กรุงเทพฯ--17 มิ.ย.--กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวในการประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการป้องกันและปราบปรามการตัดไม้ทำลายป่า ครั้งที่ 1/2563 พร้อมทั้ง แถลงผลการปฏิบัติงานในภาพรวมของศูนย์ปฏิบัติการพิทักษ์ป่าในการดำเนินคดีบุกรุกป่า
นายวราวุธ กล่าวต่อว่า จากนโยบายของรัฐบาลภายใต้การบริหารงานของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มีนโยบายในการป้องกันและปราบปรามการลักลอบตัดไม้ทำลายป่า และแก้ไขปัญหาบุกรุกป่าเพื่อใช้เป็นพื้นที่อยู่อาศัยและพื้นที่ทำกิน และให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาการทำลายทรัพยากรป่าไม้ และเพื่อให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นหน่วยงานหลักในการดูแลทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จึงได้วางแผนพร้อมทั้งแนวทางเพื่อแก้ไขปัญหา โดยมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการตัดไม้ทำลายป่าแห่งชาติ (คปป.) ในการเสนอนโยบายและแผนงาน มาตรการป้องกันและปราบปรามการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้ เสนอนโยบายการยกเลิก แก้ไข เพิ่มเติมหรือปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยป่าไม้ และกำหนดมาตรการต่าง ๆ ในการป้องกัน เพื่อเป็นการขับเคลื่อนงาน พร้อมทั้งได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการป้องกันและปราบปรามการตัดไม้ทำลายป่า ระดับจังหวัด โดยมี ผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นประธานอนุกรรมการ ขับเคลื่อนงานในการอำนวยการและบูรณาการการป้องกันและปราบปรามการตัดไม้ทำลายป่าในระดับจังหวัด และประสาน กำกับดูแล ตรวจสอบ และติดตามการปฏิบัติงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และนอกจากนี้ได้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการป้องกันและปราบปรามการตัดไม้ทำลายป่า และศูนย์ปฏิบัติการพิทักษ์ป่า (ศปก.พป.) เพื่อความสะดวกรวดเร็วในการขับเคลื่อนการป้องกันและปราบปรามการตัดไม้ทำลายป่าและบูรณาการร่วมกับคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการป้องกันและปราบปรามการตัดไม้ทำลายป่าระดับจังหวัด (คปป.จังหวัด) และหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ในส่วนของกรมป่าไม้ มีนายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมป่าไม้ นายปรมินทร์ วงศ์สุวัฒน์ นายสมศักดิ์ สรรพโกศลกุล รองอธิบดีกรมป่าไม้ พร้อมผู้บริหารที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมในที่ประชุม ได้ร่วมกันรายงาน ผลการดำเนินงานของการปฏิบัติงานในภาพรวมของศูนย์ปฏิบัติการพิทักษ์ป่า ซึ่งเป็นการบูรณาการร่วมกันของชุดปฏิบัติการพิเศษพยัคฆ์ไพร ของกรมป่าไม้ ชุดปฏิบัติการพิเศษพญาเสือ และชุดปฏิบัติการพิเศษเหยี่ยวดง ของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ชุดปฏิบัติการพิเศษฉลามขาว ของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และหน่วยบินพิทักษ์ป่า Sky Ranger สำนักงานปลัด ทส. ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับการดำเนินการเรื่องการบุกรุกที่ดินของรัฐ เรื่องการออกเอกสารสิทธิทับที่ป่าไม้ เรื่องการลักลอบตัดไม้มีค่า
สถิติในภาพรวมของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ช่วงที่ผ่านมาในปีงบประมาณ 62 ถึงปัจจุบัน แบ่งเป็นการดำเนินคดีบุกรุกป่ามีจำนวน 2,851 คดี มีผู้ต้องหา 521 ราย คดีไม้มีจำนวน 2,451 คดี มีผู้ต้องหา 1,255 ราย และในปีงบประมาณ 63 การดำเนินคดีบุกรุกป่ามีจำนวน 2,156 คดี มีผู้ต้องหา 378 ราย และคดีไม้ มีจำนวน 1,058 คดี มีผู้ต้องหา 521 ราย และในปี 2563 มีแนวโน้มว่าจะลดลง
ทั้งนี้ นายวราวุธ กล่าวถึง ศูนย์ปฏิบัติการพิทักษ์ป่าที่ล่าสุด ได้ดำเนินการตรวจยึดจับกุมผู้กระทำผิดในการลักลอบตัดไม้และนำไม้มาอำพรางเป็นสิ่งปลูกสร้างในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่สอด จ.ตาก มาดำเนินคดี พร้อมทั้งวางมาตรการป้องกันการบุกรุกทำลายป่า โดยการตั้งจุดสกัดลาดตระเวนในพื้นที่ล่อแหลมอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการรณรงค์และประชาสัมพันธ์ประชาชนในพื้นที่ เพื่อสร้างการรับรู้และมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ควบคู่ไปกับการฟื้นฟูสภาพป่าในพื้นที่ที่เกิดไฟป่าและบริเวณที่มีการลักลอบบุกรุกทำลายป่า พร้อมเร่งรัดการดำเนินโครงการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนตามนโยบายรัฐบาล (คทช.) และยกระดับความเข้มข้นในการตรวจสอบการขออนุญาตขนย้ายไม้เรือนเก่า รวมไปถึงการขอความร่วมมือในการตรวจสอบเส้นทางการเงินจาก ปปง. และอีกหนึ่งกรณี การบุกจับขบวนการลักลอบตัดไม้เทียนทะเล บริเวณเกาะแตน จ.สุราษฎร์ธานี ซึ่งเป็นไม้ที่หายาก จะต้องดำเนินการตามกฎหมายอย่างเฉียบขาดนอกจากนี้ ศูนย์ปฏิบัติการพิทักษ์ป่า ยังได้ดำเนินการตรวจยึดและจับกุมขบวนการลักลอบตัดไม้พะยูงในอีกหลายพื้นที่ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่เชื่อมโยงกับขบวนการขโมยไม้ของกลางที่เก็บรักษาไว้ที่หน่วยป้องกันรักษาป่า ทั้งนี้ ศูนย์ปฏิบัติการพิทักษ์ป่าได้บูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องขยายผลจนสามารถจับกุมกลุ่มขบวนการได้จำนวนมาก ซึ่งมีเจ้าหน้าที่ภาครัฐเกี่ยวข้องหลายหน่วยงาน ซึ่งทั้งหมดได้ถูกแจ้งความดำเนินคดี
สำหรับในเรื่องมาตรการและแนวทางการแก้ไขปัญหาขบวนการลักลอบตัดไม้มีค่า เพื่อที่จะได้เร่งขับเคลื่อนงานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยได้ดำเนินการดังนี้
กรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
รมว.ทส. ให้นโยบายในที่ประชุม เน้นย้ำดังนี้
การตัดไม้ทำลายป่า ถ้ากระทำโดยบุคคลอื่นเป็นเรื่องที่น่าเศร้าใจมากอยู่แล้ว แต่หากมีเจ้าหน้าที่ของรัฐ ที่รับผิดชอบ ไปมีส่วนรู้เห็น หรือกระทำความผิดเสียเอง ต้องดำเนินการลงโทษให้หนักกว่า และเฉียบขาด รายได้ที่เขาได้มา ถ้าเทียบกับการกระทำผิด โทษที่ได้รับอาจจะเบา จึงขอฝากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณา การลงโทษสถานหนักให้ถึงที่สุด เนื่องจากทรัพยากรธรรมชาติเหลือน้อย และคณะอนุกรรมการฯ ต้องช่วยกันดำเนินการต่อไปมาตรการต่างๆ ตลอดจนการตรวจเส้นทางทางการเงิน ทุกหน่วยงานที่เป็นอนุกรรมการ และจะต้องบูรณาการกับหน่วยงานอื่น ๆ เช่น ปปง. ฝ่ายปกครอง ท้องที่ ทหาร ฯลฯ กันอย่างใกล้ชิด ตลอดจนใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ และจะขอเงินงบประมาณ มาช่วยสนับสนุนการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ให้มีประสิทธิภาพต่อไปด้วย