กรุงเทพฯ--16 มิ.ย.--กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน
อธิบดี กพร. ลงพื้นที่จังหวัดปราจีนบุรี เร่งขับเคลื่อนโครงการเพิ่มผลิตภาพแรงงาน เยี่ยมชมโรงงานผลิตอุปกรณ์ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์
เมื่อเร็วๆ นี้ นายธวัช เบญจาทิกุล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงาน ลงพื้นที่จังหวัดปราจีนบุรี เยี่ยมชมการดำเนินงานของบริษัทอินทรอนิคส์ จำกัด อำเภอเมืองปราจีนบุรี จังหวัดปราจีนบุรี ซึ่งเป็นบริษัทที่เข้าร่วมโครงการเพิ่มผลิตภาพแรงงาน ประจำปี 2563 ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการผลิตและจำหน่ายอุปกรณ์ไฟฟ้าอิเล็คทรอนิกส์
นายธวัช เบญจาทิกุล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เปิดเผยหลังจาก เยี่ยมชมการดำเนินงาน บริษัทอินทรอนิคส์ จำกัด ที่เข้าร่วมโครงการเพิ่มผลิตภาพแรงงาน ว่า กระทรวงแรงงาน มีนโยบายเตรียมความพร้อมด้านกำลังแรงงานรองรับกับเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลง รวมถึงการให้ความช่วยเหลือกลุ่มผู้ประกอบกิจการ SME การลงพื้นที่ในครั้งนี้ เพื่อเยี่ยมชมสถานประกอบกิจการที่เข้าร่วมโครงการ สอบถามความต้องการความช่วยเหลือจากภาครัฐ รับฟังปัญหาและอุปสรรค และประโยชน์ที่ได้รับจากการเข้าร่วมโครงการดังกล่าว ผลจากการลงพื้นที่ในครั้งนี้ พบว่า ที่ปรึกษาให้คำแนะนำเกี่ยวกับกระบวนการผลิต ปรับจำนวนพนักงานให้เหมาะสมกับการผลิตในแต่ละขั้นตอน และวางผังการผลิตใหม่ ช่วยให้สามารถผลิตได้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น ดังนั้นบริษัทที่เข้าร่วมโครงการจะได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่และสามารถนำวิธีการไปปรับใช้ในกระบวนการผลิตอื่นๆ ได้อีก
นายธวัช กล่าวต่อไปว่า โครงการเพิ่มผลิตภาพแรงงานสู่ SME 4.0 ในปี 2563 ตั้งเป้าหมายให้ความช่วยเหลือสถานประกอบกิจการเพื่อลดต้นทุนในกระบวนการผลิต จำนวน 300 แห่งและพัฒนาทักษะให้พนักงานมีความรู้เชิงวิเคราะห์ จำนวน 15,000 คน โดยส่งทีมที่ปรึกษาเข้าไปศึกษากระบวนการผลิตและขั้นตอนการทำงานในสถานประกอบกิจการ เพื่อหาจุดบกพร่องที่ส่งผลต่อต้นทุน แล้วนำมาวิเคราะห์หาวิธีการแก้ไข เป็นระยะเวลา 210 วัน เพื่อให้สถานประกอบกิจการ กลุ่ม SME สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างมั่นคง ซึ่งช่วยให้แรงงานมีงานทำ มีรายได้ดูแลตนเองและครอบครัว อีกทั้งเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศด้วย
นายกัณวัตม์ เสนานาญ ผู้จัดการโรงงาน บริษัทอินทรอนิคส์ จำกัด กล่าวว่า บริษัทเข้าร่วมโครงการเพิ่มผลิตภาพแรงงาน โดยสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานปราจีนบุรี จัดส่งทีมที่ปรึกษาเข้ามาวิเคราะห์กระบวนการผลิตอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ พบว่าการส่งต่อผลิตภัณฑ์ไปยังแต่ละขั้นตอนไม่ต่อเนื่องและอยู่ห่างกันมาก ทำให้การผลิตช้าลง จึงปรับปรุงสายการผลิต เพื่อเป็นการลดระยะทางและประหยัดเวลาการเคลื่อนย้ายวัตถุดิบ นอกจากนี้ยังพบอีกว่า พนักงานบางจุดมีมาก-น้อยเกินไป จึงมีการปรับจำนวนพนักงานให้เหมาะสมในแต่ละกระบวนการผลิต ซึ่งปลายเดือนสิงหาคม 2563 จะสามารถสรุปผลได้ว่าสามารถลดต้นทุนการผลิตและสามารถเพิ่มผลิตภาพได้มากน้อยเพียงใด