กรุงเทพฯ--17 มิ.ย.--กู้ดวิลคอมมูนิเคชั่นส์
บสย. คิกออฟ “คลินิกแมงเม่า” ดึงกูรูเฉพาะทาง เปิดคลาสติวเข้ม วิชาบริหารการลงทุน ต่อยอดเสริมรายได้ พร้อมเปิด “คลินิกแก้หนี้” พร้อมเติมสภาพคล่องให้ครอบครัวที่ได้รับความเดือดร้อน กู้ฉุกเฉิน 1 แสนบาท
ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) กล่าวว่า การแพร่ระบาดของไวรัส โคโรนา (COVID-19) ถือเป็นวิกฤตที่เกิดขึ้นอย่างกระทันหัน และส่งผลกระทบต่อคนทั่วโลก ซึ่งรวมถึงประเทศไทยที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตนี้ในทุกภาคส่วนและทุกกลุ่มอาชีพ ดังนั้น บสย. จึงได้เปิดโครงการ “คลินิกแมงเม่า”
สำหรับโครงการคลินิกแมงเม่า เป็นการให้ความรู้เรื่องการบริหารพอร์ตการลงทุน โดยเน้นการลงทุนที่มีผลตอบแทนสูงในสภาวะวิกฤต ซึ่งทาง บสย. จัดหากูรูหรือผู้เชี่ยวชาญทางด้านนี้มาฝึกสอนให้โดยเฉพาะ เพื่อให้พนักงานได้เข้าใจวิธีการบริหารเงินลงทุนอย่างไร ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนในหุ้น พันธบัตร ตราสารหนี้ โดยลงทุนอย่างไรได้รับผลตอบแทนสูงในระดับความเสี่ยงต่ำ ซึ่งมีความจำเป็นที่จะต้องสร้างความเข้าใจให้กับพนักงานโดยเฉพาะ
ทั้งนี้ บสย. ต้องการให้พนักงานมีผลตอบแทนที่ดีขึ้น เปรียบเสมือนมีรายได้เพิ่มขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาคนส่วนใหญ่จะเน้นการฝากเงิน ซึ่งได้ดอกเบี้ยต่ำ ดังนั้นโครงการนี้เป็นการปูพรมให้พนักงานได้รู้จักและเพิ่มทักษะการบริหารจัดการด้านการเงินการลงทุน นอกจากนี้ บสย. ยังมีคลินิกแก้หนี้ให้กับพนักงาน เพื่อช่วยเหลือครอบครัวพนักงานที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยเป็นครั้งแรกที่ บสย. ได้เปิดให้โครงการกู้ฉุกเฉินวงเงินไม่เกิน 1 แสนบาท ซึ่งจะช่วยเยียวยาเบื้องต้นให้กับพนักงานได้
ขณะเดียวกัน บสย. ยังได้มีการแก้หนี้ต่างๆ ซึ่งพนักงานบางคนอาจมีภาระค่อนข้างสูง โดยบสย. ร่วมกับธนาคารพันธมิตรจัดหาเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ เพื่อให้พนักงานมีต้นทุนทางการเงินต่ำลง ซึ่งที่ผ่านมาการกู้เงินจากสถาบันการเงินนั้นมีหลายรูปแบบ เช่น สินเชื่อส่วนบุคคล หรือบัตรเครดิต ดังนั้น การแก้หนี้จึงเป็นการปรับโครงสร้างหนี้ให้กับพนักงาน และเป็นการแบ่งเบาภาระที่มีอยู่ให้ลดลง
“บสย. ไม่ได้แก้หนี้ให้กับเอสเอ็มอีเท่านั้น แต่เราได้กลับมาดูแลพนักงาน เราต้องการให้พนักงานมีภาระค่าใช้จ่ายที่ต่ำลง โครงการเหล่านี้จะช่วยเสริมสภาพคล่องให้กับพนักงานมากขึ้น หรือเมื่อคุณมีเงินจะจัดสรรเงินนั้นอย่างไร จะนำไปลงทุนด้านไหนให้เกิดประโยชน์สูงสุด หรือเมื่อเป็นหนี้แล้วคุณจะเป็นหนี้อย่างชาญฉลาดได้อย่างไร ที่สำคัญเป็นหนี้แล้วก็ต้องออมด้วย เพื่ออนาคตข้างหน้า” ดร.รักษ์ กล่าว