กรุงเทพฯ--18 มิ.ย.--กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
“ไทยชนะ” โชว์ข้อมูล 5 อันดับร้านค้า/กิจการที่มีการใช้งานสูงสุดหลังเปิดตัวไทยชนะครบ 1 เดือน เตือนห้างสรรพสินค้า ร้านสะดวกซื้อ ร้านอาหาร “อย่าการ์ดตก” ล่าสุดเตรียมเปิดฟังก์ชั่นเช็คอินแบบกลุ่มได้พร้อมกันครั้งละ 4 คน
นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) มีนโยบายผลักดัน การจัดทำ“ไทยชนะ” เพื่อเป็นเครื่องมือในการป้องกันและลดความเสี่ยงในการแพร่กระจายโรค รองรับมาตรการผ่อนคลายกิจการ/กิจกรรมในด้านต่างๆ ที่รัฐบาลเตรียมทยอยประกาศออกมา เพื่อให้ประเทศไทยยังรักษาระดับความแข็งแกร่งของมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 ควบคู่กับการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด-19 ขณะเดียวกัน ได้กำชับเรื่องนโยบายด้านรักษาความเป็นส่วนตัวและคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลอย่างเคร่งครัด ซึ่งเป็นสิ่งที่แพลตฟอร์ม/แอปไทยชนะให้ความสำคัญมาโดยตลอด
ผศ.(พิเศษ) นพ.พลวรรธน์ วิทูรกลชิต ผู้ตรวจราชการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ในฐานะรองหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการด้านข้อมูลมาตรการแก้ไขปัญหาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และเจ้าหน้าที่ศูนย์ปฏิบัติการด้านการสื่อสาร โทรคมนาคม และสื่อสังคมออนไลน์ ศูนย์บริหารสถานการณ์ โควิด-19 (ศบค.) กล่าวว่า จากข้อมูลการใช้งานครบ 1 เดือนของการเปิดตัวไทยชนะ พบว่ามีกิจการ 5 อันดับแรก ที่มียอดผู้เข้าใช้งานสูงสุด ได้แก่ 1.ร้านอาหาร เครื่องดื่ม ภัตตาคาร ร้านอาหาร 2.ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านสะดวกซื้อ ร้านค้าปลีก-ส่ง 3.ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ 4.ที่ทำการหน่วยงานรัฐและรัฐวิสาหกิจ และ 5.การให้บริการ (รวมถึงบริการนวดและสปา) ตามลำดับ
ขณะที่ ในกลุ่มของตลาดนัด ตลาดค้าส่ง หาบเร่ แผงลอย และรถเข็น ได้ผลประเมินการจัดการตามมาตรการ 5 ข้อและการใช้แพลตฟอร์ม/แอปพลิเคชั่นไทยชนะ น้อยกว่ากิจกรรมอื่นๆ แต่ที่น่าเป็นห่วงคือ กลุ่มห้างสรรพสินค้า ร้านสะดวกซื้อ ร้านอาหาร มีแนวโน้มว่าการจัดการตามมาตรการ 5 ข้อ ได้น้อยลงเรื่อยๆ ซึ่งอาจจะไม่เป็นผลดีต่อประชาชนที่เข้าใช้บริการในสถานที่ดังกล่าว ในกรณีที่มีอาจมีการเกิดการระบาดรอบสอง (Second Wave) จึงอยากขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการ ในการเคร่งครัดการจัดการตามมาตรการดังกล่าวด้วย
ขณะที่ภาพรวมจากผลการประเมินมาตรการของกรมควบคุมโรค พบว่ายังมีข้อที่น่ากังวล คือ การทำความสะอาดพื้นผิวสัมผัส และการรักษาระยะห่าง ซึ่งยังทำไม่ค่อยได้เท่ากับการสวมหน้ากากอนามัย และจุดบริการล้างมือ/แอลกอฮอล์
นพ.พลวรรธน์ กล่าวว่า ล่าสุดได้เพิ่มฟังก์ชั่นการเช็คอินแบบกลุ่ม (Group Check-in) ในไทยชนะ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้งานรองรับการเช็คอินพร้อมกันได้ 4 คน โดยในส่วนของแอปไทยชนะ ทั้งบนแอนดรอยด์ และ iOS จะสามารถใช้ฟังก์ชั่นใหม่ได้ในเร็วๆ นี้ โดยจะสามารถเช็คเอาท์แบบกลุ่มได้เช่นกัน
อีกทั้ง เตรียมเพิ่มฟังก์ชั่นการใช้งานอื่นๆ เพื่อรองรับมาตรการผ่อนคลายอื่นๆ ของรัฐบาล ได้แก่ การจองท่องเที่ยวในอุทยานแห่งชาติ ที่จะทยอยเริ่มกลับมาเปิดหลังโควิด-19 ซึ่งจะมีการจำกัดนักท่องเที่ยว โดยไทยชนะ จะเป็นเครื่องมือช่วยคัดกรองและติดตามการเข้าพื้นที่ของนักท่องเที่ยวด้วย รองรับนโยบายการท่องเที่ยวแบบ new normal ที่ต้องมีมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 อย่างเคร่งครัด
นอกจากนี้ ยังมีฟังก์ชั่น Serial Number โดยผู้ประกอบการสามารถนำไปจัดทำกิจกรรมส่งเสริมการตลาด ร่วมกับมาตรการสนับสนุนการท่องเที่ยวของรัฐบาล ซึ่งสายการบิน โรงแรม ร้านค้าต่างๆ ที่อยู่ในระบบไทยชนะและปฏิบัติได้ตามมาตรการของ ศบค. กำหนด อาจได้รับตราสัญลักษณะ {โลโก้) ยืนยัน เป็นต้น
“ขอเน้นย้ำข้อควรรู้และแนวปฏิบัติ ในการเก็บข้อมูลผู้ใช้บริการของร้านค้าโดยใช้สมุดจด ดังนี้ 1.ข้อมูลนี้ใช้เพื่อการสอบสวนโรค กรณีผู้ใช้บริการบางคนป่วยโรคโควิด-19 ขึ้นในภายหลัง 2.ห้ามนำไปใช้เพื่อการอย่างอื่นโดยเด็ดขาด 3.ร้านค้าจัดเก็บในที่ปลอดภัย โดยสามารถสืบค้นย้อนหลังได้ 60 วัน และ 4.เมื่อครบกำหนดให้ร้านค้าทำลายสมุดจดดังกล่าว” นพ.พลวรรธน์กล่าว
ด้านยอดรวมจำนวนผู้ใช้งานไทยชนะเพิ่มเป็น 27,595,753 คน (ตัวเลข ณ วันที่ 16 มิ.ย. 63) โดยในจำนวนนี้เป็นการใช้งานผ่านแอปไทยชนะทั้งแอนดรอยด์ และ iOS จำนวน 333,919 คน มีจำนวนกิจการ/ร้านค้าที่ลงทะเบียน 197,381 ร้าน