กรุงเทพฯ--10 มิ.ย.--เมย์แบงก์ กิมเอ็ง
เมย์แบงก์ กิมเอ็ง กรุ๊ป จัดงาน INVEST ASEAN 2020 ในหัวข้อ “Capital on the Recovery from Lockdown” ระหว่างวันที่ 4-5 มิ.ย. 63 ณ ประเทศสิงคโปร์ผ่านระบบ ZOOM ประเทศสมาชิกในอาเซียนกำลังชะลอการเติบโต อันเป็นผลมาจากการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 เนื่องจากเป็นโรคอุบัติใหม่ จึงยังไม่มีผู้คิดค้นวัคซีนที่สามารถป้องกันการติดเชื้อจาก COVID-19 ได้ โดยเหตุการณ์นี้ส่งผลกระทบในวงกว้างทั่วโลก ผู้นำในแต่ละประเทศจึงต้องวางกลยุทธ์และหาทางออกเพื่อปรับสมดุลทางเศรษฐกิจ ภายหลังจากที่สถานการณ์เริ่มคลี่คลาย นักเศรษฐศาสตร์มองว่าบางภาคส่วนจะได้รับประโยชน์จากมาตรการการผ่อนคลาย พร้อมมาร่วมหาทางออกหลังจากปลดล็อคแล้ว อาเซียนจะเดินหน้าต่อไปในทิศทางใด โดยเมย์แบงก์ กิมเอ็ง กรุ๊ป ได้จัดงานเพื่อรวบรวมแนวคิดและความคิดเห็นด้านการลงทุนในแต่ละประเทศ จากนักวิเคราะห์ชั้นนำ ว่ามีมุมมองอย่างไรในหัวข้อ “Capital on the Recovery from Lockdown”
สิงคโปร์ - Thilan Wickramasinghe, Head of Research, Maybank Kim Eng (Singapore) กล่าวว่า สิงคโปร์ได้รับผลกระทบค่อนข้างหนักจาก COVID-19 โดยมีผู้ติดเชื้อ ณ ปัจจุบันอยู่อันดับ 4 ของเอเชีย ทำให้รัฐบาลคาด GDP จะหดตัวในกรอบ 4-7% ในปีนี้ แต่ขณะเดียวกันถือว่าเป็นประเทศที่มีการใช้นโยบายกระตุ้นจากภาครัฐเยอะเป็นอันดับต้นของภูมิภาคด้วยสัดส่วน 20% ของ GDP ผลกระทบหนักแต่การฟื้นตัวจะทำได้เร็วจากนโยบายภาครัฐที่เน้นไปที่ภาคการจ้างงาน และบริษัทที่ได้รับผลกระทบโดยตรงเป็นหลัก โดยธีมการลงทุนที่น่าสนใจคือบริษัทที่มี ESG ซึ่งเห็นได้ชัดในช่วงเกิดการแพร่ระบาด บริษัทเหล่านี้ outperform ตลาด ตัวอย่างเช่น จากเดิมที่นักลงทุนมองผลกำไรบริษัทเป็นสำคัญ แต่ในสถานการณ์ COVID ระบาด บริษัทที่มี ESG อยู่ในเกณฑ์ดีมีความรับผิดชอบต่อสังคมในทุกๆมุมอยู่แล้ว มีแนวโน้มในการควบคุมการระบาดของโรคได้ดีกว่า กลยุทธ์การลงทุนแนะนำกลุ่ม REIT และ Bank ที่สถานะการทางเงินยังแข็งแกร่งสามารถจ่ายปันผลได้ ประกอบกับมี Valuation ไม่แพงภายใต้ภาวะสภาพคล่องล้นตลาด มองว่ากลุ่มดังกล่าวจะเป็นเป้าหมายการลงทุน
มาเลเซีย - Anand Pathmakanthan, Head of Regional Equity Research & Head of Research, Maybank Kim Eng (Malaysia) ให้ความเห็นว่า มาเลเซียถือว่าเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการควมคุม COVID-19 ได้ดีเมื่อเทียบกับภูมิภาค จากการเร่งทดสอบ หาผู้ติดเชื้อในช่วงแรก และมองว่าหากเกิดการติดเชื้อในรอบที่ 2 ผลกระทบจะไม่รุนแรงเท่ากับครั้งแรก เพราะมีการเรียนรู้ที่จะหาวิธีป้องกันและรับมือมาบ้างแล้ว ผลกระทบโดยรวมต่ออุตสาหกรรมไม่มาก จากอุตสาหกรรมหลักของประเทศเป็น Old Economy อย่างกลุ่มโทรคมนาคมและสาธารณูปโภค ซึ่งมีกระแสเงินสดที่สม่ำเสมอและมีความ Defensive ในตัว ขณะที่มองว่าอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบโดยตรงคือกลุ่มท่องเที่ยวและธนาคาร ขณะที่กลุ่ม REIT ได้รับผลกระทบปานกลางจากค่าเช่าที่หายไปในระยะสั้น และธีมการลงทุนปัจจุบันมองไปทีธีม High liquidity หรือสภาพคล่องในระบบมีล้นจากภาวะดอกเบี้ยที่ต่ำทำให้ Risk free อยู่ที่เพียง 2% เทียบ Market yield ที่กว่า 5% กลยุทธ์การลงทุนเน้นไปที่ Value play ในหุ้นกลุ่มขนาดกลางเล็ก (หุ้นขนาดใหญ่ยังมี Premium) และธีมหุ้นที่เกี่ยวข้องกับ 5G มองว่าเป็นเทรนด์ที่จะช้าจะเร็วก็มาแน่นอน
อินโดนีเซีย - Isnaputra Iskandar, Head of Research, Maybank Kim Eng (Indonesia) มองว่า เศรษฐกิจอินโดนีเซียเจอกับความท้าทาย จากผลกระทบ COVID-19 ทำให้ GDP ใน 1Q20 ลดลงเหลือ 3% ต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2001 ด้วยปัจจุบันยังพบผู้ติดเชื้อสูงเป็นอันดับ 2 ของเอเชีย (เป็นรองแค่อินเดีย) ขณะที่มีจำนวนเตียงต่อผู้ป่วยต่ำ และมีมาตรการกระตุ้นเพียงแค่ 3% ของ GDP โดยฝั่งรัฐบาลใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ค่อนข้างน้อยเทียบภูมิภาคที่ 3% ต่อ GDP (เทียบไทย 10% ต่อ GDP) ซึ่งนโยบายจะเน้นไปที่การลดภาษีให้บริษัทและคนที่มีรายได้น้อย ขณะที่การเปิดเศรษฐกิจจะเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยมี Timeline การเปิดอยู่ 5 เฟส และกรอบเวลาการเปิดเฟสสุดท้ายจะอยู่ในปลายเดือนกรกฏาคม คาดผลกระทบในครั้งนี้จะไม่ถึงขั้นที่ทำให้เกิดภาวะล้มละลายกระจายเป็นวงกว้าง และเศรษฐกิจจะสามารถกลับมาฟื้นตัวได้ตามการเปิดเมือง หุ้นกลุ่มที่น่าสนใจลงทุนควรจะเป็นหุ้นที่ 1.ผู้บริหารมีความสามารถ 2.อิงปัจจัยในประเทศ 3.งบดุลแข็งแกร่ง และ 4.ได้ประโยชน์จากประชากรศาสตร์ที่ขยายตัว แนะนำกลุ่มรถยนต์ ซีเมนต์ และอสังหาฯ
ไทย - Maria Brenda S. Lapiz, Head of Institutional Research, Maybank Kim Eng (Thailand) กล่าวว่า ตลาดหุ้นปัจจุบันซื้อขายที่ระดับ P/E ประมาณ 2 S.D. เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ย 10 ปี ย้อนหลัง การลงทุนต้อง Selective มากขึ้น ในฐานะประเทศที่พึ่งพาการท่องเที่ยวค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆในอาเซียน (ราว 11-12% ของ GDP) ทำให้การปิดประเทศส่งผลกระทบอย่างมากต่อภาคเศรษฐกิจไทย และเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้รัฐบาลตัดสินใจผ่อนคลายล็อคดาวน์ เร็วกว่าประเทศอื่นๆ (ตามหลังเพียงเวียดนาม) ซึ่งเริ่มผ่อนปรนระยะแรกเมื่อวันที่ 3 พ.ค. และคาดจะผ่อนปรนระยะสุดท้ายวันที่ 1 ก.ค. อย่างไรก็ตามผลกระทบยังสะท้อนในตัวเลข GDP ปี 2020 ให้หดตัวราว -5.5% นโยบายการคลังจะเป็นเครื่องมือพยุงเศรษฐกิจ เนื่องจากกระสุนด้านนโยบายการเงินจำกัด หลังธนาคารแห่งประเทศไทย ปรับตัวลดอัตราดอกเบี้ยสู่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 0.5% สำหรับ 2Q-3Q20 หุ้นกลุ่มพลังงานโดดเด่น หลังราคาน้ำมันดิบประคองตัวระดับประมาณ 40 เหรียญฯต่อบาร์เรล ในขณะที่การปลดล็อคดาวน์หนุนการบริโภคในประเทศ บวกต่อกลุ่มอาหารและค้าปลีก และส่งผลให้ผู้ป่วยต่างชาติกลับมา บวกต่อกลุ่มโรงพยาบาล
ฟิลิปปินส์ - Alex DauZ President, Maybank ATR Kim Eng, Philippines ให้ความเห็นว่า เศรษฐกิจฟื้นตัวช้าเมื่อเทียบกับประเทศอื่นในอาเซียน เลี่ยงไปกลุ่ม Defensive ที่กระทบน้อย ฟิลิปปินส์ผ่อนคลายล็อคดาวน์ค่อนข้างช้าเป็นลำดับที่ 4 ในอาเซียน (ปัจจุบันเทียบเคียงการปลดล็อคระยะแรกของไทย) จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่ยังมีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นระดับเกิน 200 คนต่อวัน การใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจด้านการคลังโดยตรง (แจกเงิน ยกเว้นภาษี) ของฟิลิปปินส์ถือว่าน้อยมากคิดเป็นเพียงแค่ราว 1.4% ของ GDP (แบ่งเป็นภาคครัวเรือน 1.2% ภาคธุรกิจ 0.2%) เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจช้า แนวโน้มกำไร Real Sector ช่วง 2Q20 จะยังแย่ แม้ว่าตลาดหุ้นจะฟื้นตัวกลับมาซื้อขายช่วง P/E ประมาณ 14-15 เท่า แต่ยังคงแนะนำเลี่ยงไปกลุ่มที่โดนผลกระทบจาก COVID-19 ไม่มากอย่างกลุ่มค้าปลีก/สินค้าจำเป็น (Consumer Staples)
เวียดนาม - Lien Le Hong, Head of Research, Maybank Kim Eng (Vietnam) การฟื้นตัวของตลาดหุ้นเวียดนามช่วงนี้ถือว่าเร็วกว่าที่คาดอย่างมาก ต้องระวังการปรับฐาน เวียดนามผ่อนคลายล็อคดาวน์เร็วที่สุดในอาเซียน ตั้งแต่ 23 เม.ย.และเมื่อวันที่ 7 พ.ค.เกือบทุกกิจการ (ยกเว้น Pub&Bar) ได้รับการปลดล็อค หนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจฟื้นตัวกลับมาอย่างรวดเร็ว สะท้อนจากตัวเลข Apple Mobility Trends ล่าสุด บ่งชี้ว่าประชาชนออกมาทำกิจกรรมนอกบ้านเทียบเคียงได้กับระดับก่อน COVID-19 นักลงทุนต่างชาติมีบทบาทสำคัญมากในตลาดหุ้นเวียดนาม ( Turnover คิดเป็น 10-20%) ซึ่งสถานะเป็นซื้อสุทธิมาโดยตลอด แต่เพิ่งมีการปรับพอร์ทขายช่วง 1Q20 กดดันดัชนีปรับลงและส่งผลกระทบต่อ sentiment นักลงทุนในประเทศ อย่างไรก็ตาม Flow ไหลกลับเข้าซื้ออย่างมีนัยสำคัญหลังการผ่อนคลายล็อคดาวน์ หากพิจารณา P/E ตลาดหุ้นเวียดนามปัจจุบันซื้อขายที่ Premium ประมาณ 20% เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปี ซึ่งเป็นการฟื้นตัวกลับจากภาวะ Oversold ในเดือน มี.ค. อย่างรวดเร็ว