กรุงเทพฯ--16 มิ.ย.--สทนช.
คาดการณ์พายุโซนร้อน “NURI” เพิ่มฝนเติมน้ำลงแหล่งน้ำขนาดใหญ่ช่วง 12 – 21 มิ.ย.กว่า 400 ล้าน ลบ.ม. กอนช.ชี้สัปดาห์นี้ภาคอีสาน ตะวันออก และตะวันตกมีฝนเพิ่ม สั่งเฝ้าระวังเสี่ยงท่วมเร่งตรวจสอบปริมาณน้ำเหนือปตร.ทุกแห่ง ทั้งยังคงเดินหน้าแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำต่อเนื่อง โดยรองนายกฯ เตรียมลงพื้นที่ติดตามภัยแล้ง จ.ลำปาง 18 มิ.ย. นี้
ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ เปิดเผยถึงสถานการณ์ภาพรวมของประเทศในช่วงฤดูฝนขณะนี้ว่า สถานการณ์ฝนที่ตกในหลายพื้นที่จากอิทธิพลของพายุโซนร้อน “NURI” ส่งผลให้มีปริมาณน้ำไหลเข้าแหล่งน้ำขนาดใหญ่ 38 แห่ง สะสมตั้งแต่ 12 – 15 มิถุนายนที่ผ่านมารวมประมาณ 116 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) และคาดการณ์ว่าในช่วงวันที่ 16 – 21 มิถุนายนนี้ปริมาณฝนจะเพิ่มขึ้นบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคตะวันตก จะส่งผลให้มีปริมาณน้ำไหลลงเพิ่มอีกประมาณ 290 ล้าน ลบ.ม.ดังนั้น ตั้งแต่วันที่ 12 – 21 มิถุนายนนี้อิทธิพลของพายุดังกล่าวจะเพิ่มปริมาณน้ำไหลลงแหล่งน้ำขนาดใหญ่รวมกว่า 400 ล้าน ลบ.ม. สูงสุดที่ภาคเหนือประมาณ 134 ล้าน อาทิ เขื่อนสิริกิติ์ 95 ล้าน ลบ.ม.เขื่อนภูมิพล 18 ล้าน ลบ.ม. รองมาที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 107 ล้าน ลบ.ม. อาทิ เขื่อนลำปาว 25 ล้าน ลบ.ม. หนองหาร 24 ล้าน ลบ.ม. และภาคตะวันตกประมาณ 78 ล้าน ลบ.ม. อาทิ เขื่อนรัชชะประภา 29 ล้าน ลบ.ม. ขณะที่ปริมาณน้ำไหลเข้าแหล่งน้ำในภาคตะวันออกมีปริมาณ 22.6 ล้านลบ.ม. และภาคกลางปริมาณน้ำไหลลงแหล่งน้ำประมาณ 7.18 ล้าน ลบ.ม.
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าสถานการณ์ฝนและอิทธิพลของพายุจะช่วยเติมปริมาณน้ำในแหล่งน้ำต่าง ๆ เพื่อเก็บกักไว้ใช้ตลอดฤดูฝนนี้ต่อเนื่องถึงแล้งหน้าแล้ว แต่ยังคงมีหลายพื้นที่ที่มีฝนตกท้ายอ่าง ซึ่งกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ได้มอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องวิเคราะห์ ติดตามปริมาณฝน น้ำท่า โดยเฉพาะเหนือประตูระบายน้ำของแหล่งน้ำต่าง ๆ เพื่อวางแผนการบริหารจัดการน้ำ ป้องกันผลกระทบน้ำหลากในช่วงฤดูฝน และแจ้งเตือนพื้นที่ท้ายน้ำหากมีแนวโน้มปริมาณน้ำที่สูงขึ้นและอาจะได้รับผลกระทบ รวมถึงเตือนภัยดินโคลนถล่มซึ่งวันนี้ (16 มิ.ย.63) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) แจ้งเตือนภัยพื้นที่เฝ้าระวัง (สีเขียว) ได้แก่ 5 หมู่บ้าน ใน จ.เชียงราย 2 หมู่บ้าน
ใน จ. น่าน และ 4 หมู่บ้าน ใน จ.อุตรดิตถ์ และพื้นที่เตรียมพร้อม (สีเหลือง) ได้แก่ 1 หมู่บ้าน ใน จ.พิษณุโลก 10 หมู่บ้านใน จ.น่าน และ 1 หมู่บ้าน ใน จ.พังงา ขณะที่สถานการณ์น้ำหลาก บ้านหนองหญ้ารังกา จ.ชัยภูมิ ปัจจุบันได้เข้าสู่ภาวะปกติแล้ว
สำหรับพื้นที่กรุงเทพมหานครและรอยต่อพื้นที่ปริมณฑลหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายใต้คณะทำงานด้านบูรณาการและขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ซึ่งตั้งโดย กอนช.ขณะนี้ได้มีการวางแผนกำหนดมาตรการป้องกันน้ำท่วมในเขตกรุงเทพมหานครเรียบร้อยแล้ว อาทิ การขุดลอกร่องระบายน้ำสองฝั่งถนนวิภาวดีรังสิตและคลองเชื่อม ลงสู่คลองเปรมประชากร ครอบคลุม 4 เขตดินแดง พญาไท ดอนเมือง และหลักสี่ แล้วเสร็จเมื่อ 3 มิ.ย. 63 ที่ผ่านมา ขุดลอกคูคลอง กำจัดวัชพืชและสิ่งกีดขวางทางน้ำพื้นที่น้ำท่วมขังซ้ำซาก 10 จุดเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรับและระบายน้ำ ปรับปรุงพื้นที่แก้มลิงสวนรถไฟ รองรับน้ำจากแนวถนนวิภาวดีรังสิตผันลงคลองเปรมประชากร รวมถึงติดตั้งเครื่องสำรองไฟฟ้าบริเวณสถานีสูบน้ำของกรุงเทพฯ เพื่อให้สูบน้ำได้อย่างต่อเนื่องกรณีไฟฟ้าดับ และจะมีการซักซ้อมแผนโดยจำลองสถานการณ์จริงโดยมีเป้าหมายเพื่อลดผลกระทบจากปริมาณน้ำท่วมขังและน้ำรอการระบายให้เหลือเวลาน้อยที่สุด
อย่างไรก็ตาม ไม่เพียงการติดตามเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม แต่กอนช.ยังคงติดตาม ให้ความช่วยเหลือพื้นที่ประสบภัยแล้งอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันคงเหลือพื้นที่ประกาศภัยแล้งรวม 14 จังหวัด 93 อำเภอ 507 ตำบล 3 เทศบาล 4,678 หมู่บ้าน ซึ่งหน่วยงานให้ความช่วยเหลือสนับสนุนน้ำอุปโภค-บริโภค รวมถึงปฏิบัติการฝนหลวง ในพื้นที่ที่มีสภาพอากาศเอื้ออำนวยโดยกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เพิ่มพื้นที่ความชุ่มชื้น และเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุน ในพื้นที่รับน้ำ ได้แก่ อ่างเก็บน้ำทับเสลา ลำตะคอง ศรีนครินทร์ และอ่างฯ ประแสร์ นอกจากนี้ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการ กอนช. ได้มีกำหนดการเดินทางลงพื้นที่เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำและขับเคลื่อนการแก้ปัญหาภัยแล้ง
ณ จ.ลำปาง ในวันที่ 18 มิถุนายน นี้ด้วย