กรุงเทพฯ--9 มิ.ย.--อัลลิสัน แอนด์ พาร์ทเนอส์ (ไทยแลนด์)
Alex Tan ผู้อำนวยการฝ่ายขาย ธุรกิจ Physical Access Control Solutions ประจำภูมิภาคอาเซียน ของ HID Global บริษัทผู้นำระดับโลกด้านโซลูชั่นการระบุตัวตน ได้เปิดเผยว่าระบบควบคุมและมาตรการความปลอดภัยในการเข้า-ออกอาคารที่หลายองค์กรทั่วโลกใช้อยู่ขณะนี้ เริ่มที่จะล้าสมัย และยิ่งไปกว่านั้น การพัฒนาระบบให้ทันสมัยมากขึ้นก็ยังไม่ใช่แผนเร่งด่วนในอนาคตอันใกล้
ปัจจุบันภัยคุกคามที่องค์กรต่างๆ ต้องเผชิญ ได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งยังมีความซับซ้อน และรุนแรงมากขึ้น จึงมีคำถามว่าระบบและอุปกรณ์ควบคุมการเข้า-ออกอาคารที่ใช้งานมานานแล้วนั้น ยังสามารถป้องกันได้เพียงพอหรือไม่
กระนั้นก็ตาม การลงทุนเพื่อใช้เทคโนโลยีด้านความปลอดภัยที่ล้ำหน้ามากขึ้นของหลายบริษัทก็ยังเป็นไปอย่างเชื่องช้า แผนการอัพเกรดระบบให้ทันสมัย ต้องใช้เวลาพิจารณามากกว่า 1 ปี โดยมีสาเหตุหลักคืองบประมาณ แต่ความเสียหาย และความรุนแรงจากภัยคุกคามที่เพิ่มมากขึ้นนั้น ได้ทำให้ผู้อำนวยการแผนก Security ของหลายบริษัท มีมุมมองที่เปลี่ยนไป
เมื่อเร็วๆ นี้ HID Global ได้ริเริ่มการจัดทำรายงานเรื่องระบบควบคุมการเข้า-ออกอาคาร ประจำปี 2020 ซึ่งเปิดเผยว่าวิธีที่องค์กรต่างๆ ใช้เพื่อยืนยันตัวตนในการเข้า-ออกนั้น การระบุชื่อผู้ใช้งานและรหัสผ่านเป็นวิธีที่แพร่หลาย ส่วนวิธีอื่นๆ คือ การใช้บัตรรับรองอิเล็กทรอนิกส์ การใช้โทเคน (token) และสมาร์ทการ์ด ทั้งนี้ จากการสำรวจ มีองค์กรน้อยกว่า 15% ที่ใช้ข้อมูลอัตลักษณ์ตัวตนทางชีวภาพ หรือ Biometrics รวมทั้ง SMS และการแจ้งเตือน
การประสานกันระหว่างระบบความปลอดภัยในการเข้า-ออกอาคารและระบบไอทีนั้นเป็นสิ่งสำคัญ เพราะระบบความปลอดภัยที่มีประสิทธิภาพนั้น จะต้องป้องกันทั้งการลักลอบเข้า-ออกอาคาร และภัยคุกคามจากภายใน
ในปัจจุบัน องค์กรต้องให้ความสำคัญเรื่องความปลอดภัยในการเข้า-ออกทางกายภาพเช่นเดียวกับเรื่องเครือข่ายไอทีโดยต้องจัดสรรงบประมาณอย่างเพียงพอเพื่อยกระดับมาตรการความปลอดภัยให้ครอบคลุม อาทิ การตรวจหาข้อบกพร่องของระบบที่ใช้งานมานานแล้ว ตรวจวัดประสิทธิภาพ และปรับปรุงระบบให้ดีขึ้น
เทคโนโลยีขั้นสูงที่จะมีบทบาทสำคัญในการปรับปรุงระบบควบคุมการเข้า-ออกทั้งหมดขององค์กร จะต้องผสมผสานระบบควบคุมการเข้า-ออกทางกายภาพและการเข้าถึงข้อมูลทางดิจิตอลไว้ได้ด้วยกัน และจำกัดการเข้าถึงข้อมูลทางดิจิตอลของพนักงานเฉพาะที่จำเป็นต้องใช้ตามหน้าที่เท่านั้น
ขณะที่องค์กรจำนวนมากกำลังมุ่งผสานการทำงานร่วมกันระหว่างส่วนที่ดูแลด้านความปลอดภัย และส่วนไอที ก็ยังมีความท้าทายทั้งในเรื่องของการปฏิบัติ การลำดับความสำคัญของเทคโนโลยีใหม่ ความซับซ้อนทางเทคโนโลยีที่เพิ่มขึ้น และการจัดการระบบซึ่งต้องใช้ความชำนาญที่หลากหลาย
ในอีกไม่นาน การเข้า-ออกอาคารโดยใช้โทรศัพท์มือถือ หรือแอปพลิเคชันบนมือถือ จะได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น และจะมีบทบาทสำคัญในการกำหนดแนวทางของอุตสาหกรรมระบบควบคุมการเข้า-ออก ประมาณ 25% ขององค์กรที่ทำการสำรวจ ได้มีการใช้งานแบบเต็มรูปแบบหรือเฉพาะบางส่วนแล้ว ซึ่งแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นนี้ มีประเด็นท้าทายที่สำคัญ คือการปรับปรุงระบบจะต้องไม่ทำให้องค์กรต้องยึดติดกับอุปกรณ์ใดอุปกรณ์หนึ่งและวิธีการสื่อสารอย่างใดอย่างหนึ่ง
เทคโนโลยีที่ออกแบบมาเพื่อใช้กับโทรศัพท์มือถือนั้น ทำงานได้รวดเร็ว มีความสะดวกสบาย มีองค์ประกอบในเรื่องความปลอดภัยที่หลากหลายเพิ่มมากขึ้น เช่น มีการสแกนทางชีวภาพ (Biometrics) ที่มาพร้อมกับโทรศัพท์มือถือ และมีความยืดหยุ่น โดยพนักงาน คู่ค้าทางธุรกิจ และผู้ที่มาติดต่อโดยทั่วไปจะพกพาสมาร์ทโฟนอยู่แล้ว การส่งบัตรผ่านเข้า-ออกด้วยโทรศัพท์มือถือนั้น จึงสามารถทำได้ทันที ผ่านระบบเครือข่าย
เจ้าหน้าที่ระดับสูงที่รับผิดชอบด้านความปลอดภัย มองว่าสิ่งที่จะต้องพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นไปอีก คือต้องทำให้หลักฐานที่ใช้ยืนยันตัวตน และเครื่องอ่าน ยากแก่การปลอมแปลง ยกตัวอย่างเช่น ใช้เทคโนโลยีการพิสูจน์อัตลักษณ์ตัวตนทางชีวภาพ (Biometrics) หรือการเข้ารหัสที่มีความซับซ้อนมากขึ้น
นอกจากนี้ แอปพลิเคชันใหม่ๆ อาทิ การมอนิเตอร์ตำแหน่งของบุคคลและสินทรัพย์แบบเรียลไทม์ ได้กลายเป็นสิ่งจำเป็นและเป็นที่ต้องการมากขึ้น และนับเป็นวิวัฒนาการของการจัดการความปลอดภัย เจ้าของรวมทั้งผู้บริหารอาคารสถานที่ ต้องการรู้ในทันทีทันใดว่าอะไรเกิดขึ้นภายในอาคารที่ตนดูแล การรู้จำนวนและตำแหน่งของคนที่อยู่ในอาคารเมื่อเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินนั้น จะเป็นข้อมูลที่มีค่ายิ่ง ที่จะเป็นประโยชน์ในการปกป้องช่วยเหลือผู้คนและตัวอาคาร ระบบเหล่านี้ปกติจะใช้ RFID, WiFi และ Bluetooth ในการระบุและติดตามตำแหน่งที่แน่นอนของบุคคลและสินทรัพย์ได้ตลอดเวลา
การระบุตำแหน่งเพื่อดูสถานที่แบบเรียลไทม์นั้นเป็นองค์ประกอบที่ทำให้เทคโนโลยีควบคุมการเข้า-ออกครอบคลุมมากขึ้น ข้อมูลที่ได้ยังนำไปใช้จัดการการใช้พื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด การจัดการฝูงชน การกำหนดพื้นที่ควบคุม จำนวนคนเข้า-ออกและการเคลื่อนไหวไปยังจุดต่างๆ และตำแหน่งของอุปกรณ์ทรัพย์สินภายในอาคารและการเคลื่อนย้าย รวมทั้งการระบายอากาศ ระบบแอร์ ระบบไฟ ซึ่งล้วนส่งผลให้การจัดการความปลอดภัยในสถานที่ทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น
โซลูชั่นควบคุมการเข้า-ออกที่ดีจะต้องตอบโจทย์ของทั้งความต้องการทางธุรกิจและความเสี่ยงขององค์กรได้เป็นอย่างดี ข้อมูลที่ได้จากระบบควบคุมการเข้า-ออกเป็นเสมือนเครื่องมือที่มีคุณค่าในการวิเคราะห์เชิงธุรกิจ และสามารถนำมาวิเคราะห์รวมกับข้อมูลจากระบบอื่น เพื่อหามาตรการลดความเสี่ยง ทำให้กระบวนการทำงานมีประสิทธิภาพสูงสุด และตัดสินใจเรื่องระบบความปลอดภัยได้ดีขึ้น
แนวโน้มของการใช้เทคโนโลยีควบคุมการเข้า-ออกนั้น จะต้องมีความปลอดภัยและทันสมัยมากขึ้น การใช้โทรศัพท์มือถือเพื่อยืนยันตัวตนที่เพิ่มสูงขึ้น เป็นสัญญาณว่าองค์กรจำนวนมากกำลังยกระดับระบบควบคุมการเข้า-ออก ในส่วนของเทคโนโลยี ก็จะมีการพัฒนาให้ก้าวหน้ายิ่งๆ ขึ้นไป องค์กรที่ไม่หยุดนิ่งในการใช้นวัตกรรมใหม่ๆ จึงไม่เพียงแต่จะเพิ่มประสิทธิภาพในการปกป้องดูแลผู้คนและอาคารได้เท่านั้น แต่ยังสามารถใช้ข้อมูลจากระบบควบคุมการเข้า-ออก มาพัฒนาธุรกิจให้ดีขึ้นได้อีกด้วย