กรุงเทพฯ--17 มิ.ย.--กรุงเทพมหานคร
นายไทวุฒิ ขันแก้ว ผู้อำนวยการสำนักการโยธา กทม. กล่าวกรณีสื่อมวลชนเสนอข่าวปัญหาทางเท้าในพื้นที่กรุงเทพฯ เป็นเรื่องร้องเรียนอันดับต้น ๆ ทั้งทางเท้าชำรุดเสียหาย การใช้งานผิดประเภท การรุกล้ำพื้นที่ทางเท้าและการตั้งแผงลอยทำการค้าว่า สำนักการโยธา ได้ตรวจสอบความเสียหายทางเท้าตามวงรอบทุก 15 วัน หากตรวจพบความเสียหายที่อาจก่อให้เกิดอันตรายแก่ประชาชน ศูนย์ก่อสร้างและบูรณะถนนที่ดูแลพื้นที่ จะจัดหน่วยซ่อมฉุกเฉินเข้าไปซ่อมแซมทันที และหากมีการแจ้งข้อมูลจากประชาชน จะลงพื้นที่จัดซ่อมให้แล้วเสร็จภายใน 3 วัน ส่วนกรณีที่สำนักการโยธา ตรวจพบการใช้งานทางเท้าผิดประเภท เช่น จอดรถบนทางเท้า ขับขี่รถจักรยานยนต์บนทางเท้า จะแจ้งสำนักงานเขตดำเนินการตามหน้าที่ สำหรับการอนุญาตให้หน่วยงานสาธารณูปโภคเข้าใช้พื้นที่ทางเท้า สำนักการโยธาจะประสานกับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภายในและภายนอก เพื่อร่วมตรวจสอบและรวบรวมความเห็นถึงผลกระทบต่าง ๆ ก่อนที่จะพิจารณาอนุญาตให้ใช้พื้นที่ และเมื่อหน่วยงานสาธารณูปโภคต่าง ๆ ก่อสร้างแล้วเสร็จจะคืนพื้นที่ให้กรุงเทพมหานคร จะตรวจสอบพื้นที่ร่วมกันอีกครั้ง
ด้าน นายศุภกฤต บุญขันธ์ ผู้อำนวยการสำนักเทศกิจ กทม. กล่าวว่า สำนักเทศกิจมีมาตรการกวดขันผู้ค้าหาบเร่แผงลอยที่ใช้ทางเท้าในการขายสินค้า ทั้งในจุดผ่อนผันที่ได้รับอนุญาตและไม่ใช่จุดผ่อนผันที่ไม่ได้รับอนุญาต โดยเข้มงวดกวดขันผู้ค้าแผงลอยให้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการทำการค้าที่ กทม. กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะการตั้งวางแผงค้า รถเข็น และอุปกรณ์การค้าทุกชนิด ต้องเป็นวัสดุที่มีน้ำหนักเบา ไม่ทำให้ทางเท้าชำรุดเสียหาย ไม่ขุดเจาะพื้นผิวทางเท้า ผิวจราจร เพื่อตั้งวางแผงค้าโดยเด็ดขาด รวมถึงตรวจสอบการทำการค้าของผู้ค้าประเภทปรุง หุงต้ม ให้ดูแลความสะอาดพื้นที่ทำการค้า ห้ามถ่ายเทน้ำ เศษอาหาร ไขมัน สิ่งปฏิกูลมูลฝอยที่ทำให้พื้นทางเท้า ผิวจราจรชำรุด ขณะเดียวกันผู้ทำการค้าทุกราย ต้องร่วมกันดูแลรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยพื้นที่ทำการค้า เมื่อเลิกทำการค้าแล้ว ต้องเก็บสินค้า แผงค้าและอุปกรณ์การค้าออกจากพื้นที่ทำการค้าทันที นอกจากนั้น สำนักเทศกิจยังได้ร่วมกับสำนักงานเขตจัดเจ้าหน้าที่เทศกิจลงพื้นที่ตรวจสอบจุดผ่อนผันทุกวัน หากพบผู้ค้าไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไขการทำการค้า จะถูกดำเนินคดีหรือให้หยุดทำการค้าชั่วคราว หากไม่ให้ความร่วมมือจะพิจารณายกเลิกจุดทำการค้านั้น อีกทั้ง ได้จัดเจ้าหน้าที่เทศกิจจับปรับผู้ฝ่าฝืนจอดหรือขับขี่รถยนต์หรือรถจักรยานยนต์บนทางเท้าในพื้นที่กรุงเทพฯ อย่างต่อเนื่อง ตลอดจนเพิ่มอัตราค่าปรับให้สูงขึ้น ซึ่งการปฏิบัติการดังกล่าวเป็นการเพิ่มความปลอดภัยให้ผู้ใช้ทางเท้าและส่งเสริมวินัยจราจร อีกทั้งยังช่วยลดการชำรุดเสียหายของทางเท้าสาธารณะได้มากขึ้นด้วย