กรุงเทพฯ--8 มิ.ย.--มหาวิทยาลัยมหิดล
การศึกษาด้านกายภาพบำบัด ถือเป็นความหวังสำคัญของการสร้างนวัตกรรมเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยในโลกยุคดิสรัปชั่น เนื่องจากเป็นวิชาชีพที่มีความเกี่ยวข้องกับการส่งเสริม ป้องกัน รักษา และฟื้นฟูสุขภาพและสมรรถภาพร่างกายของผู้ป่วย โจทย์วิจัยจึงตั้งขึ้นตามความต้องการของผู้ป่วยโดยตรง โดยเฉพาะผู้ป่วยในกลุ่มสูงอายุที่มีมากขึ้นตามแนวโน้มของสภาวการณ์ของสังคมที่เปลี่ยนไป
ท่ามกลางปัญหาความขาดแคลนนักกายภาพบำบัดที่ไม่เพียงพอต่อความต้องการของสังคมไทย ซึ่งในจำนวนประชากรทั้งหมดประมาณ 70 ล้านคน ประเทศไทยมีนักกายภาพบำบัดจำนวนเพียงประมาณไม่ถึงหนึ่งหมื่นคน ในขณะที่สถาบันการศึกษากายภาพบำบัดในประเทศไทยมีจำนวนทั้งสิ้นเพียง 16 แห่ง โดย มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นสถาบันแรกที่มีการเรียนการสอนด้านกายภาพบำบัด นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2508 โดยปัจจุบันเป็นกำลังสำคัญในการผลิตบัณฑิตกายภาพบำบัด ทั้งในระดับปริญญาตรี โท เอก เพื่อรับใช้สังคมไทยมาร่วม 55 ปี
รองศาสตราจารย์ ดร.กภ.จารุกูล ตรีไตรลักษณะ คณบดีคณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า คณะฯ ได้เล็งเห็นความสำคัญในการสร้างความเข้มแข็งในด้านการวิจัย จึงได้จัดประชุมวิชาการระดับนานาชาติ เพื่อเป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ทางวิชาการทางด้านกายภาพบำบัด โดยในปีนี้จัดขึ้นเป็นปีที่ 8 โดย 2 ปีที่ผ่านมาจัดร่วมกับ ภาควิชากายภาพบำบัด คณะสหเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ภาควิชากายภาพบำบัด คณะสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ประชุมวิชาการและวิจัย The International Physical Therapy Research Symposium 2020 (IPTRS 2020) ปีนี้จัดในหัวข้อ "Innovation in Physical Therapy" วัตถุประสงค์เพื่อการสร้างเครือข่าย และแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีด้านการสร้างนวัตกรรมทางกายภาพบำบัด โดยเป็นครั้งแรกที่จัดขึ้นในรูปแบบของ Semi-virtual Symposium เผยแพร่ผ่านระบบออนไลน์ เพื่อลดความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส Covid – 19 ด้วยการจัดที่นั่งแบบเว้นระยะห่างทางกายภาพ (Physical Distancing) ภายในห้องประชุม
ศาสตราจารย์ นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะประธานเปิดงาน กล่าวว่า "นวัตกรรม" (Innovation) คือการแก้ปัญหาที่เกาะกระแสโจทย์ต่างๆ ที่ท้าทายที่เกิดขึ้นในสังคม ด้วยความคิดนอกกรอบ ผ่านการบริหารจัดการทรัพยากรที่มีประสิทธิภาพ ตอบสนองความต้องการของสังคมได้อย่างแท้จริง
ในการประชุมวิชาการครั้งนี้ ศาสตราจารย์ ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (KMUTT) ได้ให้เกียรติเสวนาหัวข้อ “Innovation in Physical Therapy: Disruptive World” โดยกล่าวว่า แรงบันดาลใจ (Passion) คือจุดเริ่มต้นของการริเริ่มสร้างสรรค์นวัตกรรม โดยมีอุปสรรคและคู่แข่งขันเป็นความท้าทาย สิ่งสำคัญที่สุด คือ ต้องทำด้วยหัวใจ และจริยธรรม
ร่วมด้วย ศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์ ภัทรชัย กีรติสิน ผู้อำนวยการสถาบันบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยมหิดล (iNT) ที่มาร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นแนวคิดเพื่อการสร้างสรรค์นวัตกรรมในโลกยุคดิสรัปชั่น ด้วยหลักสำคัญ 3 ประการ คือ "Build" หรือ การสร้างขึ้นมาจากการคิด วิเคราะห์ วิจัย "Measure" หรือ การทดลองใช้และประเมิน เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ รับฟัง feedback ต่างๆ และ "Learn" หรือ การปรับปรุงต่อยอดจากสิ่งที่ได้เรียนรู้หรือจากการประเมินที่ได้รับ ซึ่งอาจจะนำกลับไป "Build" ใน version ใหม่ที่ดีขึ้น เป็นวงจรเช่นนี้ไปเรื่อยๆ จนได้ผลงานที่เป็นที่ต้องการของตลาดอย่างแท้จริง บางผลิตภัณฑ์อาจต้องผ่านวงจรนี้หลายรอบ หรือวนเช่นนี้ไปแม้ว่าผลิตภัณฑ์นั้นจะได้นำไปใช้จริงแล้วก็ตาม
ศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์ ภัทรชัย กีรติสิน อธิบายว่า หลักการ Build - Measure - Learn มีแนวคิดมาจากเรื่อง "Lean Startup" ซึ่งเป็นการใช้ทรัพยากรตามความจำเป็น ใช้เวลาน้อย ไม่ลงทุนครั้งเดียวมากๆ แต่ช่วยพัฒนาผลงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นได้เรื่อย และทันต่อกระแสความต้องการของผู้ใช้และสังคม ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการสร้างสรรค์นวัตกรรมในโลกยุคดิสรัปชั่น
เร็วๆ นี้ มหาวิทยาลัยมหิดล โดย สถาบันบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยมหิดล (iNT) จะริเริ่มดำเนินโครงการ University Industrial Collaboration (UIC) ซึ่งจะเป็นการร่วมมือกันระหว่างมหาวิทยาลัยมหิดลกับภาคอุตสาหกรรม ให้มีการเริ่มต้นคิดโจทย์วิจัยร่วมกัน เพื่อให้ทันต่อความต้องการของตลาดใน 4 ด้าน คือ เครื่องมือแพทย์ (Medical Devices) Medical AI (ปัญญาประดิษฐ์ทางการแพทย์) Medical Food (อาหารทางการแพทย์) และ คุณภาพชีวิต (Quality of Life) โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับผู้สูงอายุ ที่กำลังเป็นประเด็นเร่งด่วนของสังคมไทยในปัจจุบัน
"สิ่งที่มหาวิทยาลัยมหิดลอยากจะเห็นในการพัฒนานวัตกรรมทางด้านกายภาพบำบัดในโลกยุคดิสรัปชั่น คือ Deep Tech ซึ่งเป็นการพัฒนาเครื่องมือที่จำเป็นที่ใช้เทคโนโลยีที่สามารถนำไปใช้ช่วยเหลือผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพและตรงจุด ซึ่งต้องลงทุนสูง จึงจำเป็นต้องมีการวางแผนการตลาดล่วงหน้า ด้วยการตกลงกันระหว่างฝ่ายวิจัย และฝ่ายการตลาดตั้งแต่เริ่มต้น"
"เชื่อว่านักกายภาพบำบัด คือ "นวัตกร" (Innovator) โดยสายเลือด ถึงเวลาแล้วที่จะต้องพัฒนานวัตกรรมโดยให้ความสำคัญในเชิงพาณิชย์ด้วย เพื่อเป็นการต่อยอดที่ตอบโจทย์ประโยชน์ของประชาชน และการพัฒนาวิชาชีพนักกายภาพบำบัดที่ยั่งยืนต่อไป" ศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์ ภัทรชัย กีรติสิน กล่าวทิ้งท้าย