“สสจ.นครพนม” แจงมาตรการ/แนวปฏิบัติ ลุยตรวจประเมินป้องกันโควิด กิจการ 22 ประเภท

ข่าวทั่วไป Thursday June 4, 2020 16:26 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--4 มิ.ย.--สสจ.นครพนม นายแพทย์ธราพงษ์ กัปโก นายแพทย์เชี่ยวชาญ (ด้านเวชกรรมป้องกัน) รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครพนม เป็นประธานการประชุมผ่านระบบทางไกล video conference คณะทำงานศูนย์ปฏิบัติการตอบโต้ภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุข Emergency Operations Center (EOC) จังหวัดนครพนม พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กับคณะทำงานโรงพยาบาลชุมชนและสำนักงานสาธารณสุขอำเภอทั้ง 12 อำเภอ เพื่อชี้แจงมาตรการและแนวทางปฏิบัติ ในการปฏิบัติตรวจประเมินมาตรการป้องกันโรคตามที่ทางราชการกำหนด เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) จังหวัดนครพนม ณ ห้องประชุมร่มฉัตร (ชั้น 2) สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครพนม สำหรับมาตรการและแนวทางปฏิบัติในการตรวจประเมินมาตรฐานการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 มีทั้งสิ้น 22 ประเภท ประกอบด้วย 1) ประเภทการจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่มในภัตตาคาร สวนอาหารหรือเครื่องดื่มทั่วไป 2) ร้านสะดวกซื้อ มินิมาร์ท 3) ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ 4) กิจการค้าปลีก-ส่ง 5) ตลาด 6) ร้านเสริมสวย แต่งผมหรือตัดผม 7) ห้องประชุมในโรงแรม ศูนย์แสดงสินค้า ศูนย์ประชุม หรือสถานที่จัดนิทรรศการ 8) คลินิกเวชกรรมเสริมความงาม สถานเสริมความงาม สถานที่สักหรือเจาะผิวหนัง 9) สถานที่ออกกำลังกายฟิตเนส 10) สถานประกอบการเพื่อสุขภาพ สปา และสถานประกอบการนวดแผนไทย 11) สถานที่ฝึกซ้อมมวย โรงยิมหรือ ค่ายมวย 12) สนามกีฬา 13) สระว่ายน้ำ กลางแจ้งและในร่ม 14) สระน้ำเพื่อการเล่นกีฬาหรือกิจกรรมทางน้ำ 15) โรงภาพยนตร์ โรงละคร โรงมหรสพ 16) สวนสัตว์หรือสถานที่จัดแสดงสัตว์ 17) สวนพฤกษศาสตร์ สวนดอกไม้ พิพิธภัณฑ์ ศูนย์การเรียนรู้ แหล่งประวัติศาสตร์ โบราณสถาน ห้องสมุดสาธารณะ หอศิลป์ 18) โรงแรม รีสอร์ท ที่พัก 19) สถานที่บริการดูแลรักษาสัตว์ สปา อาบน้ำ ตัดขน รับเลี้ยงหรือรับฝากสัตว์ 20) สนามพระเครื่อง ศูนย์พระเครื่อง 21) สถานที่บริการดูแล สถานที่พำนักอาศัย หรือสถานสงเคราะห์อื่นที่จัดสวัสดิการ ให้แก่เด็กหรือผู้สูงอายุ และ 22) ประเภทสถาบันการศึกษา ซึ่งกำหนดระดับการประเมิน 3 ระดับ คือ ระดับดี ระดับดีเยี่ยม และไม่ผ่านการประเมินฯ ทั้งนี้ กระทรวงมหาดไทย มีหนังสือสั่งการให้มีการประเมินสถานการณ์ตามมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนด และรายงานผลให้กระทรวงมหาดไทยทราบ เพื่อประกอบการพิจารณาผ่อนคลายการบังคับใช้บางมาตรการในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ตามลำดับขั้นตอนของการควบคุมของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (สบค.)