กรุงเทพฯ--12 มิ.ย.--มหาวิทยาลัยมหิดล
จากสถิติอัตราว่างงานในช่วงวิกฤต Covid-19 ที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้เปิดเผยเมื่อเร็วๆ นี้ว่ามีจำนวนสูงถึง 8.4 ล้านคนในช่วงไตรมาสแรกของปี 2563 ทำให้เกิดกลุ่มจิตอาสาที่สร้างสรรค์สังคมแห่งการแบ่งปันขึ้นมากมายในประเทศไทย ภายใต้แนวคิด "Pay it forward" ที่ส่งต่อกันไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุดซึ่งทำกันอย่างแพร่หลายมาแล้วทั่วโลก
ด้วยปณิธานของมหาวิทยาลัยมหิดลที่จะเป็น "ปัญญาของแผ่นดิน" (Wisdom of the land) ไม่ได้มีเป้าหมายเพียงแค่จะเป็น 1 ใน 100 มหาวิทยาลัยโลก แต่มองว่า "การพัฒนามหาวิทยาลัย" คือ "การพัฒนาประเทศ" และการพัฒนาจะยั่งยืนได้ต้องไม่ลืม "พัฒนาชุมชน"
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ เรืออากาศโท ทันตแพทย์ชัชชัย คุณาวิศรุต รักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษาและศิษย์เก่าสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวเปิดใจให้แง่คิดว่า "ถ้ามหาวิทยาลัยได้เป็น 1 ใน 100 มหาวิทยาลัยโลกแล้วจะเป็นอย่างไร หากมีผลงานดี ชื่อเสียงดี แต่ชุมชนเข้าไม่ถึง ซึ่งไม่ถือว่าเกิดประโยชน์อย่างแท้จริง"
"พันธกิจสัมพันธ์" เป็นภารกิจสำคัญของมหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งก็คือ "การพัฒนาชุมชน" โดยเฉพาะอย่างยิ่งชุมชนที่อยู่โดยรอบมหาวิทยาลัยมหิดล
โครงการ "ปันอิ่ม" เป็นหนึ่งในโครงการที่ตอบโจทย์ความต้องการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากวิกฤต Covid-19 ที่ส่งต่อไปอย่างไม่สิ้นสุด โดยเป็นการทำจิตอาสาแบบง่ายๆ ที่ไม่ต้องใช้เงินเริ่มต้นมาก แต่สามารถขยายผลส่งต่อไปได้อีกเรื่อยๆ เป็นการแบ่งปันความอิ่มโดยการซื้อคูปองช่วยค่าอาหารสำหรับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤต Covid-19 ถือเป็นการลงทุนที่ไม่มาก แต่ช่วยได้ทั้งคนและร้านอาหารที่ได้รับผลกระทบด้วย ตามแนวคิด "Pay it forward"
นางสาวอริสา โพธิ์ชัยสาร เจ้าหน้าที่หน่วยพัฒนางานประจำสู่งานวิจัย (R2R) คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งปัจจุบันกำลังศึกษาปริญญาเอกหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต (สังคมศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุข) ของ คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้ริเริ่มโครงการ "แบ่งปันความอิ่ม" ของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงสาขาที่ตนเรียนว่าต้องวิพากษ์สังคมทุกวัน โดยมองว่าลำพังเงินเยียวยาวิกฤต Covid-19 ของรัฐ ไม่สามารถเข้าถึงผู้ที่ได้รับผลกระทบได้อย่างครอบคลุมในทุกกลุ่ม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "คนชายขอบ" ของสังคม ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้อง "Pay it forward" ทำอะไรบางอย่างเพื่อช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสเหล่านั้น
ด้าน นายศุภโชค เจริญศักดิ์โยธิน หรือ "น้องพุดดี้" นักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 2 คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล หนึ่งในทีมเยาวชน "129 sustainability" ผู้พัฒนาแอพพลิเคชัน "Welunteer" ที่ได้มีโอกาสแสดงผลงานในระดับนานาชาติ ร่วมเสนอความคิดว่า ด้วยแอพพลิเคชันที่พัฒนาขึ้นนี้จะสามารถช่วยจับคู่แนวร่วมงานจิตอาสาในช่วงวิกฤต Covid-19 ได้ ในขณะที่การประกาศบนโลกออนไลน์มีทั้งคนเห็นและไม่เห็น ซึ่งคนที่เห็นอาจไม่ใช่คนที่ชอบแบบเดียวกับเรา ด้วยแอพพลิเคชัน "Welunteer" จะทำให้เราสามารถสร้างชุมชนของคนที่รักงานจิตอาสาแบบเดียวกันได้ นอกจาก โครงการ "ปันอิ่ม" แล้ว ยังมีโครงการ "ปันปัน ห่างแค่ตัว อย่ากลัวแบ่งปัน" เป็นการระดมบริจาคข้าวสารอาหารแห้งเพื่อช่วยเหลือคนในชุมชนที่ประสบปัญหาจาก Covid-19 ริเริ่มโดย รองศาสตราจารย์ ดร.กิติกร จามรดุสิต รักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่ายสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน มหาวิทยาลัยมหิดล ในช่วงปลายเดือนเมษายน 2563 ที่ผ่านมา ซึ่งได้ออกเดินเท้ากว่า 8 กิโลเมตร พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่กองกายภาพและสิ่งแวดล้อม สำนักงานอธิการบดี
มหาวิทยาลัยมหิดล สภอ.พุทธมณฑล และเทศบาลตำบลศาลายา นำข้าวสารอาหารแห้งรวมจำนวนทั้งสิ้น 780 ชุด เคาะประตูบ้านแจกตามครัวเรือนใน 6 ชุมชน อาทิ ชุมชนวัดสาลวัน ชุมชนคลองมหาสวัสดิ์ ชุมชนตาพิน ชุมชนร่มไทร ชุมชนตลาดเก่า และชุมชนบ้านคุณหลวง ถือเป็นการยืนยันเจตนารมณ์ "ใส่ใจไม่ทอดทิ้งชุมชน" ของมหาวิทยาลัยมหิดล
"ยามใดที่เกิดวิกฤต ไม่ว่าจะเป็นน้ำท่วม หรือโรคระบาด มหาวิทยาลัยมหิดลได้แสดงจุดยืนที่คอยอยู่เคียงข้างชุมชนมาโดยตลอดว่า เราเป็นแหล่งรวมองค์ความรู้ที่มีหน้าที่ต้องออกไปรับใช้ชุมชน เพราะเราคือส่วนหนึ่งของชุมชน เราจะผ่านวิกฤตไปด้วยกัน ไม่ทอดทิ้งกัน" รองศาสตราจารย์ ดร.กิติกร จามรดุสิต กล่าวทิ้งท้าย
ร่วม "Pay it Forward" ให้ทุกคนได้กลับมามีรอยยิ้มอีกครั้งหลังวิกฤต Covid-19 โดยสมทบทุนได้ที่บัญชี “มูลนิธิมหาวิทยาลัยมหิดล” (กองทุนพันธกิจสัมพันธ์มหาวิทยาลัยมหิดลกับสังคม)” ธนาคารกรุงเทพ สาขามหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา เลขบัญชี 012-7-04897-3