กรุงเทพฯ--9 มิ.ย.--กรุงเทพมหานคร
นายชาตรี วัฒนเขจร ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม กทม. กล่าวกรณีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ประเมินตัวเลขขยะจากฟูดดีลิเวอรี พบแนวโน้มปริมาณขยะพลาสติกเพิ่มขึ้นว่า ในช่วงสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 มีปริมาณขยะพลาสติกเพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก โดยเฉพาะในเดือน เม.ย. 63 มีขยะพลาสติก 3,158 ตัน/วัน คิดเป็นร้อยละ 49 จากปริมาณขยะทั่วไป 8,629 ตัน/วัน เพิ่มขึ้นจากปี 62 ซึ่งมีขยะพลาสติกประมาณ 1,043 ตัน/วัน คิดเป็นร้อยละ 20 จากปริมาณขยะทั่วไป 10,564 ตัน/วัน อย่างไรก็ตาม กรุงเทพมหานครได้บูรณาการความร่วมมือกับทุกภาคส่วนในการรณรงค์ลดใช้พลาสติกใช้ครั้งเดียว จากปริมาณขยะทั่วไป ทิ้งและโฟมมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในหน่วยงานสังกัดกรุงเทพมหานคร ได้มีนโยบายให้ลด ละ เลิกการใช้ถุงพลาสติกครั้งเดียวทิ้ง เปลี่ยนมาใช้พลาสติกที่ใช้ซ้ำได้ ส่วนขยะทั่วไป กรุงเทพมหานครจะนำไปกำจัดด้วยวิธีการเผา เพื่อผลิตเป็นพลังงานไฟฟ้า และฝังกลบอย่างถูกหลักสุขาภิบาล ขณะเดียวกันได้ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนแยกทิ้งขยะ 3 ประเภท ได้แก่ ขยะทั่วไป ขยะรีไซเคิล และขยะอันตรายให้ใส่ถุงมัดปากภุงด้วยเชือก หรือใช้ถุงสี หรือติดสติกเกอร์สีแทนขยะแต่ละประเภท คือ สีเหลืองสำหรับขยะรีไซเคิล สีส้มสำหรับขยะอันตราย สีน้ำเงินสำหรับขยะทั่วไป สำหรับขยะเศษอาหาร ได้รณรงค์ให้คัดแยกและใช้ประโยชน์ เช่น นำไปเลี้ยงสัตว์ ทำปุ๋ยน้ำหมักชีวภาพ หมักปุ๋ยอินทรีย์ ทั้งนี้ กรุงเทพมหานครได้ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและสภาอุตสาหกรรมดำเนินโครงการภาครัฐ เอกชน และประชาสังคมจัดการพลาสติกและขยะอย่างยั่งยืน โดยเน้นการลดใช้พลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง (Single-use plastic) เปลี่ยนเป็นใช้พลาสติกหรือภาชนะอื่นที่ใช้ซ้ำได้