กรุงเทพฯ--10 มิ.ย.--สํานักงานเศรษฐกิจการเกษตร
นางอัญชนา ตราโช รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงการดำเนินการโครงการเพิ่มพื้นที่ชลประทานในเขตปฏิรูปที่ดิน โดยมีสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ดำเนินการ โดย สศก. ได้ติดตามโครงการเพิ่มพื้นที่ชลประทานในเขตปฏิรูปที่ดิน จังหวัดกระบี่ พบว่า การก่อสร้างฝายคอนกรีตเสริมเหล็ก (ค.ส.ล.) กั้นคลองบางเตา ในพื้นที่บ้านใสน้ำจม หมู่ที่ 5 ตำบลโคกหาร อำเภอเขาพนม ก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2560 ขนาดปริมาณกักเก็บน้ำ 343 ลูกบาศก์เมตร พื้นที่รับประโยชน์ 300 ไร่
จากการสำรวจในพื้นที่ พบว่า บริเวณนี้เป็นพื้นที่นอกเขตชลประทาน อาศัยน้ำฝนในการทำเกษตร เกษตรกรประกอบอาชีพปลูกปาล์มน้ำมัน และยางพารา เป็นหลัก ไม่มีรายได้เสริมจากการปลูกพืชชนิดอื่น เมื่อมีการก่อสร้างแหล่ง กักเก็บน้ำในรูปแบบฝาย ค.ส.ล. ที่สามารถชะลอน้ำและกักเก็บน้ำในคลองให้มีปริมาณเพียงพอสำหรับปลูกพืชอายุสั้นที่ได้ผลตอบแทนเร็ว ประเภทพืชผัก ปลูกแซมในพื้นที่สวนปาล์มน้ำมัน/ยางพารา โดยเกษตรกรได้ใช้ประโยชน์จากฝาย มีการรวมกลุ่มผู้ใช้น้ำ เพื่อร่วมดูแลรักษา วางแผนการผลิต และการตลาด มีการรวมกันจำหน่ายผลผลิตโดยจะมีตัวแทนของกลุ่มติดต่อพ่อค้า/แม่ค้า เข้ามารับซื้อผลผลิตถึงแปลงของเกษตรกรโดยตรง ทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายและเวลาในการนำผลผลิตไปขาย ณ ตลาดรับซื้อ
ด้านผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากโครงการบนพื้นที่ 300 ไร่ มีครัวเรือนเกษตรได้รับประโยชน์ 50 ครัวเรือน เกษตรกรได้ใช้น้ำในสวนปาล์มน้ำมัน และสวนยางพารา ทั้งนี้ มีเกษตรกรร้อยละ 57 ทำอาชีพเสริม โดยการปลูกพืชแซมในพื้นที่ เช่น มะเขือยาว ฟักเขียว แตงกวา ถั่วพู เป็นต้น สามารถสร้างรายได้เสริมแก่เกษตรกร โดยมีปริมาณผลผลิตที่ขาย 3,220 กิโลกรัมต่อไร่ ค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 14,827 บาทต่อไร่ สร้างรายได้เฉลี่ย 37,645 บาทต่อไร่ เกิดรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 22,818 บาทต่อไร่ หรือประมาณ 75,072 บาทต่อครัวเรือนต่อปี สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ หรือ มูลค่าจากการเพิ่มผลผลิตและลดต้นทุน 3.75 ล้านบาท/ปี
เกษตรกรส่วนใหญ่มีความพึงพอใจต่อโครงการในระดับมาก โดยมีความเห็นว่า โครงการสามารถสร้างความมั่นคงให้แก่เกษตรกร มีแหล่งน้ำเพื่อทำการเกษตรได้ทั้งปี เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่มีรายได้เสริมทางการเกษตร ช่วยเกษตรกรสามารถลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือนลงได้ สร้างความยั่งยืนในการประกอบอาชีพเกษตร เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ที่ดินทางการเกษตรในเขตปฏิรูปที่ดินให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ทั้งนี้ ควรสนับสนุนการเพิ่มแหล่งน้ำในเขตปฏิรูปที่ดินอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นการพัฒนาภาคการเกษตรและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านแหล่งน้ำอย่างยั่งยืน ส่งเสริมเกษตรกรให้ทำอาชีพเสริม ซึ่งจะทำให้เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่ดี และมีความเป็นอยู่ดียิ่งขึ้น