กรุงเทพฯ--4 มิ.ย.--กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เปิดเผยว่า จากกรณีที่มีผู้ใช้มือถือระบบแอนดรอยด์ (Android) และระบบ IOS เพื่อโหลด อ้างว่าโหลด แอปพลิเคชั่นไทยชนะ แล้วเกิดปัญหาสแปมก่อกวนหรือมีการเข้าถึงข้อมูลของผู้ใช้นั้น ทาง ศบค.ยืนยันว่าการลงทะเบียนเพื่อใช้งานผ่านระบบดังกล่าวจะไม่เกิดปัญหา
“ประชาชนมั่นใจได้ว่า แอปพลิเคชั่นไทยชนะ มีความปลอดภัย เนื่องจากเป็นระบบที่พัฒนาโดยรัฐบาลไทยจะใช้ชื่อว่า "Thaichana - ไทยชนะ" ผู้พัฒนา คือ "Krungthai Bank PCL. ซึ่งแอปพลิเคชั่นไทยชนะ ไม่ได้เข้าถึงที่เก็บข้อมูล หรือละเมิดสิทธิส่วนบุคคล รวมไปถึงไม่มีการส่งข้อมูลพิกัด Location ของผู้ใช้งานออกไปแต่อย่างใด ไม่มีข้อมูลส่วนบุคคลใดๆ ที่ถูกส่งไปยัง server นอกเหนือจากที่ขอ เราขอเพียงเปิดกล้องเพื่อสแกนคิวอาร์โค้ด และโลเคชั่นเพื่อเช็คอิน” นายพุทธิพงษ์ กล่าว
ผศ.(พิเศษ) นพ.พลวรรธน์ วิทูรกลชิต ผู้ตรวจราชการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ในฐานะรองหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการด้านข้อมูลมาตรการแก้ไขปัญหาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และเจ้าหน้าที่ศูนย์ปฏิบัติการด้านการสื่อสาร โทรคมนาคม และสื่อสังคมออนไลน์ ศูนย์บริหารสถานการณ์ โควิด-19 (ศบค.) กล่าวเสริมว่า ในส่วนของความปลอดภัยในเรื่องป้องกันข้อมูลรั่วไหลของแอป และมาตรฐานความปลอดภัยที่แอปมือถือต้องทำ (Certification Pinning) ซึ่งเป็นวิธีการทางเทคนิคที่ป้องกันการดักจับหรือดักเอาข้อมูล ย้ำว่าไม่มีการนำข้อมูลส่วนบุคคลส่งไปที่อื่น นอกเหนือจากที่ขออนุญาต ข้อมูลเหล่านี้จะถูกเก็บอยู่ในแพลตฟอร์มไทยชนะ จะถูกนำไปใช้กับกรมควบคุมโรคและรัฐบาล แต่ไม่ถูกใช้ในการอื่น นอกเหนือจากเพื่อวัตถุประสงค์ในการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19
สำหรับปัญหาข้อความ SMS สแปมที่ส่งเข้ามาทาง iMessage บนไอโฟนและไอแพด ล่าสุดในเพจเฟซบุ๊ก iPhone Thailand ได้ให้คำแนะนำวิธีการจัดการกับเอสเอ็มเอสโฆษณารบกวนทาง iMessage ระบุว่า จากกรณีดังกล่าวทาง Apple ให้แจ้งไปยังผู้ให้บริการมือถือ ทำการบล็อกไม่ให้ส่งโฆษณา เนื่องจากเอสเอ็มเอสแปมเหล่านี้ ส่งผ่านมาทาง iMessage ซึ่งเป็นแอปที่อยู่บนอุปกรณ์พกพาที่ใช้ระบบ iOS ของ Apple โดยเบื้องต้นแนะนำปิดรับข้อความ iMessage วิธีการเข้าไปตั้งค่า และ Report มีวิธีดำเนินการ 3 แบบ
ได้แก่ แบบที่ 1 คลิกที่ด้านบนที่โชว์ว่า “3 คน” จากนั้นเลือก “ข้อมูล” และคลิก “กดออกจากการสนทนา” 2 รอบ จากนั้นกดเสร็จสิ้น ก็กด “ แจ้งว่าเป็นขยะ” แบบที่ 2 เข้าไปที่ “การตั้งค่า” เลือก “ข้อความ” จากนั้นคลิกที่ “ฟิลเตอร์ผู้ส่งที่ไม่รู้จัก” และแบบที่ 3 สำหรับคนที่ไม่ค่อยได้ใช้ iMessage ให้เข้าไปที่ “การตั้งค่า” เลือก “ข้อความ ” จากนั้นคลิกปิด “iMessage” ซึ่งในข้อนี้หากต้องการใช้งานแอป iMessage ก็สามารถกลับมาเปิดใหม่ได้ สำหรับผู้ใช้มือถือระบบแอนดรอยด์ (Android) สามารถเข้าไปแก้ไข การตั้งค่าเพื่อป้องกันการก่อกวน ตามระบบปฎิบัติการของผู้ให้บริการได้เช่นเดียวกัน
ดังนั้น เน้นย้ำว่า ขอทุกท่านอย่าตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพเพราะความประมาท อย่าหลงเชื่อตัวล่อ ที่มีในรูปแบบต่างๆ เช่นเงินรางวัล ของฟรี และไม่แนะนำให้ทดลองเปิดเว็บไซต์ เพราะข้อความนั้นอาจเป็นพาหะนำพาไวรัสคอมพิวเตอร์เข้าสู่โทรศัพท์ของท่านได้ ข้อสังเกต แอปพลิเคชั่นดังกล่าว มักไม่ใช่แอปพลิเคชั่นทางการ ของศูนย์บริหารสถานการณ์ โควิด-19 (ศบค.) ดังนั้น ผู้ใช้ควรพิจารณาก่อนดาวน์โหลด ซึ่งจากการตรวจสอบ แอปพลิเคชั่นนี้มีจุดประสงค์หลักเพื่อแสดงโฆษณา โดยมีการขอสิทธิที่อาจส่งผลต่อความเป็นส่วนตัวหรือการใช้งาน ได้ เช่น โทรออก เข้าถึงข้อมูลในโทรศัพท์ และแก้ไขการตั้งค่า launcher ในเครื่อง