกับพระราชกำหนดเงินกู้ และกลุ่มภารกิจตระหนักรู้สถานการณ์ รายงานผลการดำเนินงาน ซึ่งแบ่งทีมงาน 2 ทีม กำหนดให้อยู่เวรทุกวัน เน้นเรื่องการจัดทำรายงานสถานการณ์รายวัน บันทึกรายงานการติดตาม Home Quarantine ตรวจสอบข้อมูลผู้เดินทางจากพื้นที่เสี่ยง รายงานข้อมูลผู้ป่วย/ ผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนโรค (Patient under investigation: PUI) และจัดทำรายงานสถานการณ์ (One page) เพื่อนำเสนอในที่ประชุมศูนย์ปฏิบัติการจังหวัดนครพนม (ทุกวัน) การยกเลิกการตรวจผู้ที่เดินทางมาจากจังหวัดภูเก็ต การปรับการทำ Home Quarantine เป็น self-isolation
นอกจากนี้ยังปรับบทบาทกลุ่มภารกิจด้านความปลอดภัย มาเสริมทัพการปฏิบัติของกลุ่มภารกิจปฏิบัติการ ซึ่งกลุ่มภารกิจนี้ยังคงปฏิบัติการคัดกรองผู้โดยสาร ณ ท่าอากาศยานนครพนม และเตรียมปฏิบัติการคัดกรองผู้โดยสารที่เดินทางมาโดยรถโดยสาร ในส่วนของกลุ่มสื่อสารความเสี่ยง นอกจากการสื่อสารสร้างความเข้าใจแนวทางปฏิบัติระหว่าง Home Quarantine กับ self-isolation แล้ว ให้เน้นการสื่อสารประชาสัมพันธ์การใช้แพลตฟอร์ม “ไทยชนะ” www.ไทยชนะ.com ซึ่งจุดเด่นของแพลตฟอร์มนี้จะเป็นเครื่องมือช่วยให้การสอบสวนโรคทำได้อย่างถูกต้องและรวดเร็ว ขณะที่ประชาชนและสถานประกอบการก็สามารถปฏิบัติตามมาตรการผ่อนปรนได้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
ด้านกลุ่มภารกิจสำรองเวชภัณฑ์และส่งกำลังบำรุง ให้จัดเตรียมสิ่งสนับสนุนวัสดุอุปกรณ์ให้มีความเพียงพอต่อการใช้งาน กลุ่มภารกิจการเงินและงบประมาณ วางแผนงบประมาณ ติดตามการเบิกจ่ายงบประมาณ และกลุ่มภารกิจดูแลรักษาผู้ป่วย กลุ่มภารกิจด่านควบคุมโรคระหว่างประเทศ กลุ่มภารกิจด้านกำลังคน และกลุ่มภารกิจประสานงานและเลขานุการ ปฏิบัติภารกิจตามบทบาทหน้าที่หรือตามที่ได้รับมอบหมาย รวมทั้งทุกกลุ่มภารกิจเตรียมความพร้อมเพื่อบูรณาการร่วมปฏิบัติกับทุกหน่วยงานหากมีการร้องขอ
สำหรับสถานการณ์ COVID-19 ในพื้นที่จังหวัดนครพนม (ข้อมูล ณ วันที่ 2 มิถุนายน 2563 เวลา 09.00 น.) ผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 “COVID-19" รายใหม่ 0 ราย ยอดสะสม 2 ราย (51 วันต่อเนื่อง ไม่พบผู้ป่วยติดเชื้อรายใหม่) ผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนโรค (Patient under investigation: PUI) รายใหม่ 1 ราย สะสม 138 ราย คงเหลือติดตามต่อเนื่อง 12 ราย (รอผลตรวจทางห้องปฏิบัติการ 1 ราย) ข้อมูลผู้กักกันในสถานที่ที่จังหวัดจัดให้ (Local Quarantine) รายใหม่ 0 ราย ยอดสะสม 84 ราย คงเหลือติดตาม 7 ราย วันสิ้นสุดการติดตามวันที่ 14 มิถุนายน 2563 การติดตามผู้เดินทางกลับจากจังหวัดเสี่ยง (Home Quarantine) ตามมติที่ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนครพนม ครั้งที่ 18/2563 จำนวนผู้เดินทาง (เดือนพฤษภาคม 2563 (Home Quarantine) ยอดสะสม 6,067 ราย คงเหลือติดตาม 1,287 ราย จำนวนผู้เดินทาง (เดือนพฤษภาคม 2563) ยอดสะสม 29 ราย เฝ้าระวัง 29 ราย (ข้อมูลจากแอฟพลิเคชัน NPM-COVID19 ณ วันที่ 2 มิถุนายน 2563 เวลา 09.00 น.)
อนึ่ง สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครพนม โดยกลุ่มภารกิจสื่อสารความเสี่ยง คณะทำงานศูนย์ปฏิบัติการตอบโต้ภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุข (Emergency Operation Center: EOC) จังหวัดนครพนม ขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนชาวนครพนม โหลดการติดตั้ง “Application ไทยชนะ” ใช้ง่ายสะดวกปลอดภัยที่สุด ด้วยระบบปฏิบัติการมือถือสำหรับระบบแอนดรอยด์ เวอร์ชั่น 5.0 ขึ้นไป หรือระบบไอโอเอส ต้องเป็นเวอร์ชั่น 9.0 ขึ้นไป จาก Play Store อำนวยความสะดวกด้านเช็คอิน/เอาท์ ซึ่งมาพร้อมฟังก์ชันใหม่ค้นหาร้านได้ เช็คเอาท์ได้ทุกที่หากลืม ลงทะเบียนครั้แรกครั้งเดียวจบ ไม่ต้องกดเบอร์อีกต่อไป
สำหรับขั้นตอนการใช้แอปพลิเคชันไทยชนะ 1) การติดตั้ง ดาวน์โหลดด้วยระบบปฏิบัติการมือถือสำหรับระบบแอนดรอยด์ เวอร์ชั่น 5.0 ขึ้นไป หรือระบบไอโอเอส ต้องเป็นเวอร์ชั่น 9.0 ขึ้นไป 2) การลงทะเบียน เปิด “Application ไทยชนะ” ยอมรับข้อตกลงและยินยอม ระบุโทรศัพท์มือถือ ระบุ OTP ที่ได้รับจากเบอร์โทรศัพท์ ลงทะเบียนสำเร็จพร้อมใช้งาน 3.) การเช็คอิน กดปุ่ม สแกน QR สีเขียว แสดง QR Code ที่กิจการ/กิจกรรม หน้าจอจะขึ้นว่า เช็กอินสำเร็จ ข้อมูลที่เช็กอินสำเร็จจะแสดงผลหน้าแรก 4) การเช็คเอาท์ กดปุ่มสแกน QR สีเขียว หรือกดปุ่มเช็กเอาต์ สีแดง ซึ่งปุ่มนี้จะไม่ต้องสแกน QR Code แสดง QR Code ที่กิจการ/กิจกรรม เช็คเอาท์สำเร็จ และทำแบบประเมินกิจการ/กิจกรรม (สามารถกดปุ่ม "ไม่ทำแบบประเมิน" เพื่อข้ามได้ โดยจะถือว่าเช็กเอาต์สำเร็จแล้ว) ข้อมูลกิจการ/กิจกรรม ที่เช็กเอาต์สำเร็จ จะแสดงผลที่หน้าแรกว่าเช็กเอาต์แล้ว 5) การค้นหาร้านค้า กดปุ่มรูปแว่นขยาย "ค้นหาร้านค้า" ค้นหาจากชื่อกิจการ/กิจกรรม ตามจังหวัด หรือตำแหน่งใกล้เคียง ดูผลการค้นหา ดูรายละเอียดแต่ละกิจการ/กิจกรรม
ทั้งนี้ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) จะมีการประชุมหารือการผ่อนคลายมาตรการในระยะต่อไป ซึ่งบางกิจการ/กิจกรรม จะผ่อนคลายมากขึ้น โดยผู้ประกอบการยังจำเป็นต้องลงทะเบียนผ่านระบบไทยชนะ รวมถึงผู้ที่มาใช้บริการก็ต้องให้ความร่วมมือในการใช้แอปพลิเคชันดังกล่าวด้วย