กรุงเทพฯ--5 มิ.ย.--โรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์
รพ.จิตเวชนครราชสีมาฯ ตั้งตู้ปันสุข เป็นสะพานส่งมอบสุขภาพจิตดีๆไปสู่ประชาชนทั้งผู้ให้ และช่วยคลายทุกข์ใจ บรรเทาความเดือดร้อนจากผลกระทบโควิด-19 ให้ผู้รับ ระบุการให้เป็นการทำบุญ ทำความดี เป็นอาหารบำรุงใจอย่างน้อย 3 ประการ คือได้ความสุขใจที่ยั่งยืนพร้อมทำความดีไม่สิ้นสุด ได้ผลทางอารมณ์ และเกิดความภาคภูมิใจตนเอง สร้างความรู้สึกด้านบวกเสริมความแข็งแกร่งให้จิตใจ ป้องกันการเจ็บป่วยทางจิตได้
นายแพทย์กิตต์กวี โพธิ์โน ผู้อำนวยการโรงพยาบาล(รพ.)จิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์ จ.นครราชสีมา เปิดเผยว่า รพ.จิตเวชฯได้จัดตั้งตู้ปันสุข เพื่อใช้เป็นสะพานส่งมอบสุขภาพจิตดีๆไปสู่ประชาชน และบรรเทาความเดือดร้อน คลี่คลายทุกข์ใจเบื้องต้นให้แก่ประชาชนในชุมชนรอบข้างรพ.จิตเวชฯที่ได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19 ( COVID-19 ) เช่นชุมชนสวนหม่อน ชุมชนช้างเผือก รวมทั้งประชาชนทั่วไปและญาติผู้ป่วยจิตเวชในเขตสุขภาพที่ 9 ประกอบด้วยนครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์และสุรินทร์ด้วย โดยตั้งตู้ปันสุขที่บริเวณด้านหน้าของรพ. เข้าถึงง่าย ปลอดภัย มีคณะกรรมการสร้างเสริมความสุขของรพ.ดูแลด้านคุณภาพอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งเป็นแกนกลางประสานงานคนใจดี และจะตั้งอย่างถาวร ตู้ปันสุขนี้จะให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง ทั้งอาหารสด เช่นผักสวนครัวปลอดสารพิษ ซึ่งปลูกโดยผู้ป่วยจิตเวชที่อยู่ระหว่างการฟื้นฟูสมรรถภาพ เครื่องดื่มสมุนไพร น้ำดื่ม ข้าวสาร อาหารแห้งต่างๆ รวมทั้งเครื่องใช้จำเป็นอื่นๆ เช่น เสื้อผ้า หน้ากากผ้า เจลแอลกอฮอล์ล้างมือสำหรับฆ่าเชื้อป้องกันโรค หน้ากากพลาสติกที่ทำโดยผู้ป่วยจิตเวชเช่นกัน ช่วยลดค่าใช้จ่ายประชาชนสามารถนำกลับไปใช้ที่บ้านในยุคนิว นอร์มอล (new normal) ได้
“ ตู้ปันสุขนี้ให้ประโยชน์ 2 สิ่ง คืออาหารกาย คือผู้รับได้อาหาร เป็นเครื่องหล่อเลี้ยงชีวิตทางกาย ทำให้ร่างกายแข็งแรง มีพลังทำงาน และได้อาหารบำรุงใจ ทำให้จิตใจสดชื่น เข้มแข็ง เราจะขาดอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้ หลักการของการแบ่งปันไม่ว่าอาหาร ของใช้ต่างๆเพื่อการอุปโภค บริโภค โดยไม่หวังผลตอบแทน เปรียบเสมือนเป็นการทำบุญ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของการทำความดี ช่วยกำจัดสิ่งเศร้าหมองออกไปจากใจ ยิ่งให้บ่อยยิ่งเป็นผลดี นอกจากนี้การทำกิจกรรมช่วยเหลือสาธารณประโยชน์ แบ่งปัน ทำให้มีความสุขได้เช่นกัน” นายแพทย์กิตต์กวีกล่าว
นายแพทย์กิตต์กวีกล่าวต่อไปว่า ในเชิงของจิตวิทยานั้น บุญจะให้ผลต่อจิตใจโดยตรง ซึ่งเป็นผลดีต่อการสร้างสุขภาพจิตดีที่เป็นรูปธรรมและสัมผัสได้จริงอย่างน้อย 3 ประการ ประการแรกคือ ช่วยให้จิตใจความรู้สึกของผู้ให้รู้จักการแบ่งปัน มีความสุขที่สงบและยั่งยืน และพร้อมจะกระทำคุณความดีในขั้นต่อไป ประการที่ 2 คือ การช่วยด้านอารมณ์เช่นเกิดความเห็นอกเห็นใจกันมากขึ้น ประการสุดท้ายคือ ช่วยสร้างความภาคภูมิใจในตนเอง ( Self esteem) สร้างความมีคุณค่าให้ตนเอง ซึ่งเป็นความต้องการพื้นฐานของมนุษย์ที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรม การอบรมเลี้ยงดู เป็นต้นทุนพื้นฐานของการมีสุขภาพจิตดี ป้องกันการเจ็บป่วยทางจิตได้ เนื่องจากความภาคภูมิใจ ความรู้สึกว่าตนเองมีคุณค่า เป็นความรู้สึกในด้านบวกของชีวิต จะก่อให้เกิดความเข้มแข็งทางจิตใจ สามารถปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ที่แวดล้อมได้ดี