กรุงเทพฯ--4 มิ.ย.--กู้ดวิลคอมมูนิเคชั่นส์
พันธมิตร 4 บริษัท พีเซค-ผาตูบ-ไดกิ้น-น่ำเชียงหลี และสมาคมวิศวกรรมปรับอากาศแห่งประเทศไทย รวมพลังจิตอาสาสร้างห้องผู้ป่วยรวม ระบบปรับอากาศความดันลบ ขนาด 4 เตียง ให้ “สถาบันบำราศนราดูร” รองรับผู้ป่วยไวรัสโควิด-19 และโรคติดต่อทางเดินหายใจ ลดความเสี่ยงผู้ป่วยรายอื่น พร้อมเพิ่มความปลอดภัยบุคลากรทางการแพทย์ ดูแลผู้ป่วยไวรัสโควิด-19
ช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 “ห้องความดันลบ” (Negative Pressure Room) ที่ใช้สำหรับแยกผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโควิด-19 จากผู้ป่วยรายอื่นๆ ในโรงพยาบาล เป็นสิ่งที่ถูกพูดถึงอย่างมาก เพราะช่วยลดความเสี่ยงให้กับบุคลากรทางการแพทย์ และผู้ป่วยอื่นๆ จากการติดเชื้อไวรัสโควิด-19
นำมาสู่ความร่วมมือครั้งสำคัญของ 4 บริษัท ประกอบด้วย บริษัท พีเซค จำกัด, บริษัท ผาตูบ จำกัด, บริษัท สยามไดกิ้นเซลส์ จำกัด และหจก.น่ำเชียงหลี โดยมีสมาคมวิศวกรรมปรับอากาศแห่งประเทศไทย เป็นผู้ให้คำปรึกษาและทำหน้าที่ประสานกับกระทรวงสาธารณสุข ร่วมกันสร้างห้องผู้ป่วยรวม ระบบปรับอากาศความดันลบ (Negative Pressure Cohort Ward) ขนาด 4 เตียง สำหรับผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโควิด-19 และโรคติดต่อทางเดินหายใจ ซึ่งล่าสุดได้มีการส่งมอบให้แก่ “สถาบันบำราศนราดูร” เป็นที่เรียบร้อย
สำหรับห้องความดันลบ เป็นห้องที่มีความดันอากาศภายในห้องต่ำกว่าภายนอก ดังนั้น เมื่อมีการเปิด-ปิดประตูห้อง อากาศภายในห้องผู้ป่วยซึ่งถูกทำให้มีความดันต่ำกว่า ก็จะไม่ไหลออกจากห้อง ซึ่งจะช่วยป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรคในห้องไปสู่บริเวณอื่นๆ ในสถานพยาบาล ซึ่งใช้กับโรคที่ติดต่อทางอากาศอย่างเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่จะมีโอกาสติดผู้ป่วยคนอื่นๆ และบุคลากรของโรงพยาบาลได้ง่าย หากไม่มีการแยกห้องที่ถูกต้อง
นายปานชัย ศิริวิมลมาส กรรมการผู้จัดการ บริษัท พีเซค จำกัด เปิดเผยว่า จุดเริ่มต้นของความร่วมมือดังกล่าว เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงไวรัสโควิด-19 เริ่มระบาด ขณะนั้นตนได้ประสานไปที่สมาคมวิศวกรรมปรับอากาศแห่งประเทศไทย เพื่อต้องการเข้าไปช่วยเหลือในด้านต่างๆ ก่อนจะสรุปลงตัวที่การสร้างห้องความดันลบ เพื่อมอบให้แก่สถาบันบำราศนราดูร ซึ่งเป็นศูนย์กลางในการดูแลผู้ป่วยไวรัสโควิด-19 เพื่อต้องการสร้างเป็น Prototype หรือต้นแบบ เป็นประโยชน์แก่สถานพยาบาลอื่นๆ และสังคมในอนาคต
นายปานชัย กล่าวว่า สำหรับรูปแบบการสร้างห้องความดันลบในครั้งนี้ เลือกใช้ห้องสำเร็จรูปที่เป็นตู้คอนเทนเนอร์ โดยทำการออกแบบ ประกอบและทดลองระบบจากภายนอก ก่อนจะนำมาติดตั้งที่สถาบันบำราศนราดูร ซึ่งได้รับการบริจาคตู้คอนเทนเนอร์จากบริษัท ผาตูบ จำกัด เป็นผู้ติดตั้งห้องและปรับปรุงห้องแบบโมดูล่า และ หจก.น่ำเชียงหลี โรงงานประกอบหลังคารถยนต์ ที่อนุญาตให้ใช้พื้นที่ในโรงงาน สำหรับประกอบ และจัดทำอุปกรณ์ ประตู และซีลกันการรั่วของอากาศ และทดสอบระบบต่างๆ โดยระบบที่สำคัญมากคือ ระบบปรับอากาศ เนื่องจากการทำห้องความดันลบ จำเป็นต้องใช้เครื่องปรับอากาศที่เป็น Outside Air Unit (OAU) จึงได้ติดต่อไปยังบริษัท สยามไดกิ้นเซลส์ จำกัด ซึ่งได้รับการตอบรับในทันที
“ผมติดต่อไปที่ ผอ.สถาบันบำราศนราดูร และได้เข้าไปดูสถานที่ที่สถาบันฯ ตอนนั้นเป็นต้นเดือนมีนาคม ซึ่งเป็นช่วงพีคของไวรัสโควิด-19 ผมเห็นหมอ พยาบาล ที่ต้องรับมือกับไวรัสโควิด-19 และผู้ป่วยอื่นๆ ที่มีความเสี่ยงในการติดเชื้อ ก็เกิดแรงบันดาลใจว่า ต้องสร้างห้องความดันลบ เพื่อเพิ่มความปลอดภัยให้พวกเขา” นายปานชัย กล่าว
นายปานชัย กล่าวว่า หลังจากนี้ ยินดีที่จะเผยแพร่โนฮาว รวมถึงการออกแบบต่างๆ ในการสร้างห้องความดันลบในครั้งนี้ให้กับหน่วยงาน หรือองค์กรอื่นๆ ที่สนใจ เพื่อนำไปสร้างประโยชน์ให้แก่สังคมต่อไป
มร.อาคิฮิสะ โยโคยามา ผู้จัดการใหญ่ บริษัท สยามไดกิ้นเซลส์ จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างห้องความดันลบ เพื่อดูแลผู้ป่วยไวรัสโควิด-19 โดยมอบเครื่องปรับอากาศไดกิ้น พร้อมติดตั้งระบบปรับอากาศความดันลบ สำหรับห้องผู้ป่วยรวมที่ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 และโรคติดต่อทางเดินหายใจ ซึ่งบริษัทจะนำโนฮาว และสิ่งที่ได้รับจากความร่วมมือครั้งนี้ นำไปปรับปรุงให้เกิดประโยชน์เพื่อช่วยเหลือส่วนอื่นๆ ในสังคมต่อไป
“ประเทศไทยมีระบบสาธารณสุขที่ดีเยี่ยม ทุกวันนี้คนติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ลดลงอย่างชัดเจน มาจากความทุ่มเทของทุกคน ต้องขอขอบคุณทางสถาบันฯ ที่ดูแลผู้ป่วยไวรัสโควิด-19 อย่างดี ตามเป้าหมายที่ได้วางไว้” มร. โยโคยามา กล่าว
นพ.อภิชาต วชิรพันธ์ ผู้อำนวยการสถาบันบำราศนราดูร กล่าวว่า ปัจจุบันในพื้นที่กรุงเทพฯ เฉพาะโรงพยาบาลในเครือข่าย มีห้องความดันลบอย่างน้อย 70 ห้อง ในส่วนของสถาบันฯ มี 15 ห้อง ซึ่งการมีห้องความดันลบในโรงพยาบาล จะช่วยให้แพทย์และพยาบาลที่ทำการรักษา และดูแลผู้ป่วยในห้องนี้มีความปลอดภัยสูงขึ้น
“วันนี้ประเทศไทยมีกำลังในการต่อสู้ไวรัสโควิด-19 อย่างมาก ซึ่งเกิดจากความร่วมแรงร่วมใจกันของทุกฝ่าย ทางสถาบันฯ เริ่มเตรียมพร้อมเพื่อรับมือกับโรคติดเชื้อตัวนี้ ตั้งแต่ปลายธันวาคมปีที่แล้ว ซึ่งเริ่มมีกลุ่มโรคปอดอักเสบเกิดขึ้น พอในเดือนมกราคม ได้เตรียมพร้อมทั้งคน อุปกรณ์ และปรับทัศนคติบุคลากรของเรา ให้พร้อมรับมือกับโรคติดเชื้อใหม่ตัวนี้ ซึ่งวันนี้เรียกว่า สถาบันฯ สามารถรับมือกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้ดีมาก ถึงวันนี้ยังไม่มีบุคลากรของสถาบันฯ ติดเชื้อแม้แต่คนเดียว ขณะที่ผู้ป่วยโดยรวมของประเทศก็ลดลงต่อเนื่อง” นพ.อภิชาติ กล่าว
ความร่วมมือของทั้ง 4 พันธมิตร และสมาคมวิศวกรรมปรับอากาศแห่งประเทศไทย ไม่เพียงสะท้อนถึงความร่วมมือของภาคเอกชน ในการสร้างห้องระบบปรับอากาศความดันลบ (Negative Pressure Cohort Ward) สำหรับผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโควิด-19 และโรคติดต่อทางเดินหายใจเท่านั้น โครงการนี้ยังสะท้อนให้เห็นถึง “พลังของทุกภาคส่วน” ที่ผนึกกำลังในการต่อสู้กับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 พร้อมส่งต่อความห่วงใยไปยังกลุ่มอื่นๆ ในสังคม ขณะเดียวกัน ยังเป็นแรงบันดาลใจ ให้กับกลุ่มจิตอาสาอื่นๆ ร่วมกันเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือให้คนไทยผ่านพ้นวิกฤตไวรัสโควิด-19 ไปด้วยกัน