กรุงเทพฯ--18 มิ.ย.--ฟิทช์ เรทติ้งส์
บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ ประกาศจัดอันดับเครดิตระยะยาวที่คาดว่าจะให้ (Expected Long-term Rating) ให้แก่ตราสารค้ำประกันประเภทกึ่งหนี้กึ่งทุนที่ไม่มีกำหนดอายุ มูลค่า 300 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ของ บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ MINT ที่ 'BBB(EXP)’
อันดับเครดิตของตราสารค้ำประกันดังกล่าวสะท้อนถึงการได้รับการค้ำประกันในลักษณะไม่มีเงื่อนไข และไม่สามารถยกเลิกได้จาก ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL (ซึ่งมีอันดับเครดิตที่ 'BBB’ แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ) ผ่านสาขาที่ฮ่องกง ทั้งนี้ อันดับเครดิตสุดท้ายที่จะให้จะขึ้นอยู่กับเอกสารการเสนอขายตราสารฉบับจริงที่มีข้อมูลสอดคล้องกับการคาดการณ์ของฟิทช์ว่าจำนวนเงินที่ค้ำประกันสูงสุดโดย BBL สำหรับตราสารที่ถูกจัดอันดับสามารถที่จะ ครอบคลุมเงินต้น, ดอกเบี้ยค้างจ่าย, ดอกเบี้ยตั้งพัก และดอกเบี้ยบนดอกเบี้ยตั้งพัก ที่อาจเกิดขึ้นทั้งหมดของตราสารในช่วงเวลาสามปีแรกจนถึงวันที่สามารถการเรียกคืนตราสารครั้งแรก (First Call Date) ในปี 2566
ปัจจัยที่มีผลต่ออันดับเครดิต
อันดับเครดิตเท่ากับอันดับเครดิตของผู้ค้ำประกัน – ตราสารดังกล่าวมีอันดับเครดิตเท่ากับอันดับเครดิตสากลของหุ้นกู้ไม่มีประกันและไม่ด้อยสิทธิ (Senior Unsecured Rating) ของผู้ค้ำประกัน คือ BBL เพื่อสะท้อนถึงการได้รับการค้ำประกันในลักษณะไม่มีเงื่อนไข และไม่สามารถยกเลิกได้จาก BBL ผ่านสาขาที่ฮ่องกง โดยภาระจากการค้ำประกันมีสถานะเท่าเทียมกันกับภาระผูกพันที่ไม่มีประกันและไม่ด้อยสิทธิของ BBL
การเรียกคืนตราสารครั้งแรก ปี 2566 – การค้ำประกันเต็มจำนวนจะมีผลบังคับจนถึงวันที่มีการจ่ายภาระผูกพันค้างชำระทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับตราสารอย่างครบถ้วนถูกต้องเต็มจำนวน หรือจนถึงวันที่ผู้ออกตราสารสามารถเรียกคืนตราสารได้เป็นครั้งแรก (First Call Date) ในปี 2566 แล้วแต่เหตุการณ์ใดจะเกิดขึ้นก่อน โดยที่ผู้ถือตราสารต้องมีการปฏิบัติถูกต้องตามเงื่อนไขที่กำหนด ในกรณีที่ MINT ไม่เรียกคืนตราสารในวันที่สามารถเรียกคืนได้ในปี 2566 (Non-call Event) ผู้ค้ำประกันจำเป็นจะต้องซื้อคืนตราสารดังกล่าวทั้งหมด ในราคาที่ครอบคลุมทั้งเงินต้น, ดอกเบี้ยค้างจ่าย, ดอกเบี้ยตั้งพัก และดอกเบี้ยบนดอกเบี้ยตั้งพัก ทั้งนี้ นอกเหนือจากการบังคับซื้อคืนในกรณี Non-call Event ดังกล่าว หาก MINT เข้าสู่ภาวะล้มละลายก่อนที่จะถึง First Call Date BBL ก็มีภาระผูกพันที่จะต้องซื้อคืนตราสาร ในราคาที่คำนวณบนหลักการเดียวกันกับที่กล่าวมาข้างต้นเช่นกัน ดังนั้น ฟิทช์มองว่า First Call Date น่าจะเป็นวันครบกำหนดไถ่ถอนที่น่าจะเป็น (Effective Maturity Date) ของตราสารนี้
จำนวนเงินที่ค้ำประกันสูงสุดยังไม่มีการกำหนด – จำนวนเงินที่ค้ำประกันทั้งหมดโดย BBL ถูกจำกัดไว้ไม่เกินกว่า “จำนวนเงินที่ค้ำประกันสูงสุด” ของตราสารที่ถูกจัดอันดับ ซึ่งยังไม่มีการกำหนด ณ ขณะนี้ “จำนวนเงินที่ค้ำประกันสูงสุด” ที่จะปรากฏในเอกสารการเสนอขายตราสารฉบับจริงขึ้นอยู่กับอัตราดอกเบี้ยของตราสาร ซึ่งจำนวนเงินดังกล่าวน่าจะครอบคลุมเงินต้น ดอกเบี้ยค้างจ่าย, ดอกเบี้ยตั้งพัก และดอกเบี้ยบนดอกเบี้ยตั้งพัก ที่น่าจะเกิดขึ้นทั้งหมดของตราสารในช่วงเวลาที่มีการค้างชำระ
ฟิทช์จะพิจารณาเอกสารการเสนอขายตราสารฉบับจริงว่าวงเงินค้ำประกันดังกล่าวจะครอบคลุมเงินต้น ดอกเบี้ยค้างจ่าย, ดอกเบี้ยตั้งพัก และดอกเบี้ยบนดอกเบี้ยตั้งพัก ที่น่าจะเกิดขึ้นทั้งหมดของตราสารในช่วงเวลาที่มีการค้างชำระหรือไม่
การกำหนดอันดับเครดิตโดยสรุป
อันดับเครดิตของตราสารค้ำประกันดังกล่าวสะท้อนถึงการได้รับการค้ำประกันในลักษณะไม่มีเงื่อนไข และไม่สามารถยกเลิกได้จาก BBL
ปัจจัยที่อาจมีผลกับอันดับเครดิตในอนาคต
การเปลี่ยนแปลงอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิของ BBL จะส่งผลเช่นเดียวกับอันดับเครดิตของตราสารค้ำประกันของ MINT เนื่องจากเป็นตราสารที่ถูกค้ำประกันเต็มจำนวนโดย BBL
สำหรับ BBL ปัจจัยที่อาจมีผลกับอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศในอนาคตที่ได้ประกาศไว้เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2563 ดังนี้
ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต – อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศ อันดับเครดิตภายในประเทศ และอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ
ปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบเชิงบวกหรือส่งผลให้เกิดการปรับเพิ่มอันดับเครดิต (ปัจจัยเดียวหรือหลายปัจจัยรวมกัน)
อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศ อันดับเครดิตภายในประเทศ และอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิของ BBL จะได้รับผลกระทบในทิศทางเดียวกันกับการเปลี่ยนแปลงของอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของธนาคาร การปรับเพิ่มอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินน่าจะส่งผลให้อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศ และอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิได้รับการปรับเพิ่มอันดับ
การเปลี่ยนแปลงมุมมองของฟิทช์ที่มีต่อโครงสร้างเครดิตของ BBL เมื่อเทียบกับอันดับเครดิตภายในประเทศของธนาคารหรือบริษัทอื่นอาจส่งผลกระทบต่ออันดับเครดิตภายในประเทศของ BBL อย่างไรก็ตามฟิทช์มองว่าการปรับเพิ่มอันดับเครดิตภายในประเทศของ BBL ไม่น่าจะเกิดขึ้นในระยะสั้นเมื่อพิจารณาจากโครงสร้างอันดับเครดิตของธนาคารเมื่อเทียบกับธนาคารขนาดใหญ่รายอื่นในประเทศ
ปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบเชิงลบหรือส่งผลให้เกิดการปรับลดอันดับเครดิต (ปัจจัยเดียวหรือหลายปัจจัยรวมกัน)
การปรับลดอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินจะส่งผลในทิศทางเดียวกันกับอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศ และอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิของธนาคารแม้ว่าความเสี่ยงในเชิงลบต่ออันดับเครดิตสนับสนุนและอันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำ มีค่อนข้างจำกัด โดยอันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำอยู่ที่ 'BBB-’ อันดับเครดิตภายในประเทศอาจได้รับการปรับลดอันดับหากฟิทช์มองว่าโครงสร้างเครดิตของธนาคารอ่อนแอลงเมื่อเทียบกับธนาคารหรือบริษัทอื่นในประเทศ
ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต – อันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน
ปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบเชิงบวกหรือส่งผลให้เกิดการปรับเพิ่มอันดับเครดิต (ปัจจัยเดียวหรือหลายปัจจัยรวมกัน)
อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของธนาคารอาจได้รับการปรับเพิ่มอันดับเป็น 'bbb+’ หากแนวโน้มคุณภาพสินทรัพย์ของธนาคารจัดอยู่ในระดับสอดคล้องกับธนาคารอื่นที่มีอันดับเครดิตสูงกว่าและอยู่ในสภาวะแวดล้อมการดำเนินงานที่ระดับเดียวกัน (ที่ bbb) เช่นอัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อสินเชื่อต่ำกว่า 3% อีกทั้งยังมีความสามารถในการรองรับความเสี่ยงที่แข็งแกร่งในด้านของสำรองหนี้สูญต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพและเงินกองทุน (เช่น CET1 อยู่ที่ระดับ 16% อย่างต่อเนื่อง) ทั้งนี้จะขึ้นอยู่กับความสามารถในการทำกำไรที่เพิ่มขึ้นอย่างยั่งยืนโดยที่ไม่ได้ยอมรับความเสี่ยงเพิ่มขึ้นเนื่องจากความสามารถดังกล่าวจะช่วยเพิ่มความสามารถในการสะสมเงินกองทุนของธนาคาร
ปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบเชิงลบหรือส่งผลให้เกิดการปรับลดอันดับเครดิต (ปัจจัยเดียวหรือหลายปัจจัยรวมกัน)
อันดับความแข็งแกร่งของธนาคารอาจได้รับการปรับลดอันดับเป็น 'bbb-' หากฐานะเงินกองทุนของธนาคารปรับตัวด้อยลงอย่างต่อเนื่องจนไม่เพียงพอที่จะรองรับคุณภาพสินทรัพย์ที่ด้อยลง เช่น การที่อัตราส่วน CET1 ของธนาคารปรับตัวลดลงต่ำกว่า 13% ในช่วงสองปีข้างหน้า โดยอัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อสินเชื่อรวมเพิ่มขึ้นสูงกว่า 6% และอัตราส่วนสำรองหนี้เสียต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพต่ำกว่า 120% ในความเห็นของฟิทช์เหตุการณ์ดังกล่าวอาจเกิดขึ้นได้หากผลประกอบการ และกำไรของธนาคารยังคงปรับตัวลดลงต่อเนื่องจากการลดลงของอัตรากำไรและคุณภาพสินทรัพย์ที่ด้อยลง ซึ่งสะท้อนถึงสภาวะแวดล้อมในการดำเนินงานที่ท้าทายและการยอมรับความเสี่ยงของธนาคารที่เพิ่มขึ้น