กรุงเทพฯ--5 มิ.ย.--สํานักงานเศรษฐกิจการเกษตร
เงินเยียวยา ถึงมือเกษตรกรแล้วกว่า 7 ล้านราย ย้ำยื่นอุทธรณ์ถึง 5 มิ.ย. นี้ พร้อมฝากถึงเกษตรกร นำเงินที่ได้ใช้เพื่อการยังชีพและลุงทุนให้เกิดประโยช์สูงสุด
นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่าจากที่ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้สั่งการให้ สศก. ในฐานะนายทะเบียน ดำเนินการรวบรวม และจัดทำระบบคัดกรองข้อมูลที่ถูกต้อง เพื่อเร่งช่วยเหลือเกษตรกร โดยจ่ายเงินตรงผ่านบัญชี จำนวน 5,000 บาท เป็นระยะเวลา 3 เดือน ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม 2563 ซึ่ง สศก. ได้ส่งรายชื่อเกษตรกรกลุ่มที่ 1 และ 2 ให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) แล้วรวม 7.59 ล้านราย
ล่าสุด ธ.ก.ส. ได้โอนเงินเข้าบัญชีเกษตรกรแล้วตั้งแต่วันที่ 15-31 พฤษภาคม 63 จำนวน 7,103,721 ราย รวมเงิน 35,518 ล้านบาท ส่วนเกษตรกรที่มาขึ้นทะเบียนไว้ภายใน 15 พฤษภาคม ธ.ก.ส. จะเร่งโอนเงินให้แล้วเสร็จภายในต้นเดือนมิถุนายน สำหรับเกษตรกรที่ยังไม่เสร็จสิ้นขั้นตอนการขึ้นทะเบียน จะได้รับเงินครั้งเดียว 15,000 บาท ภายใน 15 ส.ค.63 โดยเกษตรกรที่ได้ขึ้นทะเบียนโครงการช่วยเหลือเยียวยา แต่ยังไม่ได้รับเงินเยียวยา สามารถดำเนินการอุทธรณ์ได้แล้วจนถึงวันที่ 5 มิถุนายน 2563 ส่วนเกษตรกรชุดสุดท้ายสามารถอุทธรณ์ได้จนถึง 31 ก.ค..63
จากการติดตามผ่านหน่วยงานในพื้นที่ทั้ง 8 หน่วยงาน ของ สศก. พบว่า ตั้งแต่วันที่ 19 พ.ค. - 31 พ.ค. 2563 ทั้ง 8 หน่วยงานรับเรื่องอุทธรณ์เยียวยา รวมทั้งสิ้น 48,621 ราย จำนวน 49,054 เรื่อง แบ่งเป็น กรมส่งเสริมการเกษตร 44,881 เรื่อง กรมปศุสัตว์ 2,933 เรื่อง กรมประมง 439 เรื่อง การยางแห่งประเทศไทย 742 เรื่อง สำนักงานคณะกรรมการอ้อย และน้ำตาลทราย 50 เรื่อง กรมหม่อนไหม 6 เรื่อง และกรมสรรพสามิต (ทะเบียนยาสูบ) 3 เรื่อง ผลการดำเนินงาน ณ 31 พฤษภาคม 63 พบว่า ขณะนี้หน่วยงานในระดับพื้นที่ได้แก้ไขปัญหาแล้ว 6,823 เรื่อง อยู่ระหว่างการพิจารณาของหน่วยงานต้นสังกัด 40,598 เรื่อง และเสนอให้คณะกรรมการพิจารณาการอุทธรณ์ฯ 1,633 เรื่อง
ด้านนางอัญชนา ตราโช รองเลขาธิการ สศก. กล่าวว่า จากการติดตามสอบถามเกษตรกรที่ได้รับเงินเยียวยาไปแล้ว พบว่า ส่วนใหญ่จะนำเงินไปใช้จ่ายค่าครองชีพ ของกิน ของใช้ประจำวัน นำเงินไปต่อยอดทำมาหากิน เช่น จ่ายค่าเช่าที่ทำกิน ซื้อเมล็ดพันธุ์ ซื้อพันธุ์ปลา ซื้ออุปกรณ์จับปลา เครื่องมือทำมาหากิน ฯลฯ ที่เหลือจะนำไปเป็นค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาของลูกหลาน ค่ารักษาดูแลสุขภาพ และนำไปใช้อื่นๆ ตามความจำเป็น เช่น ค่ารถ ค่าไฟฟ้า ค่ามือถือ ค่าน้ำ เป็นต้น โดย วันที่ 4 มิถุนายนนี้ สศก. จะประชุมคณะกรรมการติดตามประเมินผลโครงการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อพิจารณากรอบ แนวทาง และวิธีการติดตามประเมินผลโครงการ เพื่อให้ทราบถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น ภายหลังจากเกษตรกรที่ได้รับเงินเยียวยาแล้ว โดยจะมีการรายงานความคืบหน้าให้ทราบโดยเร็วต่อไป
อย่างไรก็ตาม สำหรับเกษตรกรที่ยังมีปัญหา หน่วยงานในระดับพื้นที่ที่เรื่องอุทธรณ์จะได้หาทางแก้ไข หรือ เสนอคณะกรรมการพิจารณาการอุทธรณ์ฯ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่เกษตรกรอย่างทั่วถึงทุกราย โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ ได้กำชับให้ข้าราชการในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ ได้เร่งประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรที่มีรายชื่อตกหล่น หรือไม่ได้รับสิทธิ์ หรือไม่เห็นด้วยกับผลการคัดกรอง สามารถมายื่นอุทธรณ์ได้จนถึงวันที่ 5 มิถุนายนนี้ และสามารถเข้าตรวจสอบที่ www.moac.go.th ซึ่งเป็นเว็บไซต์หลักของกระทรวง ใช้ตรวจสอบข้อมูลได้เบ็ดเสร็จในที่เดียว ทั้งผลการขึ้นทะเบียนเกษตรกร ตรวจสอบสิทธิ์เงินเยียวยาเกษตรกร ตรวจสอบผลการโอนเงิน แจ้งช่องทางการรับเงินโอน ของทาง ธ.ก.ส. และตรวจสอบสถานะอุทธรณ์เงินเยียวยาเกษตรกร ทั้งนี้ อยากฝากถึงเกษตรกรทุกท่านที่ได้รับเงินเยียวยา ได้นำไปใช้เพื่อการยังชีพให้เหมาะสม หรือนำไปลงทุนให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการทำการเกษตรต่อไป