กรุงเทพฯ--9 มิ.ย.--All Success PR
พช. จับมือ สถาบันอาหาร หนุนเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ OTOP พัฒนายืดอายุเมนูอาหารถิ่นรสไทยแท้
พช.ผนึกสถาบันอาหาร ดำเนินโครงการยืดอายุผลิตภัณฑ์ OTOP หนุนยกระดับอาหารถิ่นรสไทยแท้ ต่อเนื่องจาก โครงการยกระดับมาตรฐานอาหารถิ่นรสไทยแท้ (OTOP Authentic Thai Taste) เมื่อปี 2561 ซึ่งมีผู้ประกอบการ OTOP กลุ่มอาหารและเครื่องดื่มได้การรับรองและให้ใช้ตราสัญลักษณ์อาหารถิ่นรสไทยแท้ร่วม 600 รายจากผู้ประกอบการกว่า 2,000 ราย และปี 2563 นี้ เล็งคัด 10 เมนูเด่น ต่อยอดพัฒนายืดอายุผลิตภัณฑ์ให้เป็นสินค้าอาหารแปรรูปที่สะดวกต่อการบริโภค พร้อมสู่ตลาดทั่วประเทศไม่น้อยกว่า 205,000 ชิ้น
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน เปิดเผยว่า พช. ได้ร่วมมือกับสถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม ดำเนินโครงการยืดอายุผลิตภัณฑ์ OTOP อาหารถิ่นรสไทยแท้ โดยมีจุดมุ่งหมายในการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้ เพื่อการพัฒนายืดอายุผลิตภัณฑ์ พัฒนาให้เป็นสินค้าอาหารแปรรูปที่สะดวกต่อการบริโภค มีมาตรฐานการผลิต คุณภาพคงที่ทั้งด้านวัตถุดิบ กระบวนการปรุง รสชาติ และความปลอดภัย สร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภค และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ OTOP อาหารถิ่นรสไทยแท้ กิจกรรมภายใต้โครงการเริ่มจากรับสมัครผู้ประกอบการ OTOP กลุ่มอาหาร ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานอาหารถิ่นรสไทยแท้ เพื่อพัฒนาให้มีศักยภาพทางการผลิตในเชิงพาณิชย์ จำนวน 50 ราย เข้าร่วมโครงการ เพื่อรับการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านนวัตกรรม และเทคโนโลยีในการยืดอายุผลิตภัณฑ์ และแปรรูปเป็นสินค้าที่สะดวกต่อการบริโภค เนื่องจากอาหารปรุงสุกนั้นมีอายุในการบริโภคช่วงระยะเวลาสั้น ไม่เกิน 3 วัน ส่งผลให้อาหารเสียเป็นภัยต่อผู้บริโภค การยืดอายุผลิตภัณฑ์และแปรรูป จึงเป็นช่องทางและโอกาสในการขยายธุรกิจของผู้ประกอบการให้ออกสู่ตลาดที่ใหญ่ขึ้น จากนั้นคัด 10 ผลิตภัณฑ์เมนูอาหารถิ่นรสไทยแท้จาก 600 เมนู 5 ภูมิภาค ในโครงการอาหารถิ่นรสไทยแท้ (OTOP Authentic Thai Taste) ปี 2561 ที่มีความโดดเด่นเรื่องวัตถุดิบท้องถิ่น เครื่องเทศ พืชผักพื้นบ้าน รวมถึงสมุนไพรที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ มาทดลองพัฒนายืดอายุผลิตภัณฑ์ โดยใช้เทคโนโลยี 2 แบบ คือ เทคโนโลยีการทำแห้งเยือกแข็งแบบสูญญากาศ หรือ ฟรีซดราย (Freeze dry) และ เทคโนโลยีการฆ่าเชื้อด้วยแรงดันสูง หรือ รีทอร์ท (Retort) ผลิตเป็นสินค้าต้นแบบเชิงพาณิชย์เพื่อทดสอบตลาดและสร้างการรับรู้ไปสู่เครือข่ายอาหารไทย และผู้บริโภค โดยมีเป้าหมายให้กระจายสินค้าต้นแบบทั่วประเทศไม่น้อยกว่า 205,000 ชิ้น