กรุงเทพฯ--15 มิ.ย.--กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานพิธีเปิดศูนย์บริการไก่ชุมชนตราด FC บ้านท่ากุ่ม พร้อมเยี่ยมชมการผลิตอาหารไก่สมุนไพรลดต้นทุนตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง รวมทั้งการผลิตลูกกอนสมุนไพรบำรุงไก่ชน ตลอดจนการทำอาหารสุนัขสมุนไพรลดต้นทุน ณ ศูนย์บริการไก่ชุมชนตราด FC บ้านท่ากุ่ม อ.เมือง จ.ตราด พร้อมด้วย นายอำพันธุ์ เวฬุตันติ ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เขต 8 นายอาชว์ชัยชาญ เลี้ยงประยูร รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร และ ดร.จูอะดี พงศ์มณีรัตน์ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) และหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ว่า ปัจจุบันการเลี้ยงไก่ในครัวเรือนได้เปลี่ยนเป็นเชิงพาณิชย์ มีการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาปรับใช้ เกษตรกรต้องปรับตัวและประยุกต์ใช้ เทคโนโลยีและนวัตกรรมอย่างเหมาะสม การเลี้ยงไก่พื้นเมืองแบบปล่อยหลังบ้าน ให้หากินเองตามธรรมชาติ ไม่สามารถกำหนดปริมาณหรือวางแผนการผลิตไก่พื้นเมืองตามที่ต้องการของตลาดได้ อัตราการตายสูง การเจริญเติบโตต่ำ อาหารสัตว์มีราคาแพง ทำให้ต้นทุนการผลิตสูง ดังนั้น เกษตรกรจำเป็นต้องหาวิธีลดต้นทุนการผลิต โดยเกษตรกรกลุ่มนี้สามารถผลิตอาหารเลี้ยงไก่พื้นเมืองได้เอง โดยใช้วัตถุที่มีอยู่หรือผลิตในพื้นที่ เช่น สมุนไพรต่างๆ ซึ่งเป็นเศษเหลือจากอุตสาหกรรมประมงพื้นบ้าน นำมาเป็นส่วนผสมในสูตรอาหาร เพื่อลดต้นทุนการผลิต เพิ่มผลผลิต มีรายได้เพิ่มขึ้น เกิดการสร้างกลุ่มเกษตรกรที่เข้มแข็ง เกิดความรักความสามัคคีในชุมชน สามารถประกอบอาชีพการเลี้ยงไก่พื้นเมืองเป็นอาชีพที่สร้างรายได้หลักที่มั่งคั่ง เป็นอาชีพที่มีความมั่นคงและมีความยั่งยืนตลอดไป
ทั้งนี้ ปัจจุบัน ความต้องการอาหารสำเร็จรูปสำหรับเลี้ยงไก่พื้นเมือง เฉลี่ยเดือนละ 60,000 กิโลกรัม เป็นข้อมูลที่กลุ่มเกษตรกรต้องผลิตให้ได้ปริมาณตรงตามความต้องการของเกษตรกร สอดคล้องกับนโนบายตลาดนำการผลิตโดยสร้างความเชื่อมั่นในอาหารไก่พื้นเมืองที่มีคุณภาพต่อเกษตรกรผู้บริโภค นำมาเป็นส่วนผสมอาหารไก่พื้นเมืองสำเร็จรูปชนิดอัดเม็ด ไว้สำหรับจำหน่ายให้กับสมาชิกภายในกลุ่มในราคาต่ำกว่าท้องตลาด โดยอาหารไก่ตามท้องตลาด กก.ละ 20 อาหารไก่ชุมชนตราด FC กก.ละ 10 บาท ลดทุนต้น 50% ในส่วนของอาหารสุนัขตามท้องตลาด กก.ละ 40-50 บาท อาหารสุนัขสมุนไพร กก.ละ 20 บาท ลดต้นทุน 50%. จึงเป็นการบริหารจัดการสินค้าเกษตรให้เกิดความสมดุลทางการตลาด เป็นต้นแบบความสำเร็จที่จะนำมาพัฒนา ต่อยอดขยายผลไปยังเกษตรกร กลุ่มเกษตรกรได้
“ขอชื่นชมกลุ่มเกษตรกรที่รวมกลุ่มกันในการสร้างอาชีพ สร้างรายได้ที่มั่งคง โดยเฉพาะในช่วงวิกฤติการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้เกษตรกรได้รับผลกระทบหลายด้าน จึงจำเป็นต้องฟื้นฟูอาชีพให้กลับมาสร้างรายได้ โดยการผลิตอาหารสัตว์สร้างอาชีพ ดังนั้น รัฐบาลจึงได้อนุมัติโครงการเงินกู้ล้านละร้อย ส่งเสริมให้เกษตรกรได้มีอาชีพใหม่ที่สร้างรายได้ที่มั่นคง ทั้งด้านพืช ประมง และปศุสัตว์ ให้สามารถจำหน่ายทั้งภายในและต่างประเทศ โดยมีตลาดรองรับ รวมกลุ่มวิสาหกิจอย่างน้อย 7 คน มีอัตราดอกเบี้ย 0.01% ต่อปี ธ.ก.ส. สนับสนุนสินเชื่อไม่เกินกลุ่มละ 10 ล้านบาท หรือดอกเบี้ยล้านละ 100 บาท/ปี ระยะเวลา 3 ปี ตั้งแต่ 1 ธ.ค. 62 - 30 พ.ย. 65” นายประภัตร กล่าว
อย่างไรก็ตาม การดำเนินโครงการที่ผ่านมาพบว่าเกษตรกรยังติดขัดในเรื่องของขั้นตอนการขอกู้ ซึ่งได้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหารือร่วมกันเพื่อเร่งรัดแก้ปัญหา ให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้คล่องขึ้น โดยมีข้อผ่อนปรน อาทิ 1. อายุของวิสาหกิจชุมชน เดิมไม่น้อยกว่า 6 เดือน โดยผ่อนปรนให้จดจัดตั้งกลุ่มใหม่ได้ 2. การดำเนินกิจการ เดิมต้องเลี้ยงในคอกรวม/คอกกลาง ณ จุดเดียวกัน โดยผ่อนปรนให้สามารถแยกคอกได้ แต่ต้องมีการบริหารจัดการที่ดี ได้มาตรฐาน GFM ได้รับคำแนะนำด้านอาหารจากเจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์ เป็นต้น