กรุงเทพฯ--16 มิ.ย.--ซีพีเอฟ
บริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ร่วมดูแลสังคมควบคู่ไปกับการใส่ใจสิ่งแวดล้อมโดยบรรจุภัณฑ์พลาสติกของอาหารกล่องของบริษัททั้งหมดในโครงการ“อาหารปลอดภัยจากใจ…สู่ชุมชน” เป็นชนิดที่สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำ (reusable) หรือ นำกลับมาใช้ใหม่ (recyclable) ได้ 100% พร้อมรณรงค์คนไทยแยกขยะอย่างถูกต้อง ช่วยดูแลสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
นายวุฒิชัย สิทธิปรีดานันท์รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซีพีเอฟ กล่าวว่า บริษัทฯ มุ่งมั่นพัฒนาและบริหารจัดการบรรจุภัณฑ์ให้เกิดความยั่งยืน โดยพิจารณาตลอดห่วงโซ่คุณค่าอยู่บนพื้นฐานแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เพื่อให้ใช้ทรัพยากรในการผลิตบรรจุภัณฑ์อย่างคุ้มค่า และลดปัญหาขยะจากบรรจุภัณฑ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งขยะพลาสติก เพื่อให้มั่นใจว่ากระบวนการดำเนินธุรกิจของบริษัท มีส่วนร่วมในการบรรเทาผลกระทบเชิงลบและก่อให้เกิดการสร้างผลเชิงบวกต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม บนหลักการพื้นฐานของการพัฒนาอย่างยั่งยืน
สำหรับโครงการ “อาหารปลอดภัยจากใจ..สู่ชุมชน” นอกจากจะเป็นการคัดสรรเมนูพิเศษและผลิตตามมาตรฐานส่งออกแล้ว บรรจุภัณฑ์พลาสติกของข้าวกล่องที่แจกให้กับประชาชนยังเป็นมาตรฐานสำหรับใส่อาหาร (food grade) และเป็นพลาสติกที่สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำ หรือ นำกลับมาใช้ใหม่ได้ ปลอดภัยสำหรับผู้บริโภคและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมตามนโยบายและแนวปฏิบัติด้านบรรจุภัณฑ์ยั่งยืนของ ซีพีเอฟ
“ซีพีเอฟ ตระหนักดีถึงการจัดการพลาสติกอย่างเหมาะสมและมีส่วนร่วมในการรณรงค์ให้สังคมและผู้บริโภคเข้าใจถึงความสำคัญในการจัดการขยะพลาสติกอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน ด้วยการคัดแยกขยะก่อนทิ้งอย่างถูกต้อง ซึ่งเป็นแนวทางในการนำไปแปรรูปนำกลับมาใช้ใหม่ได้” นายวุฒิชัย กล่าว
นายวุฒิชัย กล่าวว่า โครงการ “อาหารปลอดภัยจากใจ..สู่ชุมชน” จะช่วยสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนว่าได้รับอาหารปลอดภัย อร่อย มีคุณค่าทางโภชนาการ ที่สำคัญช่วยส่งเสริมให้ทุกคนเกิดความตระหนักในการช่วยลดขยะพลาสติกและนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า
ปัจจุบัน อาหารประเภทพลาสติกของ ซีพีเอฟ ในประเทศไทย สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำหรือนำกลับมาใช้ใหม่หรือย่อยสลายได้แล้ว 99.99% โดยในปี 2562 บริษัทฯลดการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกได้ 16,000 ตัน และยังคงเดินหน้าส่งเสริมพนักงาน ผู้บริโภค และร่วมมือกับองค์กรต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ในการรณรงค์คัดแยกขยะพลาสติกใช้แล้วก่อนทิ้งเพื่อนำไปจัดการอย่างถูกวิธีเช่น รวบรวมกันในชุมชนเพื่อส่งต่อให้กับผู้แปรรูปสู่กระบวนการรีไซเคิลเป็นผลิตภัณฑ์อื่น หรือนำบรรจุภัณฑ์ไปใช้ซ้ำเพื่อประโยชน์ต่างๆในครัวเรือน