กรุงเทพฯ--9 มิ.ย.--มิวท์
“เวียดนาม” ดูจะเป็นประเทศเนื้อหอมในกลุ่ม CLMV มากที่สุดในขณะนี้ จากปัจจัยบวกหลายๆ ด้าน และการควบคุมสถานการณ์ระบาดของโรคโควิด-19 (COVID-19) ที่ทำได้ดีกว่าหลายๆ ประเทศในแถบนี้ ข่าวที่มักได้ยินกันบ่อยๆ ในระยะหลังมานี้ คือการย้ายฐานการผลิตของธุรกิจใหญ่ โดยเฉพาะเมื่อมีวิกฤตการณ์โควิด-19 มาเป็นตัวแปรสำคัญ ที่ทำให้เกิดแนวคิดแบบ Agile Supply Chain เพื่อให้กระบวนการผลิตมีความยืดหยุ่นและคล่องตัวมากขึ้น ทำให้เกิดการลงทุนในฐานการผลิตอื่นๆ นอกจากจีน เพื่อเป็นการกระจายความเสี่ยงและแก้ปัญหาการชะงักงันของการผลิต
แบรนด์ดังต่างๆ มีการย้ายฐานการผลิตไปยังเวียดนาม ไม่ว่าจะเป็น Apple ของสหรัฐฯ ซึ่งย้ายฐานการผลิต AirPods บางส่วนจากจีนมายังเวียดนาม กล่าวคือร้อยละ 30 ของกำลังการผลิตทั้งหมดหรือประมาณ 3 - 4 ล้านชิ้น เนื่องจาก Apple พยายามลดความเสี่ยงเรื่องห่วงโซ่การผลิตที่เกิดจากสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ในขณะที่ Samsung ของเกาหลีใต้ ได้วางแผนย้ายสายการผลิตโทรศัพท์สมาร์ทโฟนบางรุ่นไปยังเวียดนาม และล่าสุด Panasonic ที่ย้ายฐานการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้ากลุ่มเครื่องซักผ้าและตู้เย็นจากประเทศไทยไปเวียดนาม ซึ่งแน่นอนว่าเมื่อมีการย้ายฐานการผลิตเหล่านี้มายังเวียดนามย่อมส่งผลต่อการเติบโตของอสังหาริมทรัพย์เพื่อการอุตสาหกรรมควบคู่กันไปด้วย ตามแผนยุทธศาสตร์เปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลแห่งชาติ (National Digital Transformation Program) จนถึงปี 2568 และวิสัยทัศน์สู่ปี 2566 (Vision to 2030) ของเวียดนามระบุว่าเวียดนามตั้งเป้าหมายเป็นหนึ่งใน 35 ประเทศแรกของดัชนีนวัตกรรมโลก (GII) ภายในปี 2568
นายสมเด็จ สุสมบูรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ได้รับข้อมูลจากสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงฮานอย ซึ่งรายงานว่า ในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2563 ประเทศเวียดนามได้ดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศมูลค่า 12,330 ล้านเหรียญสหรัฐฯ รวมทั้งสิ้นกว่า 980 โครงการ ซึ่งประเทศไทยจัดอยู่ในอันดับที่ 2 จาก 93 ประเทศที่เข้าไปลงทุนในเวียดนาม โดยระหว่างวันที่ 1 มกราคม – 20 เมษายน 2563 บริษัทไทยเข้าไปลงทุนในเวียดนามมูลค่า 1,455 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยมีโครงการใหม่จำนวน 9 โครงการ มูลค่า 22.27 ล้านเหรียญสหรัฐ โครงการที่เพิ่มมูลค่าการลงทุนจำนวน 3 โครงการ มูลค่า 1,390 ล้านเหรียญสหรัฐ และโครงการที่นักลงทุนไทยซื้อหุ้นจากบริษัทเวียดนามจำนวน 56 โครงการ มูลค่า 43.3 ล้านเหรียญสหรัฐ
ขณะเดียวกัน เวียดนามนำเข้าสินค้าจากไทยที่มีมูลค่าสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้าและชิ้นส่วน คอมพิวเตอร์อิเล็กทรอนิกส์และส่วนประกอบ ยานพาหนะ (รถยนต์) เครื่องจักร อุปกรณ์ เครื่องมือและส่วนประกอบ และเม็ดพลาสติก
“จากภาพรวมของการที่เวียดนามมีโครงการลงทุนจากต่างชาติมากขึ้นในอุตสาหกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมการผลิตและแปรรูปอสังหาริมทรัพย์ การผลิตและจำหน่ายไฟฟ้า ประกอบกับนโยบายการส่งเสริมด้านดิจิทัลและนวัตกรรม โดยเฉพาะการย้ายฐานการผลิตของบริษัทข้ามชาติจากจีนมายังเวียดนามนั้น ทำให้เวียดนามมีความต้องการสำหรับสินค้าวัตถุดิบเพื่อใช้ในการผลิตและการก่อสร้างมากขึ้น จึงเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการไทยในธุรกิจต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ พลาสติก หรือแม้แต่กลุ่มที่พัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ ได้เข้าร่วมเป็นหนึ่งในห่วงโซ่อุปทาน (Supply chain) ของเวียดนาม” นายสมเด็จกล่าวเสริม
การเข้าร่วมงานแสดงสินค้านานาชาติในเวียดนามยังเป็นอีกหนึ่งช่องทางของผู้ประกอบการในการสร้างโอกาสเข้าสู่ตลาดเวียดนาม ได้แนะนำสินค้า รวมถึงแสวงหาคู่ค้า/ตัวแทนจำหน่าย อีกทั้งยังเป็นโอกาสในการศึกษาตลาด ความต้องการของลูกค้า และสภาพการแข่งขันในเวียดนามด้วย
งานแสดงสินค้าที่น่าสนใจในเวียดนามที่ผู้ประกอบการไทยสามารถสมัครเข้าร่วมงานได้ อาทิ
AUTOMECHANIKA HO CHI MINH CITY 2020 ระหว่างวันที่ 20 – 22 สิงหาคม 2563 งานแสดงสินค้าเกี่ยวกับยานยนต์ ส่วนประกอบ อะไหล่ยนต์และอุปกรณ์ซ่อมบำรุงและการดูแลรถPROPAK VIETNAM 2020 ระหว่างวันที่ 9 – 11 กันยายน 2563 งานแสดงสินค้าเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์จากพลาสติก เครื่องบรรจุภัณฑ์ ม่านกันอากาศ ตะแกรงเหล็กและชั้นวางสิ่งของMETALEX VIETNAM 2020 ระหว่างวันที่ 8 – 10 ตุลาคม 2563 งานแสดงสินค้าเกี่ยวกับเครื่องจักรกล อุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องใช้และเทคโนโลยีโลหะการที่เกี่ยวข้อง
สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจเข้าร่วมงานแสดงสินค้าและต้องการขอรับการสนับสนุนจากกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ สามารถเข้าร่วมโครงการ SMEs Pro-active หรือสอบถามรายละเอียดได้ที่ 02-507-7783 หรือ 02-507-7786
ข้อมูลน่าสนใจ
5 เหตุผลหลักๆ ที่ส่งเสริมให้เวียดนามโดดเด่น ได้แก่
การเกิดสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน ที่ทำให้ธุรกิจใหญ่ๆ ของโลกหลายบริษัทย้ายฐานการผลิตจากจีนมาเวียดนาม เพื่อลดความเสี่ยงการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ทำได้ดีกว่าหลายๆ ประเทศในภูมิภาคเดียวกันมีแรงงานจำนวนมากและค่าแรงต่ำ ประชากรกว่า 97 ล้านคนของเวียดนามส่วนใหญ่อยู่ในวัยแรงงานโครงสร้างพื้นฐานทางบก ทางน้ำ ทางอากาศ และระบบคลังสินค้าค่อนข้างดี โดยเฉพาะการเตรียมสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 3 ของสนามบินนานาชาติเติ่นเซินเญิต ที่มีพื้นที่ใช้สอยราว 100,000 ตารางเมตร สามารถรองรับผู้โดยสารได้ 20 ล้านคนต่อปีมีนโยบายสนับสนุนให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน อาทิ การให้สิทธิทางภาษีต่าง ๆ แก่นักลงทุนชาวต่างชาติ อีกทั้งเวียดนามกำลังจะเป็นประเทศที่สองของสมาคมอาเซียนที่ทำข้อตกลงการค้าเสรีกับสหภาพยุโรป EVFTA ซึ่งช่วยลดภาษีนำเข้าสินค้าระหว่างเวียดนามกับสหภาพยุโรปลงถึง 99 %