กรุงเทพฯ--9 มิ.ย.--สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์
จากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบโดยตรงต่อเศรษฐกิจของประเทศไทยอย่างรุนแรง เนื่องจากไทยเป็นประเทศอันดับต้น ๆ ของโลก ที่รายได้ส่วนใหญ่ของประเทศพึ่งพาภาคธุรกิจการท่องเที่ยว การส่งออกและนำเข้าในระดับที่สูงมาก ในการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 รัฐบาลเลือกใช้มาตรการการปิดประเทศ ออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ฉุกเฉิน ตามมาด้วย พ.ร.ก. ประกาศเคอร์ฟิว ทำให้กิจกรรมทางสังคมและเศรษฐกิจทั้งหมดหยุดชะงักชั่วคราว ผู้ประกอบการและบริษัทต่าง ๆ ไม่สามารถดำเนินกิจกรรมทางธุรกิจได้เหมือนดังเดิม จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่รัฐบาลต้องหามาตรการทางการเงินที่จะเข้ามาฟื้นฟู เยียวยา ช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจอย่างรอบคอบและรวดเร็ว ด้วยเวลาและงบประมาณที่มีอยู่อย่างจำกัด รัฐบาลจึงได้ออกมาตรการเสริมสภาพคล่องที่เรียกว่า สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ หรือ Soft loan ด้วยเม็ดเงิน มหาศาลมากถึง 6.5 แสนล้านบาท เพื่ออัดฉีดกระแสเงินสดเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจของประเทศผ่านธนาคารแห่งประเทศไทย
มาตรการสนับสนุนสินเชื่อ Soft loan เป็นมาตรการที่ภาคเอกชนได้ตั้งความคาดหวังไว้อย่างสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเหล่าผู้ประกอบการ SMEs ที่มีเงินทุนหมุนเวียนอย่างจำกัด เมื่อเผชิญปัญหาวิกฤตทางเศรษฐกิจก็จะเป็นกลุ่มต้น ๆ ที่ได้รับผลกระทบอย่างหนัก ดังนั้นเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำนี้จะมาช่วยประคับประคองและชะลอสถานการณ์อันย่ำแย่ที่ธุรกิจเหล่านี้ประสบอยู่ โดยหลักการ มาตรการ Soft loan นี้ มีประโยชน์และมีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจเป็นอย่างยิ่ง