กรุงเทพฯ--4 มิ.ย.--กรมวิชาการเกษตร
ในช่วงที่มีสภาพอากาศร้อนเช่นนี้ กรมวิชาการเกษตร เตือนเกษตรกรผู้ปลูกเบญจมาศเฝ้าระวังการระบาดของหนอนแมลงวันชอนใบ ที่สามารถพบได้ในทุกระยะการเจริญเติบโต ให้เกษตรกรสังเกตติดตามการระบาดของหนอนแมลงวันชอนใบตัวเต็มวัยเพศเมียวางไข่ภายในผิวใบพืช เมื่อไข่ฟักเป็นตัวหนอนจะมีลักษณะหัวแหลมท้ายป้าน ตัวหนอนจะชอนไชอยู่ในใบพืช ทำให้เกิดรอยเส้นสีขาวคดเคี้ยวไปมา เมื่อนำใบพืชมาส่องดูจะพบหนอนตัวเล็กสีเหลืองอ่อนโปร่งแสงอยู่ภายในเนื้อเยื่อ หากหนอนแมลงวันชอนใบระบาดรุนแรง จะทำให้ใบพืชเสียหายร่วงหล่น และจะส่งผลทำให้ผลผลิตเสียหาย กรณีที่ต้นเบญจมาศไม่สามารถสร้างใบทดแทนได้ หรือถูกหนอนแมลงวันชอนใบเข้าทำลายอย่างหนัก ต้นเบญจมาศจะตายในที่สุด
เกษตรกรควรเก็บใบที่ถูกหนอนแมลงวันชอนใบทำลายนำออกมาเผาทำลายนอกแปลงปลูก เพื่อช่วยลดการแพร่ระบาด เพราะดักแด้หนอนแมลงวันชอนใบที่อาศัยอยู่ตามเศษใบพืชจะถูกทำลายไปด้วย จากนั้น ให้ใช้กับดักกาวเหนียวสีเหลือง อัตรา 80 กับดักต่อไร่ จะมีประสิทธิภาพดีในการดักจับตัวเต็มวัยของหนอนแมลงวันชอนใบ และให้พ่นด้วยสารสกัดสะเดา อัตรา 100 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร
หากพบการระบาดรุนแรง ให้เกษตรกรพ่นด้วยสารฆ่าแมลงที่มีประสิทธิภาพดีในการป้องกันกำจัด อาทิ สารไทอะมีทอกแซม 25% ดับเบิ้ลยูจี อัตรา 3 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารฟิโพรนิล 5% เอสซี อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารอิมิดาโคลพริด 10% เอสแอล อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ สาร อีมาเมกตินเบนโซเอต 1.92 % อีซี อัตรา 10 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารเฟนโพรพาทริน 10% อีซี อัตรา 30 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร