กรุงเทพฯ--16 มิ.ย.--สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ
“ประภัตร” เดินหน้าขับเคลื่อนเกษตรแปลงใหญ่ ชูกลุ่มเกษตรแปลงใหญ่ทุเรียนท่ากุ่ม-เนินทราย ผลิตทุเรียนมาตรฐาน GAP ด้าน มกอช.วางเป้าขยายพื้นที่แปลงใหญ่ทุเรียน จ.ตราด พัฒนาต่อยอดการตลาด ผ่าน DGTFarm.com หนุนใช้เครื่องหมาย Q และติด QR Trace ตรวจสอบย้อนกลับ สร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค
นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวในโอกาสเป็นประธานพิธีมอบใบรับรองให้กับเกษตรกรที่ผ่านการรับรองมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับพืชอาหาร (มกษ.9001-2556) แก่เกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนในพื้นที่เกษตรแปลงใหญ่ ณ ศูนย์เรียนรู้กลุ่มเกษตรแปลงใหญ่ทุเรียนท่ากุ่ม-เนินทราย ตำบลท่ากุ่ม อำเภอเมือง จังหวัดตราด ว่า การดำเนินโครงการระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่เป็นนโยบายของกระทรวงเกษตรฯ โดยให้เกษตรกรรวมกลุ่มกัน เป้าหมายลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิต โดยมีคณะกรรมการเครือข่ายแปลงใหญ่ร่วมกับภาครัฐขับเคลื่อนการพัฒนาการผลิตสินค้าเกษตรแบบแปลงใหญ่ตามยุทธศาสตร์ 20 ปี ของกระทรวงเกษตรฯ ที่ต้องการพัฒนาเกษตรกรให้มีการบริหารจัดการร่วมกัน
นายประภัตร กล่าวว่า ทั้งนี้ สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ได้ดำเนินโครงการพัฒนาศักยภาพเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนในพื้นที่เกษตรแปลงใหญ่ภาคตะวันออกให้ได้รับการรับรองมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP) สำหรับพืชอาหาร (มกษ.9001-2556) ปี 2563 เพื่อพัฒนาให้เกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนจังหวัดตราด มีความรู้ความเข้าใจในหลักการปลูกทุเรียนให้ได้ตามมาตรฐาน GAP สามารถผลิตทุเรียนได้มีคุณภาพ มีความปลอดภัย ตรงตามความต้องการของตลาด และผู้บริโภค รวมถึงสามารถขายผลผลิตทุเรียนผ่านระบบตลาดสินค้าเกษตรออนไลน์ DGTFarm.com ห้างโมเดิร์นเทรด และโรงงานผลิตทุเรียนแช่เยือกแข็งเพื่อการส่งออกตามมาตรฐานบังคับ เรื่อง การปฏิบัติที่ดีสำหรับการผลิตทุเรียนแช่เยือกแข็ง (มกษ. 9046-2560)
“ผลการดำเนินโครงการเกษตรแปลงใหญ่ทุเรียนจังหวัดตราด ปี 2562 มีเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนได้รับการรับรองมาตรฐาน GAP จำนวน 38 ราย พื้นที่ 591 ไร่ ปริมาณผลผลิตทุเรียน 1,236 ตัน มูลค่าผลผลิต 148 ล้านบาท เกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนต้นแบบที่ใช้ระบบตามสอบสินค้าเกษตรและอาหาร (QR Trace) แสดงเครื่องหมายรับรองมาตรฐาน (เครื่องหมาย Q) จำนวน 10 ราย และสนใจจำหน่ายผลผลิตทุเรียนผ่านระบบตลาดสินค้าเกษตรออนไลน์ DGTFarm.com จำนวน 2 ราย” รมช.เกษตรฯ กล่าว
นายประภัตร กล่าวอีกว่า สำหรับกลุ่มแปลงใหญ่ทุเรียนท่ากุ่ม-เนินทราย ตำบลท่ากุ่ม อำเภอเมืองตราด จังหวัดตราด ได้เข้าร่วมโครงการฯ โดยมีเกษตรกรสมาชิกได้รับการรับรองตามมาตรฐาน GAP จากกรมวิชาการเกษตร จำนวน 38 ราย รวมถึงสร้างเกษตรกรต้นแบบในพื้นที่เกษตรแปลงใหญ่เพื่อเพิ่มมูลค่าผลผลิตทุเรียน และสนับสนุนการแสดงเครื่องหมาย Q การสร้างเอกลักษณ์และเรื่องราว (Story) ของทุเรียนกลุ่มแปลงใหญ่ทุเรียนท่ากุ่ม-เนินทราย พร้อมนำร่องการใช้ QR Trace เพื่อแสดงถึงการผลิตทุเรียนที่ได้มาตรฐานและสามารถตามสอบแหล่งที่มาได้ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค สร้างความแตกต่างของสินค้า เพิ่มช่องทางการตลาด โดยมีการเชื่อมโยงตลาดสู่ห้างโมเดิร์นเทรด และโรงงานผลิตทุเรียนแช่เยือกแข็งเพื่อการส่งออกตามมาตรฐานบังคับ เรื่อง การปฏิบัติที่ดีสำหรับการผลิตทุเรียนแช่เยือกแข็ง และขยายทางเลือกในการจำหน่ายผลผลิตทุเรียนผ่านระบบตลาดสินค้าเกษตรออนไลน์ DGTFarm.com
“การปลูกทุเรียนในภาคตะวันออกนับว่าประสบความสำเร็จจอย่างยิ่ง ทาง มกอช. จึงเข้ามาส่งเสริมให้เกษตรกรได้เรียนรู้จะทำอย่างไรให้สินค้าได้มาตรฐาน เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้ซื้อ โดยการติดสัญลักษณ์ Q อีกทั้งเป็นการส่งเสริมราคาให้เกษตรกรได้เกษตกรอีกด้วย นอกจากนี้รัฐบาล นำโดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีฯ มีความเป็นห่วงพี่น้องเกษตรกรเป็นอย่างยิ่ง ครม.จึงเห็นชอบอนุมัติวงเงิน 50,000 ล้านบาท ส่งเสริมให้เกษตรกรได้มีอาชีพใหม่ที่สร้างรายได้ที่มั่นคง ทั้งด้านพืช ประมง และปศุสัตว์ ให้สามารถจำหน่ายทั้งภายในและต่างประเทศ โดยมีตลาดรองรับ โดยมีอัตราดอกเบี้ย 0.01% ต่อปี ธ.ก.ส. สนับสนุนสินเชื่อไม่เกินกลุ่มละ 10 ล้านบาท หรือดอกเบี้ยล้านละ 100 บาท/ปี ระยะเวลา 3 ปี ตั้งแต่ 1 ธ.ค. 62 - 30 พ.ย. 65” นายประภัตร กล่าว
ด้าน ดร.จูอะดี พงศ์มณีรัตน์ เลขาธิการ มกอช. กล่าวเพิ่มเติมว่า การดำเนินโครงการฯ ในปี 2563 มกอช. ให้ความสำคัญในการพัฒนาต่อยอดด้านการตลาด ได้แก่ การเพิ่มมูลค่า สร้างความแตกต่าง และการสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค โดย มกอช. ได้ศึกษาวิธีการขนส่งที่เหมาะสมให้กับเกษตรกรแปลงใหญ่ที่มีความสนใจจำหน่ายสินค้าทุเรียนผ่านทางออนไลน์ ทำให้สินค้าทุเรียนยังคงมีคุณภาพได้มาตรฐาน และมีเนื้อสัมผัสตามที่ผู้บริโภคต้องการ โดยเพิ่มรายละเอียดในสติ๊กเกอร์สำหรับแสดงเครื่องหมาย Q ให้ผู้บริโภคได้ทราบถึงวันที่ควรบริโภคในแต่ละเนื้อสัมผัสที่ต้องการ เช่น กรอบนอกนุ่มใน นิ่มนอกนิ่มใน และนิ่มมาก สร้างเอกลักษณ์และเรื่องราวให้กับสินค้าทุเรียนกลุ่มแปลงใหญ่ และขยายทางเลือกในการจำหน่ายผลผลิตทุเรียนผ่านระบบตลาดสินค้าเกษตรออนไลน์ DGTFarm.com และให้ผู้บริโภคสามารถตามสอบแหล่งที่มาของผลผลิตทุเรียนได้โดยการสแกน QR Trace ทั้งนี้ ยังได้เชื่อมโยงตลาดระหว่างเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนแปลงใหญ่กับโรงงานผลิตทุเรียนแช่เยือกแข็งเพื่อการส่งออกตามมาตรฐานบังคับ เรื่อง การปฏิบัติที่ดีสำหรับการผลิตทุเรียนแช่เยือกแข็ง (มกษ. 9046-2560)
“ปี 2563 มกอช. ได้ดำเนินโครงการโดยขยายพื้นที่ออกเป็นจำนวน 4 ตำบล 2 อำเภอ ประกอบด้วย กลุ่มเกษตรแปลงใหญ่ทุเรียนตำบลชำราก ตำบลวังกระแจะ ตำบลท่ากุ่ม อำเภอเมืองตราด และตำบลคลองใหญ่ อำเภอแหลมงอบ มีเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนเข้าร่วมโครงการฯ 120 ราย พื้นที่ 1,295 ไร่ ปริมาณผลผลิต 2,700 ตัน มูลค่าผลผลิต 324 ล้านบาท ทั้งนี้ ผลการดำเนินโครงการในปี 2563 มีเกษตรกรได้รับการรับรอง GAP จำนวน 120 ราย แบ่งเป็น ทุเรียน 110 ราย มังคุด 9 ราย และเงาะ 1 ราย นอกจากนี้ มกอช. ได้สนับสนุนนำร่องการแสดงเครื่องหมาย Q จำนวน 100 ราย และเกษตรกรสนใจใช้ระบบ QR Trace รวมทั้งได้ประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรเข้าสู่ระบบตลาดสินค้าเกษตรออนไลน์ DGTFarm.com เพื่อเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่ายในยุค COVID-19 อีกด้วย” เลขาธิการ มกอช. กล่าว