กรุงเทพฯ--8 มิ.ย.--สทนช.
พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ตรวจติดตามสถานการณ์ผักตบชวาและวัชพืชในลุ่มน้ำภาคกลาง (แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำท่าจีน แม่น้ำน้อย คลองรังสิตประยูรศักดิ์) โดยรองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการติดตามสถานการณ์ผักตบชวาและวัชพืช ในลุ่มน้ำภาคกลาง ณ ห้องเตรียมบิน กองการบิน ศูนย์การเคลื่อนย้ายกองทัพบก พร้อมทั้งขึ้นเฮลิคอปเตอร์ เพื่อสำรวจเส้นทางการไหลของผักตบชวา พร้อมด้วย ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง และนายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน
พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ปัญหาผักตบชวาและวัชพืชในแม่น้ำของประเทศ เป็นปัญหาที่รัฐบาลได้ให้ความสำคัญในการแก้ไขเป็นอย่างยิ่ง และได้ติดตามผลการดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้กับพี่น้องประชาชนที่ใช้เส้นทางน้ำในการคมนาคม ขนส่ง เป็นประจำ พร้อมทั้งเตรียมความพร้อมในการรับมือกับปัญหาน้ำหลากในช่วงฤดูฝน ซึ่งจากการประชุมเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2563 ณ ห้องประชุมโรงเรียนวัดทรงคนอง อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม ได้มอบหมายให้ 4 หน่วยงานรับผิดชอบพื้นที่ที่มีการสะสมของผักตบชวาและวัชพืชในแม่น้ำสายหลักและแหล่งน้ำเชื่อมโยง ได้แก่ กรมโยธาธิการและผังเมือง กรมชลประทาน กรมเจ้าท่า กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น โดยใช้รายงานการสำรวจผักตบชวาของสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA เพื่อให้ทุกหน่วยงาน ที่รับผิดชอบในการแก้ไขปัญหาผักตบชวาเห็นภาพปัญหาได้ชัดเจนยิ่งขึ้น และได้เร่งรัดดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในเดือนมิถุนายนนี้ วันนี้จึงได้ใช้เฮลิคอปเตอร์บินสำรวจสถานการณ์ผักตบชวา ในพื้นที่ลุ่มน้ำภาคกลางตอนล่าง ได้แก่ คลองหกวา คลองสอง คลองสาม คลองรังสิตประยูรศักดิ์ และได้บินไปสำรวจในแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำน้อย บริเวณประตูระบายน้ำผักไห่และแม่น้ำท่าจีน บริเวณประตูระบายน้ำโพธิ์พระยา จังหวัดสุพรรณบุรี เรื่อยมาจนถึงบริเวณหน้าวัดบางช้างเหนือ จังหวัดนครปฐม จากการบินสำรวจพบว่ายังมีหลายจุดที่มีผักตบชวาสะสมอยู่ปริมาณมาก จึงได้กำชับให้ทุกหน่วยเร่งดำเนินการกำจัดผักตบชวาให้ทันก่อนที่น้ำเหนือจะไหลหลากลงมาในช่วงเดือนกรกฎาคม การกำจัดผักตบชวาให้สิ้นซากนั้นแม้จะเป็นเรื่องยาก แต่ถ้าหากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกหน่วยงานร่วมมือกันอย่างจริงจัง ประชาชนที่อยู่ริมน้ำทุกหลังคาเรือนช่วยกันดูแลความสะอาดหน้าบ้านของตนเองอย่างสม่ำเสมอ เชื่อว่าปัญหาผักตบชวาก็จะหมดไปจากแม่น้ำ ลำคลองและเกิดความยั่งยืนต่อไป
ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวเพิ่มเติมว่า ภาพรวมการกำจัดผักตบชวาในแม่น้ำหลายหลักและจุดเชื่อมต่อโดย 4 หน่วยงานมีความก้าวหน้ามากกว่า 90% ซึ่งจากนี้จะมีการเร่งรัดดำเนินการให้แล้วเสร็จตามข้อสั่งการของรองนายกรัฐมนตรีอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะคลองซอยที่ท้องถิ่นจะเข้ามามีส่วนร่วม รวมถึงพิจารณามาตรการเสริมเพิ่มเติม เพื่อไม่ให้เกิดผักตบชวาเติบโตได้เร็วขึ้นและเกิดความยั่งยืน อาทิ การตั้งจุดจัดเก็บถาวร กำหนดอัตราค่าจัดเก็บ เพื่อเป็นมาตรการจูงใจให้ประชาชนในพื้นที่ร่วมกำจัดผักตบชวาตามระเบียบของสำนักงบประมาณ และมอบเรือท้องแบนให้กับชุมชนริมคลองเพิ่มขึ้นจากเดิมที่จัดหาแล้วจำนวน 790 ลำ การใช้สารเคมีในการควบคุมการเจริญเติบโตของผักตบ โดยมีผลงานวิจัยที่ชัดเจนว่าไม่กระทบกับสิ่งแวดล้อมและคุณภาพน้ำ รวมถึงควบคุมการทิ้งขยะและน้ำเสียลงสู่แม่น้ำลำคลอง เพื่อให้ผักตบชวาเข้าสู่แม่น้ำสายหลักน้อยสุด ที่จะเป็นอุปสรรคต่อการระบายน้ำในช่วงน้ำหลาก ซึ่งคาดว่าจะมีฝนมากขึ้นในเดือนกรกฎาคมที่จะส่งผลให้กระแสน้ำเชี่ยวและกำจัดได้ยากขึ้น โดย สทนช. จะนำเสนอ 8 มาตรการในการบริหารจัดการน้ำรับมือฤดูฝนเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในวันพรุ่งนี้ (9 มิ.ย. 63) เพื่อให้การขับเคลื่อนมาตรการเชิงป้องกันโดยหน่วยงานราชการต่าง ๆ เกิดประสิทธิภาพ
ด้าน นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง กล่าวเพิ่มเติมว่า การตรวจติดตามสถานการณ์ผักตบชวาและวัชพืชของรองนายกในวันนี้ สืบเนื่องจากการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2563 การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ในการจัดเก็บผักตบชวาบริเวณวัดทรงคนอง แม่น้ำท่าจีน จังหวัดนครปฐม และตรวจติดตามผลการจัดเก็บผักตบชวา โดยใช้ข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมของ GISTDA สำรวจ เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2563 ซึ่งได้มอบหมายให้ 4 หน่วยงานหลักดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยรองนายกได้แจ้งในที่ประชุมให้มีการบินสำรวจด้วยเฮลิคอปเตอร์เพื่อสำรวจพื้นที่ลุ่มน้ำภาคกลางตอนล่าง ซึ่งจะทำให้มองเห็นเส้นทางและปริมาณการไหลของผักตบชวาที่สะสมอยู่ในพื้นที่ต่างๆได้อย่างชัดเจน จึงได้เชิญหน่วยงานที่รับผิดชอบดำเนินการจัดเก็บผักตบชวาร่วมทำการบินสำรวจในครั้งนี้ และได้มีการถ่ายภาพเพิ่มในลุ่มน้ำภาคกลาง และภาคตะวันออก ของ GISTDA เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2563 พบว่ามีการสะสมของผักตบชวา จำนวน 128 จุด 19 จังหวัด สะสมเป็นจำนวนมากในแม่น้ำสายหลัก จำนวน 47 จุด ได้แก่ แม่น้ำเจ้าพระยา 2 จุด แม่น้ำน้อย 15 จุด แม่น้ำท่าจีน 23 จุด แม่น้ำปาสัก 1 จุด แม่น้ำลพบุรี 6 จุด รวมปริมาณผักตบชวาในแม่น้ำสายหลักทั้งสิ้น 165,360 ตัน
จากผลสำรวจข้างต้น ได้มีการแบ่งพื้นที่รับผิดชอบไว้ดังนี้
กรมชลประทาน รับผิดชอบ 1.แม่น้ำท่าจีน (ประตูระบายน้ำพลเทพ ถึงประตูระบายน้ำโพธิ์พระยา ระยะทาง 120 กม.) มีปริมาณผักตบชวา 13,680 ตัน 2.แม่น้ำน้อย (ประตูระบายน้ำบรมธาตุถึงประตูระบายน้ำผักไห่ระยะทาง 97 กม.) มีปริมาณผักตบชวา 16,320 ตัน 3. คลองรังสิตประยูรศักดิ์ คลองสอง คลองสาม และคลองหกวา มีปริมาณผักตบชวา 15,600 ตันกรมเจ้าท่า รับผิดชอบ 1.แม่น้ำเจ้าพระยา ระยะทาง 160 กม. มีปริมาณผักตบชวา 20,880 ตัน 2.แม่น้ำน้อย (ใต้ประตูระบายน้ำผักไห่ถึงจุดเชื่อมต่อแม่น้ำเจ้าพระยาที่อำเภอบางไทร ระยะทาง 42 เมตร) มีปริมาณผักตบชวา 50,640 ตันกรมโยธาธิการและผังเมือง รับผิดชอบ 1.แม่น้ำท่าจีน (ใต้ประตูระบายน้ำโพธิ์พระยาถึงอ่าวไทยระยะทาง 200 กม.) มีปริมาณผักตบชวา 55,600 ตัน
สำหรับการบินสำรวจในวันนี้จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการแก้ไขปัญหาผักตบชวาให้กับพี่น้องประชาชน และเตรียมความพร้อมในการรับมือกับปัญหาน้ำหลากได้เป็นอย่างดี ซึ่งรัฐบาลให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่งในการเร่งรัดแก้ไขปัญหาเพื่อให้แม่น้ำปลอดผักตบชวา การคมนาคม ขนส่งสะดวกสบาย แก้ไขปัญหาน้ำท่วม และประชาชนริมน้ำมีวิถีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีต่อไป