สหรัฐฯ จับมือยูนิเซฟ เร่งช่วยเหลือประชากรกลุ่มเปราะบางที่สุด และแรงงานข้ามชาติในประเทศไทย สู้วิกฤตโควิด-19

ข่าวทั่วไป Friday June 5, 2020 13:30 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--5 มิ.ย.--องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย สหรัฐอเมริกา โดยองค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา หรือ ยูเอสเอด (USAID) และ องค์การยูนิเซฟ ประสานความร่วมมือในการต่อสู้กับวิกฤตโควิด-19 เพื่อยับยั้งการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส และบรรเทาผลกระทบในกลุ่มประชากรที่เปราะบางที่สุดในประเทศไทย เช่น กลุ่มแรงงานข้ามชาติ กลุ่มประชากรไร้สัญชาติ และกลุ่มชาติพันธุ์ โดยยูเอสเอดได้มอบเงินสนับสนุนจำนวน 700,000 เหรียญสหรัฐ (ประมาณ 22.3 ล้านบาท) ให้แก่ยูนิเซฟ เพื่อใช้ดำเนินงานในด้านต่าง ๆ เพื่อรับมือกับวิกฤตโควิด-19 ที่กำลังส่งผลกระทบรุนแรงต่อประชากรกลุ่มเปราะบางที่สุดในประเทศไทย เช่น กลุ่มรายได้น้อย แรงงานข้ามชาติ กลุ่มชาติพันธุ์ และกลุ่มลูกจ้างชั่วคราว ซึ่งมักมีข้อจำกัดในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารและบริการทางสาธารณสุขที่จำเป็น นายโธมัส ดาวิน ผู้แทนองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย กล่าวว่า “กลุ่มแรงงานข้ามชาติ และประชากรกลุ่มเปราะบางล้วนเผชิญกับอุปสรรคมากมายในชีวิตมาตั้งแต่ก่อนเกิดการแพร่ระบาด เนื่องจากสถานภาพทางสังคม ข้อจำกัดทางภาษา หรือการถูกตีตราและแบ่งแยกในสังคม การรับมือกับวิกฤตโควิด-19 ครั้งนี้ เราจะต้องไม่ทอดทิ้งใครไว้ข้างหลัง ไม่ว่าจะเด็กหรือผู้ใหญ่ จุดมุ่งหมายสำคัญที่สุดคือการปกป้องสังคมโดยรวม ซึ่งเป็นเรื่องที่เราต้องรับผิดชอบร่วมกันเพื่อช่วยเหลือกลุ่มคนที่เปราะบางที่สุด โดยไม่คำนึงถึงเชื้อชาติหรือสถานะ และให้มั่นใจได้ว่าพวกเขาจะมีชีวิตอยู่อย่างปลอดภัย และสามารถเข้าถึงบริการต่าง ๆ ที่จำเป็นได้ เงินสนับสนุนจากยูเอสเอดจะช่วยให้ยูนิเซฟเข้าถึงเด็กและครอบครัวที่กำลังต้องการความช่วยเหลือที่สุดได้มากขึ้น โดยไม่มีใครต้องตกหล่น” นายปีเตอร์ เอ. มัลนัค ผู้อำนวยการยูเอสเอด สำนักงานภาคพื้นเอเชีย กล่าวว่า “ยิ่งไปกว่าผลกระทบด้านสุขภาพ การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 กำลังคุกคามชีวิตและความเป็นอยู่ของชุมชนต่าง ๆ ในสังคมทั่วภูมิภาคเอเชีย โดยประชากรกลุ่มเปราะบางที่สุดจะเป็นผู้รับผลกระทบอย่างรุนแรง ทั้งในด้านการศึกษาของเด็กและเยาวชนที่ต้องหยุดชะงัก ทั้งนี้ ยูเอสเอดพร้อมร่วมมือกับยูนิเซฟและรัฐบาลไทยในการให้ความช่วยเหลือเร่งด่วนเพื่อบรรเทาผลกระทบทางสังคมและเศรษฐกิจที่มีต่อชุมชนที่เปราะบางที่สุดทั่วประเทศไทย การร่วมมืออย่างเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน จะช่วยให้เราสร้างวิถีใหม่ในการฟื้นคืนสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีในไม่กี่เดือนข้างหน้าต่อจากนี้” ภายใต้ความร่วมมือนี้ ยูนิเซฟได้ดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ (Migrant Working Group) องค์กรภาคประชาสังคม หน่วยงานต่าง ๆ ของสหประชาชาติและรัฐบาลไทย เพื่อประสานความช่วยเหลือให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และเพื่อให้มั่นใจได้ว่าเด็ก ๆ และครอบครัวในชุมชนแรงงานข้ามชาติ หรือกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ จะได้รับความช่วยเหลือที่เหมาะสมและทันท่วงที ภายใต้ความร่วมมือนี้ ยูนิเซฟได้ดำเนินงานร่วมกับองค์กรพันธมิตร เช่น มูลนิธิรักษ์ไทย และมูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย ลงพื้นที่จัดกิจกรรมให้ความรู้ด้านสุขภาพและแนวปฏิบัติด้านสุขอนามัยแก่ประชากรข้ามชาติและกลุ่มชาติพันธุ์ราว 120,000 คนใน 22 จังหวัดทั่วประเทศไทย พร้อมชุดข้อมูลในภาษาพม่า ภาษาเขมร และภาษาลาว ตลอดจนให้คำแนะนำด้านวิธีดูแลสุขภาพจิตและการดำเนินชีวิตแก่พ่อแม่และผู้ปกครองในชุมชนเหล่านี้ นอกจากนี้ ยูนิเซฟและองค์กรพันธมิตรยังได้จัดอบรมเยาวชนข้ามชาติให้สามารถเป็นแกนนำสนับสนุนการป้องกันโรคโควิด-19 และป้องกันการตีตราแบ่งแยกในชุมชนข้ามชาติ พร้อมจัดตั้งกองทุนฉุกเฉินเพื่อช่วยให้เยาวชนเหล่านี้สามารถเรียนรู้และพัฒนาทักษะได้อย่างต่อเนื่อง นอกเหนือจากโครงการต่าง ๆ ที่มุ่งเน้นประชากรข้ามชาติแล้ว เงินสนับสนุนจากยูเอสเอดจะช่วยให้ยูนิเซฟและรัฐบาลไทย ดำเนินงานเพื่อบรรเทาผลกระทบของวิกฤตโควิด-19 ที่มีต่อเด็กและครอบครัวทั่วประเทศ ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ผ่านการพัฒนาบริการด้านสาธารณสุขและการศึกษา อาทิ การจัดส่งเครื่องมือวัดอุณหภูมิแบบอินฟราเรดให้ศูนย์ต่าง ๆ กว่า 3,000 แห่ง เช่น ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กและโรงเรียนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ สถานสงเคราะห์เด็ก และศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนทั่วประเทศ นอกจากนี้ ยูเอสเอดยังได้สนับสนุนยูนิเซฟในการพัฒนาช่องทางการให้บริการต่าง ๆ เช่น สายด่วนบริการสังคมและสุขภาพจิต ให้สามารถรองรับความต้องการของประชาชนได้ดียิ่งขึ้น ควบคู่ไปกับการปรับปรุงระบบคุ้มครองเด็กในชุมชน ทั้งในด้านการเฝ้าระวังสถานการณ์ การรายงาน และส่งต่อเมื่อเกิดเหตุรุนแรงต่อเด็ก การล่วงละเมิด การถูกทอดทิ้ง และการแสวงประโยชน์จากเด็ก ซึ่งอาจมีแนวโน้มสูงขึ้นอันเป็นผลมาจากมาตรการล็อคดาวน์ในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ